สุดอึ้ง! ที่ดินรัฐ 18 ไร่ ให้เช่า 63,000. เอกชนรวยเละ

สุดอึ้ง! ที่ดินรัฐ 18 ไร่ ให้เช่า 63,000. เอกชนรวยเละ


กรณีการบุก “ตลาดแอร์พอร์ต” ซึ่งจะเป็นที่คุ้นหูกันในชื่อของ “ตลาดใหม่ดอนเมือง” ตลาดค้าขายเครื่องสำอางที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ โดยกำลังตำรวจหลายร้อยนาย และกลายเป็นเรื่งยืดเยื้อกันมาจนกลายเป็นคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับตลาดแห่งนี้ ว่า มีที่มาที่ไปอย่างไร โดยเฉพาะการปรากฏตัวของ “พ.ต.ท.สันธนะ ประยูรรัตน์” หรือ “เสธ.ต่อ” อดีตนายตำรวจสันติบาล ที่อ้างว่าเป็นผู้ดูแลตลาดแห่งนี้ในฐานะที่ปรึกษา ที่สังคมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

นอกเหนือจากสิ่งที่สังคมให้ความสนใจในสินสค้าผลิตภัณฑ์ที่มีการตรวจค้นจับกุมได้มูลค่าหลายล้านบาทบาทแล้ว ยังมีคำถามในเรื่องของ “ที่ดิน” และ “การได้มาของที่ดิน” ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ถูกมองข้าม แต่ก็เป็นอีกเรื่องราวที่น่าสนใจ

บนคำถามเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสิทธิในการเช่าที่ดินผืนนี้ ซึ่งเป็นของ “กรมธนารักษ์” กระทรวงการคลัง!!

บริษัท พัฒนาตลาดใหม่ดอนเมือง และบริษัท ตลาดใหม่ดอนเมือง จำกัด ซึ่งอ้างสิทธิการบริหารตลาดแห่งนี้ ได้ที่ดินผืนนี้มาได้อย่างไร และมีอะไรผิดปกติมากกว่าการทำธุรกิจแบบปกติหรือไม่ ลองไปติดตามกันในส่วนนี้ เพราะหลังจากการเกิดเหตุการณ์การบุกตรวจค้นแบบปูพรมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีเป้าหมายไปที่เครื่องสำอางค์ผิดกฏหมาย กรมธนารักษ์ก็เตรียมประกาศยกเลิกสัญญาเช่าดังกล่าว

ตลาดแอร์พอร์ต หรือ ตลาดใหม่ดอนเมือง ตั้งอยู่ ที่ ซ.เชิดวุฒากาศ 4 ถนนเชิดวุฒากาศ, แขวงดอนเมือง, เขต ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร มีขนาดพื้นที่ 18 ไร่ เป็นที่ดินราชพัสดุ จ่ายค่าเช่าให้กรมกรมธนารักษ์ เจ้าของพื้นที่ เดือนละ 63,000 บาท ตั้งแต่ปี 2558

เอาเฉพาะในส่วนของการจ่ายค่าเช่า 63,000 บาท ที่เกิดขึ้นนี่ก่อน ซึ่งก็เป็นที่น่าสังเกตุแล้ว เมื่อราคาประเมินที่ดินในพื้นที่ดอนเมือง –หลักสี่ ในปัจจุบัน (รอบปี 2559-2562) ครอบคลุมพื้นที่ ถนนเชิดวุฒากาศ หลักสี่ดอนเมือง จะอยู่ที่ 45,000 บาท/ตารางวา ซึ่งหากมองถึงค่าตอบแทนที่กรมธนารักษ์จะได้จากที่ดินผืนดังกล่าวซึ่งต้องถือว่าน้อยมาก (หากเปรียบเทียบด้วยการนำที่ดินไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นหรือให้เช่าทำธุรกิจอื่น)

เพราะที่ดินบริเวณนี้ ปัจจุบันมีการขยายตัวของเมืองที่ต้องถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของใจกลางเมืองไปแล้ว การให้เช่าในราคาเพียง 63,000 บาท ต่อเดือนนั้น เป็นตัวเลขที่สมเหตุสมผลมากน้อยเพียงใด? 

หลังจากเช่าจากกรมธนารักษ์ได้เพียง 63,000 บาทต่อเดือน ทางบริษัทที่ได้รับกรรมสิทธิ์ ก็นำมาแบ่งให้กับผู้ค้า เช่าในราคาล็อกละ 30,000-40,000 บาท และโซนตลาดแอร์พอร์ต 8,000-45,000 บาทโซนอาคารพาณิชย์ 276 อาคาร มีค่าเช่าเฉลี่ย 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งหากนับเฉพาะในโซนตลาดแอร์พอร์ตที่มีกว่า 138 ห้อง จำนวนค่าเช่ารวมกันแล้วก็เป็นมูลค่าที่มากกว่าค่าเช่าที่บริษัทต้องจ่ายให้กับกรมธนารักษ์ ซึ่งเท่ากับว่าทางบริษัทผู้ได้รับกรรมสิทธิ จะมีกำไรจากการแบ่งให้เช่าเป็นมูลค่ามหาศาล

คำถามคือ “กรมธนารักษ์” มีการพิจารณาสัญญาเช่าตลาดใหม่ดอนเมือง ของบริษัทฯ นี้อย่างไร? ใช้อะไรเป็นกรอบในการพิจารณา

ว่ากันคามความเป็นจริง พื้นที่ 18 ไร่ นี้ต้องถือเป็นพื้นที่ทองคำ ที่สามารถนำไปทำประโยชน์ได้หลากหลาย และได้รับผลตอบแทนมากกว่าการ “ให้เช่าเพียง 65,000 บาทต่อเดือน” ตามที่ปรากฏในข้อมูล และในช่วงแรกของการเช่า ที่ดินผืนนี้ยังเป็นที่ตั้งของ “ร้านเจ๊เล้ง” ร้านชื่อดังซึ่งเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ชัดเจนว่าเป็นเช่าเพื่อทำธุรกิจที่แน่นอนว่ามีผลตอบแทนจากการทำธุรกิจไม่ใช่น้อย ดังนั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่การได้มาของที่ดินแปลงนี้ บริษัทจะเคยมีปัญหากับทางกทม.ที่เคยเช่าที่ดินผืนนี้มาก่อนหน้านี้!!     

       ก็แน่ละ ที่ดิน 18 ไร่ ย่านเชิดวุฒากาศ ดอนเมือง จ่ายค่าเช่าเริ่มต้นแบบเบาๆ แค่  63,000 บาท ต่อเดือน ใครๆ ก็อยากได้เอามาพัฒนาทั้งนั้นจริงมั้ย?

ตามที่เคยมีข่าวว่า “เสธ.ต่อ” ตัวละครเอกของตลาดแห่งนี้ เคย นำผู้ประกอบการโครงการพัฒนาตลาดใหม่ดอนเมืองแจ้งความเอาผิดต่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์  บริพัตร ผู้ว่ากทม. ปลัดกทม.และผู้อำนวยการสำนักงานเขตดอนเมือง ในความผิดตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เกี่ยวกับเรื่องของที่ดินผืนนี้ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด

แต่ก็เป็นคำถามที่ว่า สุดท้ายทำไม บริษัทฯ ที่บริหารโดย “เสธ.ต่อ” ทำไมจึงได้สิทธิเช่าแบบจ่ายเบาๆ จากกรมธนารักษ์มาครอบครองจนกลายเป็นตลาดใหม่ดอนเมืองได้ แน่นอนว่า เรื่องนี้น่าติดตามยิ่งนัก

นอกจากนี้ เมื่อเทียบราคาค่าเช่าที่ทางบริษัทฯ จัดสรรให้กับผู้ค้าแบบล็อคต่อล็อค เมื่อเทียบจากข้อมูลในตลาดใกล้เคียงอย่าง “ตลาดยิ่งเจริญ” ที่ทีมงาน THAIQUOTE ลองสืบถามราคาค่าเช่าต่อล๊อคในโซนพลาซ่า ที่จะอยู่เพียง 10,000 – 15,000 บาทแล้ว

ค่าเช่าในตลาดใหม่ดอนเมือง แพงกว่าค่าเช่าในตลาดยิ่งเจริญ (กรณีพื้นที่ล็อคและประเภทสินค้าใกล้เคียงกัน) เฉลี่ยถึง 2 เท่า ทั้งๆ ที่ตลาด “ยิ่งเจริญอยู่ในพื้นที่ซึ่งใกล้กับเมืองมากกว่าตลาดใหม่ดอนเมือง” นั่นก็เป็นอีกหนึ่งในข้อสังเกตุ ว่าเรื่องนี้ “กรมธนารักษ์” ได้รับทราบข้อมูลบ้างหรือไม่?

ทั้งหมดนี้เมื่อ “ตลาดใหม่ดอนเมือง” กำลังกลายเป็นตำบลกระสุนตก กลายเป็นแหล่งผลิตและค้าเครื่องสำอางผิดกฏหมาย (ตามที่มีการกล่าวหา) เรื่องราวแบบนี้ก็เลยน่าจะเป็นคำถามที่ถามไปถึงกรมธนารักษ์ด้วยว่า “การให้เช่าที่ดินทองคำ 18 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งตลาดใหม่ดอนเมืองในราคาเบาๆ แบบนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไรในยุคใด? และควรตรวจสอบด้วยหรือไม่?”

เพราะว่ากันว่าถ้าเส้นไม่ใหญ่ ถ้าไม่มีแบล็คดีๆ หรือมีพลังภายในแจ่มๆ มีหรือจะเบียดกทม.ตกขอบคว้าสัญญาเช่าราคาสุดฟินกับที่ดิน 18 ไร่ที่เอามาทำตลาดกำไรมหาศาลแบบนี้ได้ … แบบนี้ถือว่า ฟินไปมั้ย?