ความผิดพลาดของระบบเศรษฐกิจตุรกี
จากระยะเวลาร่วม 16 ปี ที่ตุรกีดำเนินการค้าร่วมกับจีนจนทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเติบโตเรื่อยมา อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าประเทศนี้จะเติบโตสูง แต่ที่ผ่านมาเติบโตด้วยการก่อหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ และเป็นหนึ่งประเทศที่มีการขาดดุลทางการค้ามากที่สุด เพราะว่าการขยายตัวการลงทุนทางด้านเชื้อเพลิง ก่อให้เกิดหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้น ดังนั้นตุรกีจึงจำเป็นต้องมีเงินสำรองระหว่างประเทศเพื่อรองรับเวลาเงินไหลออก แต่ตุรกีมีเงินสำรองไม่เพียงพอในการเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ซึ่งก็คือ การที่สหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษีเหล็กจากตุรกีเป็นสองเท่า โดยเหล็กซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 4 ของประเทศตุรกี จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อค่าเงิน จนส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง
อัตราเงินเฟ้อสูง
ที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศตุรกีโตอย่างก้าวกระโดด และมีเงินเฟ้อสูงถึง 16% ซึ่งมากกว่าถึง 3 เท่าที่ธนาคารกลางประมาณการเอาไว้คือ 5% แต่ธนาคารกลางกลับเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ผลตอบแทนจากหนี้รัฐบาลสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบทำให้ค่าเงิน lira ต้องอ่อนตัวลง เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
นอกจากนี้ บริษัทในตุรกีที่กู้ยืมเงินจากต่างประเทศจำนวนมากต้องแบกภาระอันเนื่องมาจากหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเรเจป ไตยิป เอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกี มีความประสงค์ที่จะลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงเพื่อนำมาลงทุนในโครงการก่อสร้างให้เพิ่มมากขึ้น
ค่าเงิน lira อ่อนตัวมาอย่างต่อเนื่อง
สาเหตุที่ทำให้ค่าเงิน lira อ่อนตัวลงมาจากความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าสินค้ามากกว่าส่งออกสินค้า, การลงทุนในด้านพลังงาน และภาคธุรกิจที่ต้องประสบกับการขาดเงินตราต่างประเทศสุทธิที่มีมากกว่า 210 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่วนหนึ่งมาจากความวุ่นวายทางการเมือง หลังเกิดการรัฐประหารล้มเหลวในปี 2016 รวมทั้งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจากการใช้จ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเยอะของรัฐบาลตุรกี จนมีผลกระทบโดยตรงต่อสถานการณ์การคลังและอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงอยู่แล้ว และบวกกับการที่สหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษีเหล็ก พอเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ประเทศก็ถูกโจมตีค่าเงิน ทำให้ค่าเงิน lira ของตุรกีร่วงต่ำลงมากขึ้นอีก โดยเฉพาะสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินลดไปเกือบ 20% และถ้านับย้อนไปถึงต้นปีจะลดไปแล้วถึง 44% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ
ทางแก้ของ “เอร์โดอาน”
ล่าสุด เรเจป ไตยิป เอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกี เตรียมใช้มาตรการควบคุมเงินทุน เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย รวมถึงเป็นการยับยั้งการอ่อนตัวของสกุลเงิน ซึ่งหวังว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยดึงดูดนักลงทุนให้กลับเข้ามาอีกครั้ง ส่วนฟากธนาคารและผู้ประกอบการทางธุรกิจ เริ่มมีการพูดคุยถึงความต้องการความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศให้เข้ามาช่วยเหลือในวิกฤติครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม มีรายงานจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ว่าตุรกีไม่ได้มีความสนใจจะกู้ยืมเงินแต่อย่างใด แต่กลายเป็นฝั่งของประเทศกาตาร์ โดย “อีเมียร์ ทามิม บิน ฮามาด อัล ทานี” ผู้นำของประเทศ ได้หารือร่วมกับ เรเจป ไตยิป เอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกี เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค ระหว่างทั้งสองประเทศที่กรุงอังการา โดยผู้นำกาตาร์ให้คำมั่นว่าจะนำเงินทุนมูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้ามาลงทุนโดยตรงในตลาดการเงิน และธนาคารของตุรกี ซึ่งคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าการที่ตุรกีเมิน IMF แล้วเลือกที่จะจับมือกับกาตาร์ สุดท้ายแล้วจะแก้ปัญหาวิกฤติครั้งนี้ได้หรือไม่
ผลกระทบกับประเทศไทย
สำหรับผลกระทบกับประเทศไทย ล่าสุด ผู้สันทัดกรณีในหลายภาคส่วนออกมาแสดงฝากความคิดเห็น โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุว่าจะมีผลกระทบต่อไทยและมีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนและตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น ผลจากนักลงทุนที่ตื่นตระหนกบ้างในทางจิตวิทยา แต่จะไม่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็ง จากทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ระดับสูง หนี้ต่างประเทศต่ำ
ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินว่าความเชื่อมโยงทางการค้า การลงทุน และการเงินของไทยกับประเทศตุรกียังไม่สูงมาก ผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยจึงอยู่ในวงจำกัด โดย ธปท.จะติดตามผลกระทบต่อประเทศอื่น และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนฟากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยยอมรับว่าภาคเอกชนรู้สึกกังวล และอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกนำเข้า เนื่องจากการเคลื่อนค่าเงินของตุรกีจะกระทบค่าเงินโดยรวมในตลาดโลกเป็นลูกโซ่ ส่วนหนึ่งเป็นคู่ค้ากับประเทศไทยหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มยุโรป อินโดนีเซีย สหรัฐฯ จึงต้องติดตามเพื่อรองรับสถานการณ์ต่อไป ขณะที่ค่าเงินบาทอาจกระทบสั้นๆ เพราะสถานะการเงินของไทย ค่อนข้างแข็งแกร่ง
ขณะที่สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย มองว่าผลกระทบจากวิกฤติตุรกีต่อไทยมีไม่มาก โดยไทยเกินดุลการค้ากับตุรกี และสัดส่วนการส่งออกไปตุรกีมีเพียง 0.5% ของการส่งออกทั้งหมด โดยประเมินว่าเงินบาทจะอ่อนค่าแค่ระยะสั้น ก่อนพลิกกลับมาแข็งค่าช่วงไตรมาส 4 ที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งในภาพรวมมองไปในทิศทางเดียวกัน คือเป็นสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ไม่ถึงขั้นตื่นตระหนก จากนี้คงต้องจับตามองกันต่อไปว่าวิกฤติการเงินของตุรกีครั้งนี้จะจบอย่างไร ก็คงได้แต่หวังว่าจะไม่ลุกลามบานปลายออกไปกระทบกับเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้าง เพราะหากเกิดขึ้นประเทศไทยย่อมได้รับผลกระทบมากกว่า ณ เวลานี้อย่างแน่นอน