ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรและผู้ประกอบอาชีพอิสระอื่นๆอีก ที่มีรายได้น้อยกว่า 100,000 บาทต่อปี ได้ให้มีการลงทะเบียนฯ “ครั้งแรก” กลางปี 2559 ซึ่งเป็นมาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีผู้ลงทะเบียนฯ ที่ผ่านการตรวจสอบข้อมูลแล้ว ราว 8 ล้านคน รวมเป็นวงเงินราว17,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ (1) กรณีมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 3,000 บาท และ (2) กรณีที่มีรายได้ ระหว่าง 30,000 – 100,000 บาทต่อปี ได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 1,500 บาท ทั้งนี้ปัจจุบันถือเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการให้สวัสดิการผ่าน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ซึ่งแบ่งการช่วยเหลือออกเป็น 2 ส่วน คือ (1) ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 300 บาท (2) เป็นค่าเดินทาง 1,500 บาท โดยมีผู้ผ่านคุณสมบัติตามโครงการ กว่า 11 ล้านราย อันนี้เป็นการเริ่มต้น ระยะแรกเราต้องจัดสรรสัดส่วนให้ครบถ้วน และให้เกิดความเป็นธรรม สำหรับค่าใช้จ่ายรายวันนั้น จำเป็นที่จะต้องผูกโยงกับการซื้อขายสินค้าที่จำเป็นในครัวเรือน กว่า 300 รายการ จากผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค โดยยังไม่สามารถที่จะไปถึงการซื้อขายทั่วไปได้ ในระยะแรกนี้ ซึ่งเราได้รับการสนับสนุนจากผู้สนับสนุนภาคเอกชนผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคดังกล่าว ด้วยการจำหน่าย สินค้าในราคา “ต่ำกว่าตลาด” ขณะที่ตนไม่อยากให้มองว่าเขาจะได้ประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว แต่ผู้ผลิตเหล่านี้มีแรงงาน มีพนักงาน ในสถานประกอบการ ซึ่งล้วนเป็นพี่น้องเราทั้งสิ้น การที่ผู้ผลิตมีรายได้ พนักงานเหล่านั้นก็มีรายได้ มีเงินเดือนเช่นกัน นอกจากนี้หลายคนอยากให้ไปซื้อของตามร้านขายของประชาชนด้วย อะไรด้วย ต้องเป็นระยะต่อไป ว่าจะทำได้ยังไง คงจะต้องมีมาตรการการควบคุม ด้วยวิธีการที่เหมาะสม สำหรับในปัจุบัน ตนขอให้ประชานชนผู้มีสิทธิ ได้ใช้บริการจากร้านค้าธงฟ้าประชารัฐก่อน ซึ่งมีอยู่กว่า 6,000 แห่ง ทั่วประเทศ โดยขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องการติดตั้งเครื่องรับการ์ด (EDC) โดยตนได้เร่งให้ดำเนินการอยู่ ซึ่งเป้าหมายของเราคือ แต่ละตำบลต้องมีร้านธงฟ้า อย่างน้อย 1 แห่ง ในอนาคตอันใกล้ จะขยายให้ได้ 18,000 แห่ง ในส่วนของร้านค้าปลีกชุมชน กว่า 30,000 รายที่ลงทะเบียนขอร่วมในโครงการ จะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติของแต่ละร้านเสียก่อน มีการดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อความสมบูรณ์สำหรับให้บริการต่อไป ตนเองเห็นว่า นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับร้านค้าปลีกชุมชน รวมทั้งเกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินในชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากอีกด้วย อย่างไรก็ตามการดำเนินการในระยะแรก อาจจะยังมีปัญหาอยู่บ้าง ก็ต้องช่วยกันปรับปรุง แก้ไข มีอะไรก็แจ้งมา แจ้งปัญหากลับมาด้วย โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ ซึ่งยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะฉะนั้นรายละเอียดในการปฏิบัติย่อมมีมาก หลายหน่วยงานต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน เป็นผู้บริโภค ต่อจากนี้จะเป็นการทำโครงการต่างๆ ในระยะต่อไปคือ การเชื่อมโยงตลาดชุมชน ตลาดเดิมให้เป็นทางเลือกใหม่สำหรับพี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อยอีกทางหนึ่งซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับเกษตรกร ผู้ผลิตสินค้า OTOP ผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้าน ได้มีพื้นที่ขายสินค้าเหล่านั้นด้วย แต่ต้องไปดูว่าจะผูกยึดโยงได้อย่างไรอีกครั้งหนึ่ง ส่วนการกระจายรายได้ การสร้างความเข้มแข็ง การเพิ่มขีดความสามารถของชุมชน รัฐบาลกำลังพิจารณา กำหนดนโยบาย หาแนวทางในการส่งเสริมในการจัดตั้ง “ตลาดประชารัฐ” รูปแบบต่างๆ ทุกพื้นที่ มีหลายรูปแบบด้วยกัน ให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในตลาดนี้ คล้ายๆ ว่าเป็นช่องทางการตลาด ให้ทุกคนได้มีการเข้าถึง เป็นช่องทางของประชาชน เกษตรกรโดยตรง เรื่องบัตรสวัสดิการนี้ เป็นเพียงแนวทางหนึ่งเท่านั้นของรัฐบาลในปัจจุบัน เพื่อจะแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อย “แบบมุ่งเป้าและยั่งยืน” เน้นตอบสนองความต้องการพี่น้องประชาชนให้ตรงจุด ตอบโจทย์ให้ตรงประเด็น โดยเป้าหมายชัดเจนของรัฐบาล คือการวางโครงสร้าง “ฐานข้อมูลกลางภาครัฐ” เชื่อมโยงข้อมูลของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และกำหนดมาตรการ เพื่อให้ความช่วยเหลือไม่ซ้ำซ้อน ใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา จึงจะเป็นการบริหารจัดการต่อปัญหาของผู้มีรายได้น้อยได้อย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง