“จนซ้ำจนซาก” ทำไมถึงจน? หลายๆ คนก็มักจะบ่นกันแบบนี้ “เพราะจนเลยไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของกิจการหรือเปล่า?” คิดกันต่อไปเรื่อยเปื่อย ซึ่งถ้ามองจากความเป็นจริงแล้ว คำถามเหล่านี้ ตอบได้เลยว่า “ไม่จริง” เพราะลู่ทางดีๆ ยังมีอีกตั้งมากมาย ที่วันนี้ “คนจน”มีโอกาส มีตัวช่วย เพียงแต่ “ลุกขึ้นมาแล้วลองไขว่คว้าหากัน”
ถ้ายกแนวทางนโยบายกับการช่วยเหลือคนจน มีเยอะแยะมากมาย ที่ภาครัฐ ลงมาขับเคลื่อน แต่ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นและจับต้องได้ทันทีลองดูนี่เลย เรื่องของการสนับสนุนสร้างผู้ประกอบการที่เน้นช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ผ่าน “Local Franchise Roadmap” ซึ่งลบคำว่า “เพราะจนเลยไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของกิจการ” ได้ทันที
เพราะวันนี้ กระทรวงพาณิชย์ เปิดโอกาสให้ ผู้มีรายได้น้อยได้ลุ้นเป็นเจ้าของกิจการที่ง่ายและสะดวกขึ้น แถมด้วยพี่เลี้ยงดีๆ อย่าง “แฟรนไชส์” ชั้นนำ ที่ขอความร่วมมือมาร่วมวางแผนธุรกิจให้การศึกษา พร้อมๆ กับ ธนาคารสถาบันการเงินต่างๆ ที่เข้ามาช่วยต่อฝันให้เป็นจริงได้ด้วยสินเชื่อ
เป็นหนึ่งใน “วิธีแก้จนด้วยการให้เบ็ดตกปลา” ชัดเจนและแตกต่างจากเรื่องของการ “ให้ปลา” อย่างที่เคยๆ ทำกันมาในอดีต เรื่องนี้ มี แม่ทัพนำ ยอดฝีมืออย่าง “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พาณิชย์ ที่รับนโยบายขับเคลื่อนโดยตรงมาจากรัฐบาล
ซึ่งเป็นนโยบายที่สร้างให้ “คนระดับฐานราก ผู้มีรายได้น้อย มีโอกาสได้เป็นเจ้าของกิจการ” ซึ่งไม่เพียงแต่ให้โอกาสในการประกอบอาชีพเท่านั้น แต่เอาว่า ทำดีๆ มีสิทธิ์รวยเหมือนแฟรนไชส์ชั้นนำ ที่มาเป็นพี่เลี้ยงด้วยเหมือนกัน แต่ต้องอยู่ที่ฝีมือ และความตั้งใจ นี่แหละหนึ่งในนโยบาย “จากบนลงล่าง” ที่ลงไปถึงรากหญ้ารากแก้วแบบจริงๆ จังๆ จับต้องได้เห็นผลเลย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในงาน งานสัมมนา “Local Franchise Roadmap” ล่าสุดที่ Kick off โครงการนี้ว่า “พาณิชย์ถือฤกษ์ดี Kick off เปิดงาน Local Franchise Roadmap พัฒนาแฟรนไชส์ท้องถิ่นเข้าสู่มาตรฐาน สร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้ผู้มีรายได้น้อยทั่วไทย ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการยกระดับมาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ ดำเนินงานโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โครงการนี้นับเป็นส่วนสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางชีวิตให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ในส่วนภูมิภาค ซึ่งได้ดำเนินภารกิจต่อยอดการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้มีรายได้น้อยอย่างจริงจัง เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้หลุดพ้นจากความยากจนและกลายเป็นกำลังสำคัญที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ความพิเศษของธุรกิจแฟรนไชส์ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ประชาชนสามารถเดินออกจากกับดักความยากจนได้ เพราะการเริ่มต้นธุรกิจด้วยแฟรนไชส์จะมีพี่เลี้ยงช่วยมาบริหารงาน ลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ ทำให้ผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศมีโอกาสสร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง เกิดการจ้างงานและเกิดความมั่นคงในชีวิต”
“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” กล่าวถึงแนวการดำเนินการผ่านโครงการนี้ว่า “การพัฒนาจะเน้นการพัฒนาแบบเป็นมิติ คือการนำเอาแฟรนไชส์ซอร์ (Franchisor) เข้ามาเพื่อพัฒนาให้เกิดแฟรนไชส์ซี (Franchisee) ว่าง่ายๆ ก็คือ แฟรนไชส์ซอร์ ก็คือเจ้าของแบรนด์มาพัฒนา เพื่อมาสร้างแฟรนไชส์ซี คือผู้ที่จะเริ่มมาทำธุรกิจ ซึ่งระบบนี้จะพัฒนาไปด้วยกันทั้งผู้ประกอบการแฟรนไชส์ที่มีอยู่แล้ว เพื่อไปสร้างผู้ที่อยากมีโอกาสเข้ามาร่วมในเป็นวงจรที่หมุนวนให้เกิดความเคลื่อนไหวระบบแฟรนไชส์ และการพัฒนาที่ควบคู่กันไป
แฟรนไชส์ในประเทศไทย ที่มีความสำคัญต่อ LOCAL เพราะวันนี้มิติของการเปลี่ยนแปลงของประเทศเอื้อต่อระบบแฟรนไชส์มาก เพราะรัฐบาลมีนโยบายในการสร้างอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อย จาก 11.4 ล้านคน มีผู้อยากยกระดับตัวเอง ที่จะพ้นจากความลำบาก 5 ล้านกว่าคน ถ้าสามารถสร้างอาชีพผ่านระบบแฟรนไชส์ได้จะเป็นประโยชน์มากกว่า การใช้วิธีแบบเดิมๆ คือการอบรมอาชีพ ที่เมื่ออบรมเสร็จแล้วก็ต้องไปเผชิญกับธุรกิจ ที่ไม่ง่ายอย่างที่คิด ซึ่งการเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ที่จะมีแฟรนไชส์ซอร์ มาช่วยเป็นพี่เลี้ยง มาช่วยดูแลจะทำให้ผู้ต้องการเข้าสู่ระบบธุรกิจนี้ มีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากขึ้น” รมว.พาณิชย์กล่าว
เมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องของการให้เบ็ดตกปลา กับการให้ปลา ที่จะเป็นแนวคิดเปรียบเทียบของการแก้ไขปัญหาความยากจน การสร้างงานสร้างอาชีพแล้ว เรื่องของโครงการ “แฟรนไชส์” ที่จับเคลื่อนอยู่โดยกระทรวงพาณิชย์ ต้องถือว่า ไม่ใช่แค่การให้เบ็ดธรรมดาๆ แต่เป็นเบ็ดคุณภาพที่มีขีดความสามารถสูงในการตกปลาได้อีกด้วย
แล้วการให้เบ็ดก็ไม่ใช่เพียงแต่การ “ให้” แต่เป็นการ “ให้” ที่เลือกเจาะลงไปตรงๆ กับกลุ่มเป้าหมายคือ “LOCAL” หรือ ฐานรากตรงๆ เลยนั่นเอง!!
นายสนธิรัตน์ กล่าวเสริมอีกว่า “สิ่งสำคัญของโครงการนี้ก็คือ ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ร่วมในโครงการจะเน้นไปที่กลุ่ม LOCAL เป็นหลัก นั่นหมายความว่า เป็นกลุ่มที่อยู่ในฐานธุรกิจฐานรากแต่เดิม อาทิ กลุ่มที่ขายลูกชิ้นปิ้ง หมูย่างข้าวเหนียว ฯลฯ เป็นต้น ไม่ได้เป็นกลุ่มแฟรนไชส์ที่มีราคาแพงๆ และจำเป็นที่จะต้องมีพี่เลี้ยง เพราะมีเรื่องของการบริหารจัดการเข้ามาเกี่ยวข้อง
และนี่อาจจะหนึ่งในกุญแจไขบานประตูที่จะเปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยได้เข้ามาเป็นเจ้าของธุรกิจ เติบโตเป็นเอสเอ็มอีได้ง่ายขึ้น พร้อมๆ ไปกับ การพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย ที่เป็นประโยชน์ควบคู่ขนานกันไปทั้งสองส่วนบนกระสุนนัดเดียวกัน เพราะในปัจจุบันไทยถือเป็นประเทศชั้นนำในระดับภูมิภาคอาเซียน สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ และยังสามารถขยายตัวไปได้ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ กลุ่ม CLMV นี่เป็นโอกาสของคนไทย ทั้งในและต่างประเทศ
เป็นหนึ่งในแนวคิดของการปฏิรูปธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยครั้งใหญ่!
ทั้งหมดนี้เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่เน้นย้ำให้เกิดการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ที่เติบโตไฟพร้อมๆ กับธุรกิจเอสเอ็มอีและแฟรนไชส์ของไทย ที่ควบรวมเข้ามาเป็นคลัสเตอร์เดียวกัน และก้าวไปด้วยกันอย่างสมดุล
ตอบคำถามหลายๆ คนที่เคยถามถึงนโยบายกระจายรายได้ลงสู่ฐานรากที่จับต้องได้ แน่นอนว่า “โครงการ Local Franchise” เป็นอีกหนึ่งคำตอบ ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากที่สุดนโยบายหนึ่ง จากบนลงล่าง และไม่ใช่เพียงแก้ไขความยากจนเพิ่มโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อย แต่ยังเป็นนโยบายที่ขยายความเติบโตของธุรกิจค้าปลีกไทยไปพร้อมๆ กัน
เอาว่านโยบายนี้ “โดนใจ โดนกลุ่มเป้าหมาย แบบตรงๆ” ทั้งแก้จนซ้ำซาก ทั้งพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เครดิตนี้ ยกนิ้วให้หนึ่งในทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างกระทรวงพาณิชย์ และที่สำคัญ ยกนิ้วให้กดไลค์แบบเลิฟๆ กับ แม่ทัพคนนี้ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พาณิชย์เลย