การรุกคืบของ “ล้งจีน” ไทยต้องยืนด้วยตัวเอง

การรุกคืบของ “ล้งจีน” ไทยต้องยืนด้วยตัวเอง


ด้วยนโยบายรัฐบาลจีน ที่ส่งเสริมให้นักธุรกิจจีน ออกไปลงทุนประกอบการในต่างประเทศมากขึ้น
ทำให้นักธุรกิจชาวจีน เข้ามากว้านซื้อและตั้งโรงคัดบรรจุผลไม้จากเกษตรกรโดยตรง หรือมีศัพท์ที่เรียกกันว่า “ล้ง” ซึ่งมีผู้รวบรวมผลไม้เป็นคนไทย ทำหน้าที่ประสานการซื้อขายผลไม้จากชาวสวน เพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน ทำให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนและผู้ค้าผลไม้ทั้งรายเล็กรายใหญ่ต่างร่ำรวยขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้ธุรกิจผลไม้ มีเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่มากกว่า 5,000-7,000 ล้านบาท หลังจากมีการเปิดการค้าเสรี พ่อค้าชาวจีนได้เข้ามาซื้อผลไม้ไทยในจันทบุรีและตราดอย่างเปิดเผยและเป็นทางการ ซึ่ง บริษัท ไทฮง เป็นพ่อค้าชาวจีนเจ้าแรกที่เข้ามา และเป็นรายใหญ่ที่สุดในขนะนั้น ซึ่งปัจจุบันจำนวนล้งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยตัวเลขผู้ประกอบการล้งจีนในไทยว่า มีจำนวน 1,094 ราย แบ่งเป็นผู้ค้าลำไย 473 ราย ทุเรียน 556 ราย และมังคุด 65 ราย ผลไม้ที่ชาวจีนนิยมบริโภค ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออก เช่น ระยอง จันทบุรี และตราด

การเข้ามาของล้งจีนส่งผลดีต่อตลาดระยะสั้น เพราะเกษตรกรมีตลาดรองรับแน่นอน โดยเฉพาะการซื้อเหมาสวนตั้งแต่ผลผลิตยังไม่ติดดอก การแข่งขันกันระหว่างพ่อค้าคนกลาง ทำให้ราคาผลไม้ขยับสูง เป็นที่พออก พอใจของชาวสวน

• สร้างกลยุทธ์ทุบราคา
แต่ในระยะยาว “ล้ง” กลายเป็นปัญหาที่พี่น้องเกษตรกรหวั่นวิตก เพราะต้องยอมรับว่า ปัจจุบันล้งจีนมีบทบาท และกลายเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดราคาผลไม้จากเกษตรกรมากกว่าล้งไทย เนื่องจากนักธุรกิจจีนมีเงินทุนมากกว่า จนสามารถควบคุมตลาดการค้าผลไม้ของไทยได้ กลายเป็นการผูกขาดการซื้อ-ขาย อย่างเช่นกรณี ลำไยในภาคเหนือ ที่เกิดภาวะราคาลำไยตกต่ำเมื่อปีที่แล้ว ภาครัฐออกมาตรการดึงราคาโดยกำหนดราคารับซื้อให้สูงขึ้น แต่ไม่สามารถช่วยเหลือได้ เพราะผู้รับซื้อที่เป็นพ่อค้าจีนถึงร้อยละ 80 ได้รวมตัวกันหยุดรับซื้อลำไยทันที ดังนั้นจึงควรป้องกันมิให้สถานการณ์เดียวกันนี้เกิดขึ้นอีก และปัญหาที่ตามมาอีกก็คือ “ล้งกระเป๋า” ที่มีตัวแทนถือกระเป๋าเข้ามาติดต่อชาวสวนให้ทำสัญญาด้วย แต่ไม่ทราบประวัติทางการเงินหรือความเป็นมา ซึ่งผลที่ตามมาก็คือมีคดีฟ้องร้องระหว่างชาวสวนผลไม้กับล้งต่างชาติสูงถึง 200 กว่าคดีแล้ว ทำให้ระยะหลังมานี้ เกิดเสียงสะท้อนจากพี่น้องเกษตรกรว่า ล้งจีนเอารัดเอาเปรียบ ใช้กลยุทธ์กดราคารับซื้อจากชาวสวนทุกรูปแบบ ทั้งการสร้างกระแสลบกับผลผลิต การชะลอการรับซื้อ การ “ทุบราคา” และ “ฮั๊วราคา” เพื่อให้ผลไม้ราคาตกต่ำ

แม้ว่าข้อเท็จกระแสผลไม้ไทยจะเป็นที่นิยม แต่ราคาสินค้าเกษตรยังตกต่ำ เพราะมีตัวแปรคนกลางกดราคารับซื้อ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาของตัวเองได้
ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ของล้งมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งล้งที่ดี และล้งที่ฉวยโอกาส

• กระทรวงพาณิชย์ระดมทุกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร
กระทรวงพาณิชย์ได้พยายามเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งการตรวจสอบการทำธุรกิจของล้งต่างชาติ การส่งหนังสือแจ้งเตือนล้งบางรายที่ใช้อำนาจตลาดหรืออำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรมต่อคู่แข่ง เอาเปรียบเกษตรกร โดยกระทรวงพาณิชย์จับมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดระเบียบล้งจีน เพื่อป้องกันชาวสวนถูกหลอกหรือถูกฉ้อโกงในอนาคต รวมทั้งการใช้อำนาจกฎหมาย พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า มีโทษปรับ 6 ล้านบาท และปรับอีกวันละ 3 แสนจนกว่าจะทำให้ถูกต้อง ซึ่งจะบังคับใช้อย่างเข้มข้น ไม่เพียงแค่การใช้มาตรการตรวจสอบ และการบังคับใช้กฎหมายกับล้งเท่านั้น
•รัฐบาลได้ออกมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหาดังนี้
-การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ล้งไทย และสร้างความน่าเชื่อถือแก่สินค้าไทย ทั้งในด้านราคาที่เหมาะสมและคุณภาพที่ดีเยี่ยม
-มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อบรม แนะนำเรื่องการวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า
-ทดสอบตลาด ตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการรับรองมาตรฐานแหล่งผลิต(GAP)โรงคัดบรรจุ (GMP)
-จัดอบรมด้านพาณิชย์เล็กทอนิกส์ (E-commerce) เพื่อเพิ่มช่องทางการขายแบบออนไลน์ไปยังตลาดทั่วโลก
-มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาการออกใบญาตินำเข้า (Import Licensing)และใบอนุญาตส่งออก (Export Licensing) เพื่อควบคุมปริมาณผลไม้ที่จะนำเข้าและส่งออก
-สร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการไทยและจีน แต่ต้องไม่ขัดต่อหลักการ และเงื่อนไขของ WTO
-ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตและรักษาคุณภาพของสินค้า และส่งเสริมการรวมกลุ่มสหกรณ์ที่เข้มแข็งสร้างอำนาจการต่อรองสนับสนุนแหล่งเงินทุน
-ให้ความรู้และเชื่อมโยงตลาด เช่น ร่วมหุ้นธุรกิจกับรัฐวิสาหกิจหรือผู้ประกอบการในจีน
-ขยายตลาดส่งออกผลไม้สดและแปรรูปไปยังประเทศอื่นๆเช่นอินเดีย เกาหลี ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น ให้มากขึ้น
และล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำ Big Data ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลวิเคราะห์ แนวโน้มตลาดทั้งในและนอกประเทศซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการรู้แนวโน้มตลาดล่วงหน้า ส่วนภาครัฐก็สามารถกำหนดนโยบายได้อย่างถูกต้องและทันต่อสถานการณ์

• เดินหน้าสู่ “มหานครผลไม้โลก”
ประเทศไทยมีศักยภาพสูงมากที่จะพัฒนา ผลไม้ของไทยให้เป็นที่นิยมในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากมีรสชาติที่ดีกว่าคู่แข่ง ไม่มีประเทศไหนสู้ประเทศไทยได้ ต่อให้ประเทศเพื่อนบ้านจะปลูกลำไย ทุเรียน เพราะเห็นว่าได้ราคาดีก็ยังอีกไกล เพราะเกษตรกรเรามี know how สะสม เรามีที่ดิน มีภูมิประเทศที่เหมาะสม ไม่ใช่ใครคิดจะปลูกอะไรก็ได้ เราจะคิดแค่การผลิตไม่ได้ ต้องมองถึงความสามารถในการแข่งขันและคิดถึงการเชื่อมโยงของโลก เหมือนการปลูกทุเรียน ผลไม้ชนิดนี้คือ “ทองคำ” แต่ในอดีตจะใช้กลไกเดิมคือการเหมาสวน เกษตรกรก็จะขายแบบเหมาสวน เพราะได้ขายได้แน่นอน แต่เมื่อเหมาไปแล้วก็จะถูกบิดเบือนและกดราคาจากล้ง ยังมีปัญหาภายในหลายประการที่ควรต้องแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดระเบียบผู้ค้าต่างชาติที่เข้ามาประกอบการจัดซื้อผลไม้ในไทย เพื่อมิให้ทำลายกลไกตลาดภายในประเทศ แต่เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาก็สามารถทำได้ เช่น ปรากฏการณ์ขายทุเรียน 80,000 ลูกใน 1 นาทีของ Alibaba ที่กำลังสร้างกระแสไปทั่วโลก” นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวและว่า ข่าวดีตอนนี้ กระทรวงพาณิชย์สามารถหาตลาดล่วงหน้าสำหรับลำใยได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มช่องทางจำหน่ายให้กับลำไยมากขึ้น

ล่าสุด รัฐบาลได้ดำเนินโครงการปฎิรูปภาคการเกษตรฯ โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต ทั้งการร่วมมือกับภาคเอกชน ล้งต่างๆ ที่จะเข้าหารือสถานการณ์ตลาดร่วมกับรัฐบาล แล้ววางแผนร่วมกัน โดยจะเริ่มเฟสแรกได้ในกลางเดือน ส.ค.นี้

การเดินหน้าแก้ไขปัญหาตลาดผลไม้ไทยทั้งระบบ เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรไทย รวมทั้งการผลักดันผลไม้ไทยขึ้นสู่ “มหานครผลไม้โลก” ตามเป้าหมายของรัฐบาลชุดนี้