พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ว่า จากการที่ ธนาคารโลก ได้จัดทำรายงานแนวโน้มการเติบโตแบบมีส่วนร่วมของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในระยะยาว โดยระบุว่า ประเทศไทยมีพัฒนาการก้าวหน้าไปมาก กล่าวคือมีประชากรที่เริ่มหลุดพ้นจากความยากจน และมีสัดส่วนของประชากรที่ก้าวสู่รายได้ระดับปานกลางในสัดส่วนที่สูงขึ้นที่ไม่มีผู้อยู่ในความยากจนขั้นรุนแรงตามเกณฑ์ของธนาคารโลก
ทั้งนี้ธนาคารโลกได้เสนอว่า การที่จะลดระดับความยากจนและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อเข้าสู่การเป็นประเทศรายได้ปานกลางให้ได้อย่างยั่งยืนนั้น ควรต้องทำตามมาตรการ 3 ด้านพร้อมๆ กันอย่างต่อเนื่องอันได้แก่
(1) การให้โอกาสทางเศรษฐกิจกับประชาชนผ่านการสร้างงานที่ให้รายได้สูงขึ้น และ การเข้าถึงบริการต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น
(2) การสร้างความมั่นคงทางรายได้ ให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ผ่านการมีระบบการดูแลด้านสังคม สาธารณสุข ประกัน สังคม และการส่งเสริมการออม
และ (3) การกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง ผ่านการใช้เครื่องมือ เช่น ภาษี หรือเครื่องมือทางการเงิน เป็นต้น
สำหรับข้อเสนอดังกล่าวนั้นก็นับว่าสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลนี้ ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้บรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 อีกด้วย
จากการรายงานของธนาคารโลกดังกล่าวถือว่าเป็นข้อมูลจากสายตา “คนภายนอก” ที่เขามองเราในมุมมองว่า “ดีขึ้น” ตนอยากให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่าสิ่งที่เรากำลังเดินหน้า แม้จะเป็น “ก้าวย่างที่ช้า แต่มั่นคง” และ อยู่ในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งต้องอาศัยความเพียร และความอดทน รัฐบาลไม่ได้จะพอใจเพียงเท่านี้ เนื่องจากยังมีปัญหาที่รอการแก้ไขอีกมาก โครงสร้างเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก
ในขณะที่หลายสิบปีที่ผ่านมาเราก็ไม่ค่อยจะมีการลงทุนเพื่ออนาคตอันที่จะช่วยเสริมสร้างความ สามารถในการผลิตของประเทศมากนัก โดยเฉพาะในภาคเกษตรซึ่งส่งผลให้ทุกวันนี้การกระจายรายได้ และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจยังไปได้ไม่ทั่วถึงนัก ขณะนี้เราได้จัดทำโมเดลในการ “ลดความยากจน” ภายใน 2 ปี ระยะแรก โดยใช้โมเดลของ”กาฬสินธุ์ แฮปปี้เนส 2019″ (model kalasin happiness 2019) เป็นแนวทางที่จะทำต่อไปทั้งประเทศ ซึ่งจะเริ่มไปพร้อมๆ กัน สรุปได้ดังนี้ มี 4 องค์ประกอบหลักคือ
1.การค้นหาครัวเรือนยากจนโดยใช้เกณฑ์รายได้, การลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ และ การคัดเลือกโดยประชาคม ระดับหมู่บ้าน
2. กลไกการขับเคลื่อน ตั้งแต่ระดับจังหวัด ลงมาถึงระดับหมู่บ้านเช่น ชุดปฏิบัติการตำบล, กรรมการหมู่บ้าน, ปราชญ์ชุมชน และกลุ่มองค์กรในหมู่บ้านเป็นต้น
3.กิจกรรมการขับเคลื่อน อาทิ การวิเคราะห์ข้อมูลครัวเรือน เพื่อจำแนกสถานะ, การส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการพัฒนาที่เหมาะสม เช่น การทำบัญชีครัวเรือน การทำแผนชีวิตการฝึกวิชาชีพ การอบรม ณ ศูนย์การเรียนรู้ เป็นต้น
และ 4. คือการติดตามและประเมินผลจากคณะทำงานระดับต่างๆ เพื่อจะพิจารณาส่งเสริมต่อเนื่อง หรือต่อยอด แล้วแต่กรณี ซึ่งก็จะมีการให้รางวัลเชิดชูเกียรติสำหรับครัวเรือน – กลุ่มอาชีพ – ชุมชน ที่ประสบความสำเร็จด้วย
สำหรับเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแต่การพัฒนาการทางเศรษฐกิจเท่านั้นที่ประชาคมโลกให้การยอมรับประเทศไทย แต่ยังมีข่าวดี ในเรื่องความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ซึ่งล่าสุดคณะรัฐมนตรีต่างประเทศ สหภาพยุโรป (EU) ได้เห็นชอบที่จะปรับความสัมพันธ์ด้านการเมืองกับประเทศไทย ด้วยตระหนักถึงบทบาท – ความสำคัญของไทย ในฐานะ”ประเทศผู้ประสาน” การเจรจาและสนับสนุนการขยายความร่วมมือ ระหว่างกลุ่มประเทศ EU-ASEAN ส่งผลการติดต่อทางการเมืองในทุกระดับ ระหว่างเรากับ EU จะกลับเข้าสู่ระดับปกติ และยังได้มีการกล่าวถึงความเป็นไปได้ว่า เราอาจจะกลับมาเจรจา “ข้อตกลงเขตการค้าเสรี ระหว่างยุโรป-ไทย” อันจะเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ในการขยายกลุ่มประเทศคู่ค้าออกไป และ สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศของไทย ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การที่ต่างประเทศได้ตระหนักถึงความตั้งใจนี้ ยังคงเทียบไม่ได้กับการที่พี่น้องประชาชน เปิดใจรับรู้ รับฟัง รับทราบในสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ อยากให้มองเห็นในสิ่งที่ดีๆ แล้วช่วยกันเสนอแนะ ต่อยอด ชี้ปัญหาและช่องโหว่ที่รัฐบาลจะช่วยดำเนินการได้ เพื่อจะให้การเดินหน้าต่อไปด้วยความราบรื่น เราต้องอาศัยความร่วมมือกัน ช่วยกันเสนอแนะ ช่วยกัน “ติเพื่อก่อ” แสดงความเห็นอย่างสร้างสรรค์