ความสำคัญของตลาดเพื่อนบ้าน จึงเป็นที่มาของการ “รวมกลุ่ม” เชื่อมสัมพันธ์ทุกมิติ ทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ที่มีการวางยุทธศาสตร์ร่วมกันมายาวนาน แต่เป้าหมายการปลดล็อกอุปสรรค และการแสดงศักยภาพในภูมิภาคยังคงต้องใช้เวลาจัดระเบียบ และความเข้าใจ ของแต่ละประเทศให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันก่อน
จากนโยบายของรัฐบาลไทยและวิสัยทัศน์ของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเห็นการพัฒนาเศรษฐกิจไทยเติบโตไปพร้อมกับประเทศเพื่อนบ้านลุ่มแม่น้ำโขง หรือกลุ่ม CLMVT ทั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย ซึ่งมีระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกัน และมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันมาอย่างยาวนาน เพื่อจะได้นำศักยภาพมาเสริมกัน รองรับการแข่งขันกับภูมิภาคอื่นและการเปลี่ยนแปลงของโลก กระทรวงพาณิชย์จึงได้จัดงาน CLMVT Forum ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2016 โดยเน้นเรื่องการเติบโตไปพร้อมๆ กัน (Shared Prosperity) และครอบคลุมหัวข้อที่เกี่ยวกับการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ผู้เข้าร่วมงานเป็นนักธุรกิจชั้นนำในภูมิภาค นักลงทุนจากต่างประเทศ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และ ผู้แทนระดับสูงจากภาครัฐกว่า 800 คน ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่งจากการประชุมครั้งแรก
ภายหลังจากการประชุม CLMVT Forum 2016 กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และองค์การระหว่างประเทศ ดำเนินโครงการหลายอย่างเพื่อกระชับความเชื่อมโยงของประเทศ CLMVT เช่น
(1) การจัดทำ CLMVT Knowledge Tank โดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (2) การพัฒนาบุคลากรและผู้ประกอบการ CLMVT ในธุรกิจโลจิสติกส์ และสมุนไพร ซึ่งเป็นธุรกิจบริการที่สำคัญทั้ง 2 สาขา โดยกระทรวงพาณิชย์ (3) การปรับเปลี่ยนศูนย์ ASEAN Design Centre (ADC) ของกระทรวงพาณิชย์ในเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาสินค้าและผู้ประกอบการจาก CLMVT ในภาคเหนือ และ (4) การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ขยายการค้าชายแดนผ่าน CLMVT Sister Cities Initiatives เป็นต้น
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เน้นหลักการ “CLMVT-CIC” ในการดำเนินงานร่วมกับกับประเทศ CLMVT คือ
C การเชื่อมโยงกัน (Connectivity)
I การลดความเหลื่อมล้ำในภูมิภาค (Inclusiveness)
C การสร้างความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness)
ส่วนวัตถุประสงค์ของงานนั้น การรวมกันของ CLMVT ยังยึดมั่นวัตถุประสงค์ดั้งเดิม ได้แก่
(1) เน้นการสร้างเครือข่ายผู้นำในภูมิภาค CLMVT โดย Forum นี้นับเป็นเวทีแห่งเดียวที่นำผู้นำระดับนโยบาย นักธุรกิจชั้นนำจากในและนอกภูมิภาค นักคิดแนวหน้า และผู้แทนภาคประชาสังคมหรือวิสาหกิจเพื่อสังคม มาร่วมกันคิดและกำหนดแนวทางการพัฒนาภูมิภาค CLMVT ร่วมกันในอนาคต
(2) เพื่อส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของประเทศในภูมิภาค
(3) ร่วมกันพัฒนาประเทศ CLMVT ต่อไปอย่างยั่งยืน รวมถึงการกระจายโอกาสไปสู่เศรษฐกิจฐานราก เพื่อเป็นแนวทางในการผลักดันนโยบายในทิศทางเดียวกันต่อไป
CLMVT Forum 2018 : Theme หลักของงาน = เทคโนโลยีเปลี่ยนการค้าและคน
ในปี 2018 นี้ กระทรวงพาณิชย์ได้หยิบยกเรื่องการปรับตัวรองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ภายใต้หัวข้อ CLMVT : Taking-off Through Technology โดยแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ “เทคโนโลยีเปลี่ยน การค้า” และ “เทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิต” เนื่องจากเล็งเห็นว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่เริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน จากพัฒนาการด้านดิจิทัล ผสานกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีกายภาพและชีวภาพ ก่อให้เกิดการหลอมรวมทางเทคโนโลยีหลายสาขาเข้าด้วยกันและระบบการผลิตแบบใหม่ รวมถึงสินค้าและบริการแบบไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งจะมีผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อประเทศในภูมิภาค CLMVT อย่างหลีกเลี่ยงมิได้
ปัจจุบัน ประเทศ CLMVT เป็นภูมิภาคที่กำลังเติบโตอย่างร้อนแรง ในปี 2017 ทั้ง 5 ประเทศมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของ GDP สูงถึง 6.28% และ IMF ประมาณการเติบโตระหว่างปี 2013 – 2017 จะเห็นว่าเติบโตเร็วกว่าเศรษฐกิจโลกเกือบ 2 เท่า เรียกได้ว่าภูมิภาคเราเป็น “ขุมทองแห่งโอกาส”
สำหรับด้านเทคโนโลยีนั้น กล่าวได้ว่า CLMVT กำลังเข้าสู่ช่วง Take-off หรือก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัด เช่น Web Site “Internet World Stats.com” ระบุว่า ในปี 2017 จำนวนประชากร CLMVT เกือบ 150 ล้านคน หรือ 61% ของประชากรทั้งหมดจะเข้าถึง Internet ได้ และจำนวนผู้ใช้ Facebook จะสูงถึง120.5ล้านรายชื่อ
หรือในด้าน e-commerce ซึ่งจะเป็นเรื่องที่สำคัญเรื่องหนึ่งในปีนี้ พบว่าเพียงสองประเทศใน CLMVT คือไทยและเวียดนามเท่านั้นที่มีประชากรถึง 47 ล้านคน ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่าน e-commerce อย่างสม่ำเสมอ และมียอด ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย/คน/ปี อยู่ที่ 109 เหรียญฯ /คน/ปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 10-14% มูลค่ารวมกันกว่า 5,100 ล้านเหรียญฯ หรือขยายตัว 20-22% โดยตัวเลขนี้ยังไม่รวมอีก 3 ประเทศ ที่มีการเติบโตอย่างรวมเร็วเช่นกัน ซึ่ง e-commerce จะช่วยทำให้การค้าของภูมิภาคสอดประสานเข้าด้วยกันได้เร็วขึ้น สะดวกขึ้น ง่ายขึ้น และศักยภาพของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศเราก็ทำให้เป็นที่สนใจของเจ้าของ Platform ขนาดใหญ่ยักษ์หลายแห่ง ทั้งในเอเชียและทวีปอื่นที่จะขยายธุรกรรมเข้ามาตั้งฐานใน CLMVT ซึ่งเป็น “หัวใจของเอเชีย”
นอกจาก Digital Economy และ e-commerce แล้ว อีกแนวโน้มหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในภูมิภาคนี้ คือ บทบาทของผู้ประกอบการและคนรุ่นใหม่ (Young Generation / Entrepreneurs) ซึ่งในงานครั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้เชิญกลุ่ม SME และ Startup จากหลายสาขาทั้งที่เป็นคนชาติที่ไปทำงานในต่างประเทศและผู้บุกเบิกทางธุรกิจโดยใช้ Business Model และ Platform ใหม่ๆ มาสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยเชื่อมั่นว่ากลุ่มเหล่านี้จะเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาและการเชื่อมโยงทั้ง 5 ประเทศเข้าด้วยกันอย่าง “ไร้รอยต่อ” ได้ในอนาคต และกระทรวงพาณิชย์ยังมีกิจกรรมหลายอย่างที่เสริมสร้าง Young Entrepreneurs เช่น โครงการ YEN-D และการอบรมของสถาบัน New Economy Academy (NEA) และครั้งนี้เป็นการระดมสมองและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันของคนรุ่นใหม่ในCLMVT
ศักยภาพ VS ความท้าทาย : Together, Stronger
จากที่ได้กล่าวมาแสดงให้เห็นว่าภูมิภาคเรามีศักยภาพ (Potentials) ที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมาก แต่ในความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็มีความท้าทาย (Challenges) มากเช่นเดียวกัน จะเห็นได้จากคำว่า Disruption ที่กล่าวถึงกันทั่วไป เช่น การจ้างงานจะลดลงเพราะถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์หรือ AI ธุรกิจการเงินได้รับผลกระทบจาก Fintech (เทคโนโลยีทางการเงิน) ของกลุ่มCLMVT ที่เป็นแอปพลิเคชั่นการจ่ายเงินร่วมกันในอาเซียน เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless) ระบบการพัฒนาคนต้องปรับรูปแบบไปเป็น re-skill and up-skill เพื่อให้ทำงานในอนาคตได้ เป็นต้น ดังนั้นการที่จะได้ทั้งประโยชน์และตอบโต้กับความท้าทายได้นั้นจำเป็นต้องมีการปรับตัวของภาครัฐและเอกชนใน CLMVT อย่างทันท่วงที เพื่อที่ให้ภูมิภาคนี้คงอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของโลก (Global Value Chain) ต่อไปได้
ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่เชื่อมโยงเป็นผืนเดียวกันของCLMVT ทั้งภาคการผลิตและการบริโภคทำให้การปรับตัวไม่สามารถทำได้โดยลำพัง จำเป็นต้องสร้างความตื่นตัวและผลักดันนโยบายไปพร้อมกันตลอดทั้งห่วงโซ่ในภูมิภาค ทั้งทางด้านการผลิต การบริการ การค้าดิจิทัล การยกระดับ SME และสร้าง Startup รวมถึงประเด็นด้านการเชื่อมโยงสู่เศรษฐกิจฐานรากและภาคเกษตรผ่าน Creative economy จึงเป็นที่มาของการมุ่งผนึกกำลังรับการเปลี่ยนแปลงในรุ่งอรุณของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
หากเราเดินไปข้างหน้าด้วยกัน Together – Stronger เชื่อมั่นว่า CLMVT จะต้องเป็นกลุ่มประเทศดาวเด่นแห่งอนาคตอย่างแน่นอน ไม่ใช่เพียงในเอเชีย แต่หมายถึงในระดับโลก