“ข้าวเหนียว” สดใสในจีน ใช้บริโภค-ประกอบพิธีกรรม พาณิชย์หนุนสุดตัว

“ข้าวเหนียว” สดใสในจีน ใช้บริโภค-ประกอบพิธีกรรม พาณิชย์หนุนสุดตัว


“พาณิชย์”เผยตลาดข้าวเหนียวในจีนขยายตัวสูง แนะผู้ส่งออกไทยดันสินค้าเจาะตลาด เพื่อป้อนเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารและสีทาบ้าน ระบุข้าวเหนียวดำเป็นสินค้าใหม่ที่มีแนวโน้มขยายตัวสูง หลังพบจีนมีความต้องการเพิ่มขึ้น เตรียมแผนกระตุ้นและผลักดันเต็มที่

มีดีไม่ธรรมดาแบบอนาคตไกลซะด้วย สำหรับข้าวเหนียวไทย ที่กำลังโด่งดังบนกระแสตลาดในแดนมังกร หลังคนจีนทำความรู้จักกับข้าวเหนียวไทย ผ่านอาหารหวานหลากหลาย อาทิ ข้าวเหนียวมะม่วง ข้าวเหนียวลำไย ที่เห็นได้บ่อยครั้ง จริงๆ แล้ว คนจีนนิยมบริโภคข้าวเหนียวมานานแสนนานแล้ว หลายๆ คนอาจเคยได้ยิน “ข้าวเหนียวตือฮวน” ที่เป็นอาหารหาทานได้ยากยิ่งแล้วในปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ ข้าวเหนียวยังถือเป็นอาหารมงคลแก้อาถรรพ์ต่างๆ ตามความเชื่อของคนจีน (ทางตอนใต้) และ หลายๆ มณฑลทางตอนใต้ของจีน ก็นิยมใช้ข้าวเหนียวบริโภค รวมถึงประกอบพิธีกรรมประเพณีต่างๆ เป็นช่องทางสำคัญในการขยายตลาดข้าวเหนียวไทย

เกี่ยวกับการผลักดันตลาดข้าวเหนียวไทยในประเทศจีน นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ในจีน ทำการสำรวจตลาดข้าวเหนียว เพื่อหาโอกาสในการผลักดันข้าวเหนียวไทยเข้าสู่ตลาดจีน โดยล่าสุดทูตพาณิชย์ที่เมืองหนานหนิงได้รายงานผลการสำรวจตลาดกลับมาแล้ว พบว่า จีนมีการผลิตข้าวเหนียวได้มากก็จริง แต่ยังต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อป้อนความต้องการที่สูงขึ้น ทั้งการใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและใช้ในอุตสาหกรรม อื่น ๆ จึงถือเป็นโอกาสสำหรับการผลักดันการส่งออกข้าวเหนียวไทยเข้าสู่ตลาดจีนได้เพิ่มขึ้น

ในปัจจุบัน จีนได้นำข้าวเหนียวไปใช้ทำอาหาร เช่น บ๊ะจ่าง บัวลอย และอาหารอื่นๆ โดยมักจะใช้มากในช่วงเทศกาลหรือประเพณีต่างๆ เช่น วันตรุษจีน วันไหว้บรรพบุรุษ เทศกาลแข่งเรือมังกร และใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและอื่นๆ เช่น การผลิตสุรา และสีทาบ้าน เป็นต้น”

 

ในปี 2559 จีนมีการนำเข้าข้าวเหนียวจากต่างประเทศ รวม 839,261 ตัน มูลค่าประมาณ 475 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าจากเวียดนามเป็นหลัก ปริมาณ 802,420 ตัน มูลค่า 436 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมา คือ ไทย 33,201 ตัน มูลค่า 33 ล้านเหรียญสหรัฐ สปป.ลาว 2,926 ตัน มูลค่า1.99 ล้านเหรียญสหรัฐ และญี่ปุ่น 139 ตัน มูลค่า 1.77 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

ตลาด “ข้าวเหนียว” จึงเป็นสินค้าที่เข้าเทรนด์ฮิตติดกระแส ที่ผู้ประกอบการไทยจะมองข้ามไม่ได้ เพราะไม่เพียงแต่ข้าวเหนียวขาวเท่านั้นที่กำลังเป็นที่สนใจในตลาดจีน แต่ “ข้าวเหนียวดำ” ซึ่งเป็นที่คุ้นเคย และเป็นอาหารสำคัญของคนไทยเชื้อสายจีน ก็เป็นข้าวเหนียวอีกประเภทหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจอย่างสูงในประเทศจีน

อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า “สำหรับโอกาสในการขยายตลาดข้าวเหนียวไทยในจีน นอกจากการส่งออกในรูปของข้าวเหนียวขาวแล้ว กรมฯ ยังพบว่า ข้าวเหนียวดำ เริ่มเป็นที่นิยมนำไปใช้เพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นข้าวเหนียวที่มีสี และมีสารอาหารสูงกว่าข้าวเหนียวปกติ มีผลดีต่อสุขภาพร่างกาย ทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีการผลักดันการส่งออกข้าวเหนียวดำเข้าสู่ตลาดจีน และเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อให้ชาวจีนรู้จักข้าวเหนียวดำเพิ่มมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ยังจะผลักดันข้าวเหนียวไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตสีทาบ้าน ที่ปัจจุบันนี้ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นสีที่ปราศจากสารเคมี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากตลาดวัสดุก่อสร้าง ซึ่งหากส่งเสริมเข้าไปได้จะทำให้ความต้องการข้าวเหนียวเพิ่มขึ้นอีก”

 

และนี่คือ “ข้าวเหนียว” อาหารที่คนไทยคุ้นเคย และกลายเป็น สินค้ามีอนาคตของไทยในตลาดจีนที่กำลังมาแรง แต่ทางเส้นทางการเจาะตลาดให้ขยายตัวออกไปนั้น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เน้นย้ำว่า ทางผู้ประกอบการจะต้องเน้นในเรื่องของคุณภาพเป็นหลัก ที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการนำข้าวเหนียวไทยบุกตลาดจีนสร้างชื่อสร้างรายได้ ที่สำคัญยังเป็นรายได้ที่กลับมาสู่เกษตรกรอีกด้วย …