เป็นเสียงที่เรียกร้องกันมานานและยังไม่เกิดขึ้นอย่างจริงจังเป็นรูปเป็นร่างซะที สำหรับการ “ปฏิรูปตำรวจ” หน่วยงานที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับประชาชน แต่กลับพบปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย และกลายเป็นกระแสครั้งแล้วครั้งเล่าเกี่ยวกับผลจาการทำงาน ที่สะท้อนถึงภาพลักษณ์ที่มีมาจากประชาชน อย่างกรณีล่าสุด กับคำถามเกี่ยวกระแสโซเชียล ไม่ว่าจะกรณีการจับ “ฟลุ๊คศรี มณีเด้ง” ในเรื่องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า มีการฉุดกระชากลากถู รวมถึงการ “ยึดรถ” กลายเป็นคลิปโด่งดังที่หลายเพจดังในโซเชียล นำมาเผยแพร่ จนถูกตั้งคำว่า “เหมาะสมมากน้อยเพียงใด และเกินกว่าเหตุหรือไม่?” หรือกรณีที่จังหวัดมุกดาหาร กับการ “ค้นรถ” ต้องสงสัย ที่กลายเป็นเสียงเรียกร้องถึง “ความยุติธรรม” เมื่อรถคันดังกล่าวมีผู้ขับขี่เป็นผู้หญิงเพียงลำพัง และถามถึงการทำงานของ “ตำรวจ” ที่เข้าค้นโดย “ชุดไอ้โม่ง” ซึ่งสุดท้ายยังการขู่จากฝ่ายตำรวจว่าจะดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่คลิปนี้ นอกจากนี้ ยังมีกรณีการ “แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามยาเสพติด” และ พกพาอาวุธเข้าไปบุกค้นบ้านเรือนและสถานที่ต่างๆ แบบผิดกฎหมาย กับกรณีของ “หนอ วีระชัย” ซึ่งก็เป็นเรื่องที่กลายเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกระแสโซเชียล และกรณีตำรวจจังหวัดนครราชสีมา เข้าตรวจสอบชายผู้กำลังดื่มสุรา แล้วถูกพูดจากดูหมิ่นและพูดคำหยาบท้าทายใส่ โดยอ้างเป็น “เด็กในสังกัดนาย” (ซึ่งในข่าวระบุว่าเป็นนายตำรวจใหญ่ระดับจังหวัด) และมีการต่อสายถึง “นาย” โดยตรง กลายเป็นที่กระฉ่อนไปในโลกโซเชียล ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมกรณีก่อนๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับการทำงานของตำรวจ ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยโด่งดังในกระแสโซเชียลไปแล้วอีกมากมายหลายหลาก ลามโยงไปถึงเสียงเรียกร้องให้มีการ “ปฏิรูปตำรวจ” ที่เป็นหนึ่งในแนวคิดและแนวทางการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน “การปฏิรูปตำรวจ” แม้จะยังไม่เคยเกิดขึ้น แต่ก็เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายเคยเสนอแนวทางมาแล้วก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะผ่านผู้เกี่ยวข้องในรัฐบาล หรือตรงๆ ลงไปที่ “คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ”ในนามของ “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม” ที่มีคณะกรรมการจำนวน 36 คน โดยมี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีต ผบ.สส.เป็นประธาน และมีทั้งคณะทำงานที่มาจากฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยเนื้องานจะเน้นปรับปรุงกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตำรวจ เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับภารกิจที่ได้รับ แต่คงต้องยอมรับว่า “แม้จะมีคณะกรรมการฯ” ชุดนี้ ที่จะเข้ามา “ปฏิรูปตำรวจ” แต่ในทางปฏิบัติแล้ว แทบจะยังไม่มีผลอะไรที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ฉะนั้น กับกระแสเชิงลบต่อภาพลักษณ์ของตำรวจ น่าจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่กระตุ้นถึงภาพสะท้อนที่มีออกมาจากประชาชน โดยเฉพาะชาวโซเชียล” ที่ส่วนใหญ่อ้างอิงจาก “คลิป” ในกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อเผยแพร่ออกไปแล้ว คำตอบที่จะอธิบายถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงในด้านใดก็ตาม อาจจะอธิบายได้ยาก โดยเฉพาะกับหลายๆ เหตุการณ์ ที่ต้องยอมรับว่า “สังคมได้พิพากษาไปแล้ว” จากภาพที่เกิดขึ้น!! เช่นนั้นจึงมีคำถามว่าถึงเวลาที่จะต้องหันมามองเรื่องของการปฏิรูปตำรวจกันอย่างจริงจังแล้วหรือยัง? หรือจะปล่อยให้ “โซเชียลได้เผยแพร่คลิปภาพต่างๆ” ที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการทำงานของตำรวจในอนาคตจนกลายเป็นกระแสกระทบถึงภาพลักษณ์ของตำรวจ และรัฐบาลต่อไปอีกเรื่อยๆ แบบนี้ กระทบความเชื่อมั่นและไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย ฉะนั้น เรื่องของการ “ปฏิรูปตำรวจ” อาจถึงเวลาที่ต้องหยิบยกมาพูดกันอย่างจริงจังอีกครั้งหรือไม่? คำถามนี้ไม่ได้เกิดแต่เฉพาะกับประชาชนเท่านั้น แต่บางครั้งก็เกิดจากองค์กรตำรวจเอง ที่ต้องยอมรับว่า “ได้รับผลกระทบในเรื่องภาพลักษณ์จากหลายกรณีที่เกิดขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน” …