ปีหน้าฟ้าสดใส จาก “Sickman of Asia” สู่ “Hub of Asean”

ปีหน้าฟ้าสดใส จาก “Sickman of Asia” สู่ “Hub of Asean”


ดังจะเห็นได้จากการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) มีการพบปะพูดคุยระหว่างผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ,แคนาดา และสหภาพยุโรป(อียู) รวมทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลีใต้ อินเดีย และนิวซีแลนด์ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มีอาเซียนอยู่เป็นจุดศูนย์กลาง ซึ่งประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกที่กล่าวมา พยายามที่จะแย่งชิงการมีบทบาทในภูมิภาคแห่งนี้เพื่อผูกพันการเป็นพันธมิตรแห่งอนาคตร่วมกัน “ภาพรวมของอาเซียนทั้งหมด คือประชากร 620 ล้านคน ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจแทบจะเรียกได้ว่าสูงที่สุดในโลกอีกภูมิภาคหนึ่ง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเป็นอาเซียนทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในอาเซียน ทุกคนรู้ดี พยายามประคับประคอง ให้อาเซียนอยู่ได้ ให้อาเซียนเป็นบ่อทองคำเพื่อการลงทุนจากภูมิภาคอื่นที่จะต้องหันมาให้ความสนใจเอเชีย อาเซียนคือหัวใจ คือจุดรวม ไม่เพียงเศรษฐกิจแต่ยังรวมไปถึงความมั่นคงทางการเมืองด้วย ฉะนั้นโอกาสซึ่งไม่ได้มาง่ายๆนั้น ขณะนี้กำลังมาสู่อาเซียน ทั้งนี้การที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราเติบโตมากขึ้น ยิ่งจะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์มากขึ้น โดยเราเป็นจุดเกื้อกูลเชื่อมโยงในภูมิภาคนี้ได้ดีที่สุด โดยเฉพาะ CLMVT ดังนั้นโอกาสจึงเป็นของประเทศไทย เมื่อหน้าต่างแห่งโอกาสเปิดแล้ว เราต้องหยิบฉวยให้ได้ ซึ่งแสดงถึงว่าเราจะสามารถสร้างฐานแห่งอนาคตได้” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว ดร.สมคิด ยังกล่าวต่อว่า “สิ่งที่ต้องทำต่อจากนี้คือการสร้างความแข็งแรงของประเทศไทย แต่จะแข็งแรงอย่างเดียวไม่พอจะต้องขยับเคลื่อนตัวให้เร็วด้วย เพื่อดักทางแห่งอนาคต ประเทศไทยเมื่อ 3 ปี ที่แล้วคือ “Sickman”  ประเทศต่างๆในอาเซียนมีความเป็นห่วงประเทศไทย หากไทยมีความอ่อนแอจะส่งผลกระทบต่ออาเซียน เพราะไทยคือจุดเชื่อมโยงกับประเทศต่างอาเซียน ผกระทั่งปัจจุบันประเทศมีความสงบ กลับสู่ภาวะปกติ  GDP ขยับขึ้น คาดว่าจะขยับขึ้นประมาณ3.8 ในปีนี้ กรอบเศรษฐกิจมหภาคซึ่งประกาศโดย The World Economic Forum (WEF) ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 9 ของโลก ซึ่งเห็นได้ว่าเราแข็งแรงขึ้น แต่ยังไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะแข็งแรงหมด ชาวไร่ชาวนายังลำบาก รากหญ้ายังลำบาก สินค้าเกษตรราคาถูก เราจะต้องให้ความสำคัญกับจุดที่ยังบกพร่องเพื่อที่จะแก้ไขให้ดีขึ้น” ทั้งนี้ปัญหาของเกษตรกร และประชาชนในระดับฐานรากนั้นไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งจะเกิดขึ้น ดังนั้นตนจึงได้หารือกับทีมงาน ใช้โอกาสที่มีอยู่ ทำให้เศรษฐกิจในระดับฐานรากมีเงินหมุนเวียน มีงานทำ โดยได้หารือกับนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เพื่อให้มีการปลดล็อกเงินงบประมาณท้องถิ่นที่มีประมาณ 2 แสนล้านบาท เพื่อให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต. และ อบจ.) มีงบประมาณในการที่จะนำไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ทั้งการจ้างงาน และการพัฒนาการท่องเที่ยว การสาธารณสุขและการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน โดยจะต้องนำเสนอโครงการที่ดีต่อรัฐบาล เพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้เพื่อสร้างงานให้กับชุมชนในท้องถิ่นนั้นๆ นอกจากนี้เรื่องของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรม ประเทศไทยไม่เคยมีข้อมูลว่าผู้มีรายได้น้อยมีสัดส่วนเท่าไหร่ อยู่ในพื้นที่ใด มีความต้องการอย่างไร ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลได้รับรู้ข้อมูลเหล่านี้ จากนี้ไป จะมีโครงการจาก ธกส.เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนพืชที่มีราคาตกต่ำ หรือมีปริมาณผลผลิตล้นตลาด รวมทั้งทำการตลาดจำหน่ายผลผลิตผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐ “แนวคิดที่จะแก้ความยากจนของประเทศไทยจะต้องคิดแบบนอกกรอบ มีนวัตกรรมใหม่ๆ คิดอยู่เพียงแค่ในกรอบสี่เหลี่ยมนั้นไม่มีทางที่จะสำเร็จ” ดร.สมคิด กล่าว ขณะเดียวกันในปีหน้าจะมีการส่งเสริมสร้างธุรกิจอีคอมเมิร์ซในชุมชน   โดยจะต้องพัฒนาไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ตามที่รัฐบาลผลักดันการติดตั้งอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านให้ครบทุกหมู่บ้านซึ่งจะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานในปีหน้า โดยจะส่งเสริมให้มีการใช้จ่ายผ่านระบบออนไลน์ หรือ E-Payment รวมถึงการสื่อสาร การค้าขาย และระบบโลจิตติกส์ ซึ่งจะส่งเสริมให้มีการใช้ระบบดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลรู้ถึงจุดอ่อนต่างๆของประเทศไทย แต่รัฐบาลไม่ต้องการที่จะทำแบบฉาบฉวยเอาใจประชาชนเท่านั้น แต่รัฐบาลต้องการที่จะแก้ไขถึงต้นเหตุของปัญหาจริงๆ เพื่อที่จะให้ประชาชนมีรายได้อื่นๆด้วย ไม่อย่างนั้นประเทศไทยจะเปรียบเหมือนกับ โรงรับจำนำ แล้วประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าได้อย่างไร สิ่งสำคัญ คือ ทุกคนจะต้องช่วยกัน เศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องของความมั่นใจ ดังนั้นขอให้ทุกคนมั่นใจในสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ ตนเชื่อว่าปีหน้าเป็นปีที่ฟ้าสดใสอย่างแน่นอน