ขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าขยายตัวได้ถึงร้อยละ 5 เนื่องมาจากประเทศคู่ค้าที่มีรายได้และกำลังซื้อมากขึ้น ส่วนการใช้จ่ายในประเทศ การบริโภคก็ขยายตัวได้ดี ที่ร้อยละ 3.6 การลงทุนของภาคเอกชนก็ยังขยายตัวดีต่อเนื่องเช่นกัน ไตรมาสนี้ มีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 3.1
จากตัวเลขดังกล่าว แสดงว่า เอกชนมีความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องส่วนหนึ่งจากความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่รัฐได้เร่งดำเนินการเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือของประเทศ
อีกทั้งมาตรการสนับสนุนการลงทุนของ BOI ใน 3 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนโครงการที่ขอรับการสนับสนุน 366 โครงการ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27 โดยมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 60,000 ล้านบาท เมื่อไตรมาสแรกของปี 2560 เป็น 200,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความสนใจที่จะลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และอยู่ในพื้นที่ EEC มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้วในไตรมาส 1 ปีนี้ 259 โครงการ การลงทุนในส่วนนี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือGDP ดีขึ้น ณ วันนี้เท่านั้น แต่เมื่อแล้วเสร็จ ดำเนินการได้ ก็จะผลิดอกออกผลให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาวด้วย
ทั้งนี้สามารถคำนวณได้ว่าในโครงการที่ได้รับอนุมัติไปแล้วนั้น จะสร้างงานให้คนไทย 15,000 ตำแหน่ง จะมีการใช้วัตถุดิบในประเทศ 51,508 ล้านบาทต่อปี และจะสร้างรายได้จากการส่งออกให้ประเทศไทยได้ถึง 70,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะกลายไปเป็นรายได้ให้พี่น้องประชาชน ตลอดห่วงโซคุณค่า ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ได้ในที่สุด ไม่ว่าจะทางตรง หรือทางอ้อม เพียงแต่ต้องแสวงโอกาส การมีส่วนร่วม ในวงจรเศรษฐกิจนี้ เราต้องปรับตัว ต้องพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศด้วย
ด้านการเติบโตในฝั่งการผลิต สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวถึงร้อยละ 12.8 ในไตรมาสแรกนี้ ก็เป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้สูงเช่นกัน คือร้อยละ 15.4 นอกจากนี้การขนส่งและการค้าก็ขยายตัวได้ที่ประมาณร้อยละ 7 ในส่วนภาคเกษตร ผลผลิตเกษตรขยายตัวดี แต่ราคาสินค้าเกษตรที่ยังไม่กระเตื้องขึ้น ทำให้รายได้ของพี่น้องเกษตรกรยังไม่ได้ดีขึ้นตามภาพรวมของเศรษฐกิจเท่าที่ควร
ที่ผ่านมา รัฐบาลรับทราบปัญหาว่า ประโยชน์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เราคุยกันว่าดีขึ้นต่อเนื่องนั้น แต่ก็ยังไม่กระจายลงไปในพื้นที่ชุมชน และยังไม่ไปถึงพี่น้องประชาชนเท่าที่ควร หลายคนก็พูด อาจจะบ่นว่าเศรษฐกิจดีขึ้นจริงหรือ? ทำไมรายได้ยังไม่เพิ่มขึ้น?
สำหรับปัญหาเหล่านี้ รัฐบาลและ คสช. ไม่ได้นิ่งดูดาย เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ได้อย่างยั่งยืน ตนขอเรียนว่าปัญหาการกระจายรายได้ไม่ทั่วถึงนี้ มีหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งความเหลื่อมล้ำที่สะสมมานาน โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปที่เห็นชัดเจนก็คือหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก ราคาสินค้าเกษตรก็ต่ำลงอย่างต่อเนื่อง แต่การปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าเกษตรหรือการหาทางในการเพิ่มมูลค่าในสินค้าต่างๆ ก็ยังไม่ทันการณ์ รวมถึงเราอาจจะยังไม่ได้ปรับตัวรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นอย่างเต็มที่ด้วย
อย่างไรก็ตาม การลงทุน ก็เหมือน “การปลูกต้นไม้” ที่ต้องมีระยะเวลาในการให้ผลผลิตแตกต่างกันไป แต่ในระหว่างนั้น เราก็ต้องรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย แก้ปัญหาศัตรูพืชอยู่อย่างสม่ำเสมอ สำหรับแนวทางรับมือกับปัญหาต่างๆ ในช่วงแรกของ “การปฏิรูปเศรษฐกิจ” ของประเทศนั้น รัฐบาลและ คสช.ได้ดำเนินการทั้งมาตรการระยะสั้น ที่จะเร่งช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน ตั้งแต่ “ต้นทาง” คือการปรับปรุงการผลิตสินค้าและบริการ เพิ่มมูลค่า หาตลาด ไปจนถึงการสนับสนุนด้านการเงินเร่งด่วน ทั้งด้านสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ ไปจนถึง “ปลายทาง” ที่สำคัญก็คือการแก้ปัญหาหนี้สิน และสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อย
ขณะเดียวกันก็มีมาตรการระยะยาว ที่จะเน้นการวางรากฐานสำคัญอาทิ (1) ด้านกายภาพ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ที่จะช่วยกระจายความเจริญและสร้างหนทางการนำรายได้กระจายไปสู่ท้องถิ่น (2) ด้านทักษะ คือมาตรการสนับสนุนการศึกษาในทุกระดับ เพื่อให้ปรับตัวต่อเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงได้ และ (3) ด้านกรอบความยั่งยืน ตนหมายถึงการจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีแผนปฏิรูปประเทศ ก็เพื่อจะกำหนดทิศทางในการผลักดันนโยบายต่างๆ ให้สอดคล้อง และตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและประชาชนในระยะยาวด้วย