พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ว่า ปัญหาหนี้สิน ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่เป็นภาระของผู้มีรายได้น้อยที่ฉุดรั้งการพัฒนาคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยหนี้ครัวเรือนของประเทศเราอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง คือภาระหนี้ของประชาชนคิดเป็นเกือบร้อยละ 80 ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายสาธารณะที่ไม่ได้มุ่งหรือส่งเสริมการออมอย่างจริงจัง และมีลักษณะเป็นบริโภคนิยมในอดีตที่ผ่านมา ปัจจุบันรัฐบาลได้มีหลายมาตรการทั้งการปรับโครงสร้าง การพักชำระหนี้ของพี่น้องเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ รวมทั้ง “คลินิกแก้หนี้” และให้ความรู้ด้านการเงินเพื่อสร้างความเข้มแข็ง กับผู้ที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงิน และหนี้นอกระบบให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียง “มาตรการเยียวยา” ระยะสั้นที่ช่วยบรรเทาภาระให้บางส่วนเท่านั้น ดังนั้นจะต้องมีการแก้ปัญหาหนี้เหล่านี้ให้ได้อย่างยั่งยืน ในระยะยาวนั้น ตนคิดว่านอกจากในเรื่องของการเพิ่มรายได้ ที่รัฐบาลได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือในหลายด้านแล้ว เราก็ต้องอาศัยการปรับตัวของพี่น้องประชาชนในเรื่องการเพิ่มวินัยการเงินและการเก็บออมให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งการออมก็มีหลายวัตถุประสงค์ ทั้งออมเพื่อมีเงินเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ออมแบบมีเป้าหมาย ทั้งนี้ “การออม” ก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่เราต้องใส่ใจ และปลูกฝังเยาวชนไทยในวันนี้ เราก็ไม่มีใครรู้ว่าพรุ่งนี้เราจะยังมีงานทำหรือไม่ มีรายได้ มีเรี่ยวแรงในการทำมาหาเลี้ยงชีพหรือไม่ หรือต่อไปเมื่อเราเกษียณอายุไปแล้วไม่มีรายได้ หากไม่มีเงินออมไว้ในอดีตที่เพียงพอเลี้ยงตัวเองได้แล้วจะทำอย่างไร หลายคนก็บอกว่าเงินจะใช้ยังไม่พอ จะออมได้อย่างไร ถ้าคิดแบบนี้ไม่มีทางแก้อะไรได้ ยิ่งหากใครไม่มีลูกหลาน ไม่มีใครให้พึ่งพาก็จะเป็น “ทางตัน” ในชีวิตบั้นปลาย ตนก็ต้องเตือนกันวันนี้ เราคงจะต้องคิดเสียตั้งแต่วันนี้ ด้านการสร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากนั้น รัฐบาลพยายามที่จะลงทุนในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในการเชื่อมต่อเมืองหลัก เมืองรอง เมืองท่า เมืองชายแดน มีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มีเครือข่ายการคมนาคม ทั้งทางบก – ทางราง – ทางน้ำ – ทางอากาศ เพื่อที่จะเชื่อมโยงกันได้ทั้งหมด เมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานก็จะนำไปสู่การพัฒนาในด้านอื่น โดยจำเป็นที่แต่ละ อปท. – จังหวัด – กลุ่มจังหวัด – และภาค ต้องมีแผนการพัฒนา จะต้องชูศักยภาพ – จุดขาย – จุดแข็งของตน เพื่อจะได้สอดคล้องกับสิ่งที่เราต้องการคือ ยุทธศาสตร์ชาติ จะต้องส่งเสริมกันในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนเพื่ออนาคต เช่น จว.เชียงใหม่ – ขอนแก่น – ภูเก็ต ที่พยายามจะให้เป็น “Smart City” ที่เรียกว่า เมืองอัจฉริยะ มีหลายจังหวัดที่ก็สามารถส่งเสริมเป็น “MICE City” ได้ สำหรับเรื่องของธุรกิจการประชุม หรือ การท่องเที่ยว การประชุมนานาชาติ – และการจัดแสดงสินค้าและนิทรรศการต่างๆ ถือเป็น “เครือข่ายธุรกิจ” ที่กำลังเติบโต มีอนาคตไกล สามารถเชื่อมเรื่องการทำงานการประกอบธุรกิจ เข้ากับการท่องเที่ยวได้ โดย “นักท่องเที่ยว” ในกลุ่มนี้ เป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ เพราะเป็นนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ นักวิชาการ ที่มีการใช้จ่ายเป็นค่าที่พัก – เดินทาง – อาหารสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป บางครั้งเมื่อมาประชุมแล้วก็อาจจะสนใจในการท่องเที่ยว การรักษาสุขภาพ ก่อให้เกิด “ห่วงโซ่ด้านบริการ” มากมาย ผลประโยชน์ก็จะตามมาสู่ประชาชน ตั้งแต่สายการบินไปจนถึงรถสองแถว โรงแรมไปถึงโฮมสเตย์ ศูนย์แสดงสินค้าไปถึงร้านค้า – ร้านอาหารข้างทาง และโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ที่ทันสมัยไปถึงร้านนวดแผนไทย เป็นต้น สามารถกระจายรายได้ “แทรกซึม” ไปอย่างทั่วถึง ทุกสาขาอาชีพ ของสังคมในท้องถิ่น ท้องถิ่นหรือหน่วยงานในพื้นที่ต้องคิดแบบนี้ สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงให้ได้ สร้างมูลค่าให้แก่พื้นที่นั้นๆ สิ่งที่กล่าวมาเหล่านี้คือ สิ่งที่จะช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชนในท้องถิ่น สร้างเศรษฐกิจฐานราก จะเห็นได้ว่าวิสัยทัศน์การพัฒนาท้องถิ่นแบบนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือกลไก “ประชารัฐ” ในแต่ละชุมชน – ท้องถิ่น – จังหวัด – ภูมิภาค – ประเทศ “ในภาพรวม” เชื่อมโยงกัน ซึ่งจะต้องร่วมด้วยช่วยกัน ต้องรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน