การไขปริศนาเกี่ยวกับ คุณ และ โทษของ บุหรี่ไฟฟ้า เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการนำไปสู่คำตอบของแนวคิด การรณรงค์หยุดยั้งและป้องกันปัญหาในหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง ที่ได้เคยมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง ข้อมูลจากการเปิดเผยโดยกรมควบคุมโรคระบุว่า จากผลสำรวจการบริโภคยาสูบในเยาวชนไทย อายุ 13-15 ปี ครั้งล่าสุดในปี 2558 สำรวจพบว่าเยาวชนชายสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 4.7 %และเยาวชนหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 1.9% ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นั่นเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการนำพาไปค้นหาคำตอบเกี่ยวกับ “บุหรี่ไฟฟ้า” ว่า “มีอันตรายร้ายแรงเพียงใด” และ “มีประโยชน์ในฐานะเครื่องมือลดการเลิกบุหรี่ได้จริงหรือไม่?” นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เคยกล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า “ปัจจุบันมีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในกลุ่มวัยรุ่นไทย เหตุเพราะรูปลักษณ์และองค์ประกอบที่ดึงดูดใจให้วัยรุ่นหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า และเกิดกระแสการเลียนแบบในกลุ่มเพื่อนอย่างรวดเร็ว ทางกรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยคนเลิกสูบบุหรี่ได้ ที่สำคัญในบุหรี่ไฟฟ้าก็มีสารพิษต่างๆ โดยเฉพาะสารนิโคตินเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ปกติทั่วไป ซึ่งมีอันตรายและส่งผลกระทบต่อสุขภาพเหมือนกัน ทั้งนี้ ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อสูดเข้าสู่ปอดแล้ว ไม่ใช่มีเพียงไอน้ำกับสารนิโคตินเท่านั้น แต่ยังมีสารเคมีอีกมากมายที่ใช้ในขบวนการผลิตและปรงุแต่งกลิ่นรส และสารเคมีหลายชนิดเป็นอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย รวมทั้งมีสารก่อมะเร็งด้วย นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นจุดเริ่มต้นในการเสพติดบุหรี่หรือสารเสพติดประเภทอื่นๆ ในเด็กและเยาวชนด้วย” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว ปัญหาเกี่ยวกับ “บุหรี่ไฟฟ้า” ที่นอกจากจะเกิดความเข้าใจผิดในเรื่องของการใช้เป็นสิ่งทดแทนเพื่อลดละเลิกบุหรี่แล้ว เรื่อของ “แพ็คเก็จจิ้ง” และ เรื่องของ การชี้ชวน โดยผู้ผลิต ทั้งแบบทางตรง และแบบแฝง ก็เป็นอีกส่วนสำคัญ ที่มีผลต่อการหันมาบริโภคบุหรี่ไฟฟ้ากันมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งมาจากการใช้ช่องว่างเกี่ยวกับความเข้าใจ ถึง”ประโยชน์” และ “โทษ” ของบุหรี่ไฟฟ้า ที่คลาดเคลื่อน บิดเบือนข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อประโยชน์ทางการตลาด ซึ่งโดยผลสรุปจากข้อมูลที่เปิดเผยโดยหน่วยงานต่างๆ รวมถึง กรมควบคุมโรคที่เปิดเผยออกมาแล้ว ชัดเจนว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” แทบไม่มีประโยชน์ในการบริโภคเลย อีกทั้งยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557 ซึ่งหากมีผู้ฝ่าฝืนนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามายังประเทศไทย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบสินค้าเหล่านั้นรวมถึงพาหนะที่ใช้บรรทุกสินค้านั้นด้วย และคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ 9/2558 ห้ามขาย หรือห้ามให้บริการสินค้า บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีโทษสำหรับผู้ขาย ผู้ให้บริการ โดยจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ฝ่าฝืนเป็นผู้ผลิต ผู้สั่ง ผู้นำเข้าเพื่อขาย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อเป็นเช่นนี้ บทสรุปสุดท้ายเกี่ยวกับ “บุหรี่ไฟฟ้า” จึงกลายเป็น ของที่ “ให้โทษ” อย่างชัดเจน รวมถึงยังเป็น “สินค้าผิดกฎหมาย” ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งป้องกันและปราบปราม รวมถึงการรณรงค์ให้ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนได้รู้จักถึง “โทษ” ของ “บุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อหักล้างความเข้าใจที่บิดเบือน และป้องกันไม่ให้เกิดการชี้ชวนไปในทางเพื่อการบริโภค ลดแน้วโน้มการบริโค และลดจำนวนการบริโภค เพื่อให้บุหรี่ไฟฟ้าหมดไปจากสังคมไทย