การค้าส่วนใหญ่ของไทยใช้สกุลเงินอะไร?
โดยการที่ ธปท.ต้องการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น เนื่องจากในการชำระราคาจะเป็นช่วยการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยผู้ประกอบการที่ชำระหรือได้รับชำระเป็นสกุลเงินของตนจะไม่ต้องเสี่ยงกับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ผู้ประกอบการที่ได้รับหรือชำระเงินสกุลท้องถิ่นของอีกฝ่ายจะมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินน้อยกว่าการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วค่าเงินสกุลท้องถิ่นมักจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน เพราะวัฏจักรทางเศรษฐกิจและการค้าที่สอดคล้องกัน
ดังนั้น ในภาวะที่เศรษฐกิจการเงินโลกและค่าเงินสกุลหลักมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการจะมีทางเลือกเพิ่มเติมในการเลือกสกุลเงินที่จะใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งหากใช้เงินสกุลท้องถิ่นชำระจะช่วยให้ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของภาคธุรกิจปรับลดลง ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกต่อการค้าในภูมิภาคลงได้
นอกจากนี้ การใช้เงินสกุลท้องถิ่นยังช่วยให้ผู้ประกอบการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแปลงเงินสกุลท้องถิ่น เช่น เงินบาท เป็นดอลลาร์สหรัฐ เพื่อส่งไปชำระค่าสินค้า ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการอีกประเทศได้รับเงิน ก็ต้องแปลงกลับเป็นสกุลท้องถิ่นของตนเพื่อนำไปใช้จ่ายอีกครั้ง ซึ่งเท่ากับช่วยลดค่าใช้จ่ายในการแปลงเงินตราต่างประเทศลงได้
สกุลเงินท้องถิ่น CLMV
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้แสดงทัศนะในเรื่องเงินสกุลท้องถิ่นของประเทศ CLMV กับเงินบาท ซึ่ง รศ.ดร.อัทธ์ ระบุว่าประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจคือ 1.CLMV มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน โตอย่างรวดเร็วมาก ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา (1999-2016) GDP ของ CLMV ขยายตัว 7.5% สูงกว่า GDP อาเซียนที่ขยายตัวเพียง 5% และในปี 2020 รายงานของ OECD คาดว่า GDP ของ CLMV ขยายตัว 7% โตกว่าอาเซียนเก่าที่โตเพียง 4%
2.ปัจจุบันประเทศไทยก็ให้ความสำคัญกับ “CLMVT” มาก ซึ่งเป้าหมายเพื่อร่วมมือกันยกระดับการพัฒนาด้วยกันทั้ง 5 ประเทศ
3.สกุลของ CLMV ผูกติดไปกับเงินดอลลาร์ ย่อมเกิดความเสี่ยงและไม่แน่นอน เช่น ก่อนและหลังวันที่ 6 ก.ค.2561 (วันที่เริ่มสงครามการค้าของทรัมป์) สกุลเงิน CLMV เทียบกับดอลลาร์ อ่อนไปแล้ว 2% โดยเงินจ๊าดเมียนมาอ่อนมากสุด 5% (เทียบเงินบาทและหยวนอ่อน 3%) และอาเซียนอ่อนไป 3%
เงินสกุลท้องถิ่น ช่วยลดต้นทุนในการซื้อขายระหว่างประเทศ?
แล้วกับคำถามที่ว่า ในอนาคตเงินสกุลท้องถิ่นใดจะเข้ามามีบทบาทใน CLMV และเงินสกุลท้องถิ่น ช่วยลดต้นทุนในการซื้อขายระหว่างประเทศได้อย่างไร ประด็นนี้ รศ.ดร.อัทธ์ ระบุว่า ถ้าใช้เงินสกุลท้องถิ่นของอาเซียนเก่ากับไทยจะช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกิจได้อย่างแน่นอน เพราะสกุลเงินของอาเซียนเก่าค่อนข้างมีเสถียรภาพและมีอัตราทางการเดียว เมื่อปี 2559 มีการเซ็น MOU ธนาคารแห่งประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จัดทำกลไกการชำระเงินบาท-รูเปียห์-ริงกิต เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของเงินดอลลาร์ แต่สำหรับในกลุ่มประเทศ CLMV นั้นยังเป็นอีกภาพหนึ่งที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากประเทศในอาเซียนเก่า
นอกจากนี้ รศ.ดร.อัทธ์ ยังได้เจาะจงที่ประเทศเมียนมา กล่าวว่าการวิเคราะห์ในเรื่องนี้ต้องแบ่งออกเป็นสกุลเงินที่ใช้ในประเทศในเมืองใหญ่ของเมียนมา อย่าง “ย่างกุ้ง” สกุลเงินที่คนเมียนมาถือคือ ดอลลาร์ร้อยละ 80 และร้อยละ 20 เป็นเงินจ๊าด (Kyat) ส่วนชายแดนมีการค้าขายกันส่วนใหญ่ถือเงินบาทร้อยละ 80 และจ๊าดร้อยละ 20 ซึ่งหากเราทำการค้าขายกับเมียนมาเราจะใช้เงินดอลลาร์กับบาทเป็นหลัก ความเสี่ยงจากการผันผวนก็ขึ้นกับสองสกุลนี้ และหากตามแนวชายแดน ความเสี่ยงก็จะไปอยู่ที่เงินบาทกับเงินจ๊าด
“มาถึงคำถามว่า “เงินสกุลท้องถิ่นของ CLMV ช่วยลดต้นทุนในการซื้อขายระหว่างประเทศได้อย่างไร” ผมคิดว่าการค้าชายแดนจะช่วยลดต้นทุนแน่นอน แต่ในเมืองเศรษฐกิจใหญ่ของเมียนมาไม่น่าจะมีผลที่จะใช้เงินบาทหรือจ๊าด เพราะธุรกิจใหญ่ๆ ของเมียนมาถือเงินดอลลาร์และออมเป็นดอลลาร์มากกว่า เพราะสำหรับการค้าชายแดนนั้นมีการใช้เงินจ๊าดและบาทอย่างกว้างขวาง” รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว
สำหรับ สปป.ลาว รศ.ดร.อัทธ์ ระบุว่า มีสัดส่วนการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ สูงที่สุด 70% รองลงมาเป็นเงินบาท แต่จากการที่นักลงทุนจีนเข้ามาทำธุรกิจใน สปป.ลาว บทบาทเงินหยวนเริ่มเข้ามาใช้แวดวงเฉพาะนักธุรกิจจีน ประเมินว่าเงินสกุลท้องถิ่นของ CLMV ที่เกิดขึ้นในอนาคตน่าจะเป็น “เงินหยวนกับเงินบาทไทย” ที่เข้ามาแทนดอลลาร์ ด้วยเหตุผลที่จีนมีนโยบาย “One Belt One Road : OBOR” จะมีผลต่อการค้าและ FDI ใน CLMV และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าจาก CLMV เพิ่มขึ้น 70% (ปี 2012-17 : 18,529 เป็น 46,357 ล้านดอลลาร์) อีก 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านดอลลาร์
บทสรุป
ประโยชน์ของการใช้เงินสกุลท้องถิ่น
1.ลดต้นทุนการแลกเปลี่ยนเงิน
2.ลดความเสียงจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินสกุลหลัก
ประเด็นสำคัญ
-เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น และตลาดเงินมีความผันผวนมากขึ้น
-การทำการค้าโดยใช้เงินสกุลบาทหรือเงินสกุลท้องถิ่นอื่นๆ เป็นทางเลือกหนึ่งในการรับมือกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
-ธปท.ได้ร่วมมือกับธนาคารกลางประเทศอื่นๆ เพื่อส่งเสริมการใช้ เงินสกุลท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้