พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ว่า การแก้ปัญหาอาชีพเกษตรกรรมของประเทศนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยต้องอาศัยการปรับตัว และการปรับโครงสร้างเกษตรกรรมของประเทศ ภายใต้หลักคิดที่ว่า “ตลาดนำการผลิต” คือ การผลิตให้มีปริมาณสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ได้แก่ 1.โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย เราจำเป็นต้องลดพื้นที่การปลูกข้าวลง เพื่อทำการเกษตรอย่างอื่นเป็นการพักที่ดินด้วย เพื่อจะพัฒนาดินให้มันดีขึ้น ลดการใช้ปุ๋ยให้น้อยลง ถ้าเราสามารถลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง จำนวน 150,000 ไร่ ใน 53 จังหวัด ช่วง พ.ย.60 – เม.ย.61 แล้วไปทำกิจกรรมทางเลือกอื่นทดแทน เป็นการทำนาเชิงระบบ ได้แก่ การปลูกข้าวสลับพืชอื่น สำหรับเป็นวัตถุดิบเพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และอาหารแปรรูป เช่น ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน และพืชผักสวนครัว รวมทั้ง เพื่อลดการนำเข้า เช่น ถั่วเหลือง นำเข้า 2.2 ล้านตันต่อปี, ถั่วลิสง นำเข้า เกือบ 100,000 ตันต่อปี และถั่วเขียว นำเข้า 30,000 ตันต่อปี เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งพืชเหล่านี้มีความจำเป็น เมื่อมีความขาดแคลนก็ต้องเอาเข้ามา ดังนั้นการปลูกพืชทดแทนพืชเหล่านี้ก็เป็นเป้าหมายที่รัฐบาลจะให้มีการส่งเสริม นอกจากการช่วยลดความเสี่ยงราคาผลผลิตข้าวปีหน้าตกต่ำแล้ว ยังช่วยให้มีรายได้เสริมจากการปลูกพืชอื่น ตัดวงจรการระบาดของศัตรูข้าว ดินมีการฟื้นตัวและได้รับแร่ธาตุเพิ่มเติมอีกด้วย รัฐบาลจะเข้าไปส่งเสริมทางวิชาการ และค่าใช้จ่าย ไร่ละ 2,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ ก็ขอให้ ให้ความสนใจ เข้ามาร่วมโครงการด้วย 2. โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ซึ่งเป็นกิจกรรมทางเลือกเพิ่มเติมจากโครงการแรก เป็นส่วนหนึ่งของแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2560/61 เพื่อลดรอบการปลูกข้าว ส่งเสริมการปรับปรุงบำรุงดิน ให้มีความสมบูรณ์ เป็นผลดีในการเพิ่มผลผลิตในฤดูกาลถัดไปมีพื้นที่ทำนาปรัง 22 จังหวัด ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง ประมาณ 200,000 ไร่ ตั้งแต่ พ.ย. 60 – มิ.ย.61 รัฐบาลจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด และงบค่าไถ 2 ครั้ง คือ ไถเตรียมดินและไถกลบ 500 บาทต่อไร่ต่อครั้ง และครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ ทั้งนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการได้ทั้ง 2 โครงการแล้ว ตนไม่เพียงแต่อยากเชิญชวนให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายเข้าร่วมในโครงการดังกล่าวโดยสมัครใจเท่านั้น แต่ตนอยากให้พี่น้องประชาชนได้ตระหนัก ได้เข้าใจถึงแนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาล เพื่อจะมุ่งสร้างความยั่งยืนใน “วงจรผลิตและตลาดข้าว” ที่ต้องการความร่วมมือจากทุกคน ซึ่งผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับพี่น้องเกษตรกรทุกคน ขณะที่ผู้ที่ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยางพารา ขณะนี้ตนได้สั่งการไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว พื้นที่ใดก็ตามที่มีการปลูกยาง ซึ่งเป็นการบุกรุกโดยนายทุนจะต้องตัดทิ้ง ไม่มีการกรีดอีกต่อไป ในส่วนของพื้นที่ที่ประชาชนได้มีความเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้ก็ได้มีการตรวจสอบ และหามาตรการว่าจะทำอย่างไร ในการที่สามารถจะมีรายได้จากผลผลิตยางเหล่านั้นได้ด้วย แต่ต้องถูกกฎหมาย ตอนนี้ก็สั่งการไปหมดแล้ว ในเรื่องของการกรีดยางพาราในสวนป่าของรัฐบาลก็ลดการกรีดลงไปทั้งหมด เพื่อจะให้ปริมาณยางที่ออกสู่ตลาด ลดลง มิฉะนั้นแล้วปัญหาจะเกิดขึ้น ตนได้สั่งการให้แก้ปัญหาไปทาง กยท. กระทรวงเกษตร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประชุมหารือกัน และนำข้อเสนอทั้ง 6 ข้อของเกษตรกร ชาวสาวนยางมาพิจารณา ซึ่งต้องดู ตั้งแต่ต้นทาง – กลางทาง – ปลายทาง ในเรื่องของการบริหารจัดการที่ดิน ทรัพยากรน้ำทั้งระบบ ต้นทุนการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย เครื่องจักรกล พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ แหล่งเงินทุน หนี้สิน ตลาดประชารัฐ ตลาดออนไลน์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนี้ทั้งสิ้น รัฐบาลเข้ามาปฏิรูปในช่วงแรกก็จะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ตนคิดว่ามันจะเป็นความสำเร็จในระยะต่อไป ส่วนหนึ่งที่มีความก้าวหน้ามาได้ ก็มาจากการประชาสัมพันธ์ การให้ข้อมูลกันเอง ปากต่อปาก ของเกษตรกรเอง หรือผู้ประกอบการ หรือผู้ผลิต