3ปัจจัย”ประกาศิต”ชี้วัดการเลือกตั้ง !

3ปัจจัย”ประกาศิต”ชี้วัดการเลือกตั้ง !


ขุนพลสำคัญที่รับอาสา แบก คานเสลี่ยง ให้ ลุงตู่ นั่ง คือ สมศักดิ์ เทพสุทิน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ประกาศตัวเป็นกลุ่ม สามมิตร

อย่างไรก็ตาม เกมการดึงตัว อดีตสส.ระดับ “บิ๊กเนม” แม้จะได้เปรียบ แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัย ที่ต้องประสานสอดรับได้อย่างลงตัวด้วย

       สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ได้ทำการวิจัย หัวข้อ การเมืองหลังเลือกตั้ง ปี 2562 มีข้อสรุปน่าสนใจว่า สิ่งที่จะเกิดในสนามเลือกตั้งไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะปัจจัยชี้ขาดการเลือกตั้ง จะใช้เพียงคะแนนจาก “นักการเมือง หน้าเก่า” อย่างเดียวไม่เพียงพอ

       “อาจจะอุ่นใจว่ากลุ่มก้อนของการเมืองเก่ามีฐานเสียงพอสมควร แต่สิ่งที่ต้องทำเพิ่มคือสร้างแบรนด์พรรคให้แข็งแกร่ง และต้องเป็นแบรนด์ที่ประชาชนให้ความสำคัญ คือทำงานเชิงนโยบายด้วย ยิ่งไปกว่านั้นต้องมีผู้นำพรรคที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่เรียกว่า เปิดตัวมาแล้วต้องปัง และสามารถทำนโยบายให้โดนใจประชาชน มีทีมงานที่เพียบพร้อมเพียงพอ”

นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้าฯ ยกตัวอย่าง กรณีกลุ่ม ส.ส.เนวิน ชิดชอบ ที่ ออกจากภูมิใจไทยจัดตั้งร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ ปรากฏว่า เมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2554 กลับพ่ายพ่ายต่อ คู่แข่งจาก พรรคเพื่อไทย แทบทั้งสิ้น

นี่คือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่อธิบายได้ว่า เหตุใดพรรคเพื่อไทยจึงยังมั่นใจว่า อดีต ส.ส.ที่หนีจากพรรคไปจะสอบตกเกือบทั้งหมด

ตามแถลงการณ์ ของ ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค กับ ความมั่นใจของ ทักษิณ ชินวัตร ที่ส่งเสียงข้ามซีกโลกมาให้กำลังใจลูกพรรค  รวมถึง กระแสโพลลับของ พรรคเพื่อไทย ที่ประเมินว่า การเลือกตั้งปี 2562 จะชนะแบบ ถล่มทลาย

นอกจากนี้ ปัญหาข้อกฎหมาย  ทำให้พรรคเกิดใหม่ขยับตัวได้ไม่ได้มาก ทำให้เวลาหาเสียงมีน้อยและเปิดตัวช้าเกินไป จะยิ่งทำให้พรรคขนาดใหญ่ที่เป็นพรรคเก่าได้เปรียบ เนื่องจากมีภาพจำในหัวประชาชนอยู่แล้ว

ดังนั้น กลยุทธ์สำคัญ จึงอยู่ที่ “กิมมิคทาง การเมือง” อะไรโดนใจประชาชน ซึ่งนอกจากหัวหน้าพรรคต้อง “ปัง” แล้ว ความพร้อมของ “ทีมเศรษฐกิจ” กับนโยบายที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน และ ประชาชนมั่นใจว่าทำได้

และนั่นคือ 3 ปัจจัยอันสำคัญมากกว่าคุณสมบัติการเป็น “อดีต ส.ส.” หรือ “ตระกูลการเมือง” ที่มีชื่อเสียงในระดับท้องถิ่น

 

งานวิจัยของ สติธร ธนานิติโชติ ยังนำตัวเลขผลคะแนนเลือกตั้งเมื่อปี 2554 มาวิเคราะห์คาดการณ์ผลการเลือกตั้ง ปี2562 บน “กติกาใหม่” คือเลือกตั้งแบบ “บัตรเดียว”ซึ่งเชื่อกันว่าเอื้อให้พรรคขนาดเล็กและพรรคหน้าใหม่ มีโอกาสแบ่งคะแนนจากพรรคใหญ่ หรือ พรรคการเมืองเก่าได้มากกว่าเดิม แม้จะแพ้เลือกตั้งในระบบเขตก็ตาม

แต่คะแนนที่แพ้ ทุกคะแนนจะถูกนำไปนับรวมเพื่อคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ เรียกคะแนนเสียงแบบนี้ว่า “คะแนนตกน้ำ”

ทว่าปัญหาคือ “เค้ก” ของคะแนนตกน้ำ ที่เกือบทุกพรรคโดยเฉพาะพรรคเกิดใหม่กำลังแย่งชิงกัน มี ส.ส.เพียง 150 จาก 500 เสียงของทั้งสภา คำถามคือ พรรคเกิดใหม่ รวมถึงพรรคเล็ก หรือ พรรคของ”กลุ่มตระกูลการเมือง” จะแย่งที่นั่งจาก 2 พรรคใหญ่ ที่คุมเสียงข้างมากในสภาได้แค่ไหน

หากย้อนดูผลเลือกตั้งปี 2554 ส.ส.เพื่อไทย กับประชาธิปัตย์ นับรวมกัน แล้วคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของจำนวน ส.ส.ทั้งสภา แยกเป็นเพื่อไทยได้คะแนนเขต 14 ล้าน ประชาธิปัตย์ได้ราว 10 ล้าน เมื่อรวมกันแล้วคิดเป็นร้อยละ 79 ของคะแนนแบบแบ่งเขตทั้งหมด

ส่วนระบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อไทยได้ 15 ล้าน ประชาธิปัตย์ได้ 11 ล้าน รวมแล้วทั้ง 2 พรรคได้ปาร์ตี้ลิสต์คิดเป็นร้อยละ 83 ของทั้งหมด ฉะนั้นก็จะเหลือเก้าอี้ให้พรรคอื่นแย่งกันราวๆ ร้อยละ 20 เท่านั้นเอง

ประเด็นที่มองข้ามไม่ได้เลย คือการเลือกตั้งแบบเก่า เป็นระบบที่มีบัตรลงคะแนนสองใบ ประชาชนยังเลือกแบบ “รักพี่เสียดายน้อง”ได้ เช่น ชอบผู้สมัครคนนี้แต่ไม่ชอบพรรคที่สังกัด ก็ยังเลือก ส.ส.เขตที่ตนเองชอบ แล้วแบ่งคะแนนไปให้พรรคที่ตนรัก ได้อยู่

แต่การเลือกตั้งครั้งหน้า มีบัตร ลงคะแนนใบเดียว ต้องตัดสินใจให้ได้ระหว่างคนที่ชอบหรือพรรคที่ใช่ เพราะฉะนั้นการแข่งขันของ “พรรคการเมือง” จะยิ่งดุเดือด โดยเฉพาะการแย่งชิงฐานคะแนนที่สองพรรคใหญ่เคยครองอยู่

ดังนั้นจากปรากฏการณ์ในปัจจุบัน เมื่อแบ่งการเมืองออกเป็น สามขั้ว คือ ซีกประชาธิปัตย์ ซีกเพื่อไทย และ พรรคเกิดใหม่ สามารถวิเคราะห์การแย่งชิงคะแนนได้ดังนี้

1.ประชาธิปัตย์ กับ พรรครวมพลัง ประชาชาติไทย (รปช.) ที่มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ “ลุงกำนัน”สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนหลัก จะยึดพื้นที่ ภาคใต้ และ  กทม.

2.เพื่อไทย ที่จะครองใจพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน

3.พรรคขนาดกลาง จาก พรรคอนาคตใหม่ ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ พรรคพลังประชารัฐ ที่มีกลุ่ม สามมิตร หนุนหลัง

4.กลุ่มพรรคการเมือง มีส่วนแบ่งอยู่เดิมร้อยละ 20 คือ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา ซึ่งต้องพยายามรักษาฐานคะแนนเดิมไว้ให้ได้

และมาถึงบทสรุป ของหัวข้อวิจัย ระบุว่าว่า การแย่งชิงฐานคะแนนจากพรรคการเมืองใหญ่ซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่ หรือมีคะแนนนิยมสูงมาก ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจากข้อมูลที่รวบรวมจากการเลือกตั้งหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังปี 2540 ชี้ชัดว่า อดีต ส.ส.หรือกลุ่มตระกูลการเมืองชื่อดัง ไม่ใช่ตัวช่วย ที่จะทำให้ชนะเลือกตั้งได้

ฉะนั้น การใช้พลังดูด อดีตสส ระดับ”บิ๊กเนม” ก็ไม่ได้การันตีชัยชนะ เพราะ ผลการเลือกตั้งขึ้นกับ 3 ปัจจัย ” ประกาศิต” นั่นคือ 1 หัวหน้าพรรคต้องปัง 2 ทีมงานต้องใช่ และ 3 นโยบายต้องโดน

         พรรคการเมืองใดทำได้ ชัยชนะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม !