สักหน้าลายบวชได้หรือไม่? ฟังธรรมจาก“เจ้าคุณพิพิธฯ” ตอบดราม่าโลกโซเชียล

สักหน้าลายบวชได้หรือไม่? ฟังธรรมจาก“เจ้าคุณพิพิธฯ” ตอบดราม่าโลกโซเชียล


“ในวงการศาสนาก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีพระแล้วมีลักษณะแบบนี้ถามว่าญาติโยม หรือ พุทธศาสนิกชนทั่วไปจะคิดอย่างไร ศรัทธาเลื่อมใสหรือไม่ ?”

วันนี้ “THAIQUOTE” ไขความกระจ่างจากมุมมของพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ ถึงคำถามจากชาวโซเชียล กรณี “รอยสัก” ว่า “บวชได้หรือไม่” จาก “พระราชวิจิตรปฏิภาณ” หรือท่านเจ้าคุณพิพิธฯ  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ว่า “เรื่องของรอยสักนี่ต้องทำความเข้าใจก่อน การสักยันต์เพื่อแคล้วคลาดคงกระพัน ในอดีตก็จะเป็นที่นิยมกันของบรรดานักรบ ตำรวจ ทหารต่าง ๆ โดยสักยันต์ในจุดสำคัญที่เป็นจุดคอขาดบาดตาย โดยใช้ว่านหนังเหนียว 10 กว่าชนิดผสมลงในหมึก หรือเรียกสักน้ำมัน เพื่อเอาว่านฝังไว้ใต้ผิวหนัง นี่คือจุดประสงค์สำคัญ และการสักในลักษณะนี้จะสักไว้ตามจุดสำคัญ เช่นกลางกระหม่อม ก้านคอ ไหล่ รักแร้ อกหน้าอกหลัง ก็จะสักกันเท่านี้ ถ้าเป็นกลางกระหม่อมก็จะไม่ให้ปรากฏเป็นยันต์ นี่คือจุดประสงค์หลักการสักยันต์ทั่วๆ ไป ส่วนกรณีที่เป็นกระแสว่ามีคนสักแล้วมาขอบวช นี่เรียกเป็นการสัก Tattoo เพื่อความสวยงามเพื่อความสะใจ เพื่อความโก้ความกร่าง เพื่อการเข้าพวกเข้ากลุ่มเข้าแก๊งค์ เป็นสัญลักษณ์ว่าอยู่กับใคร? แก๊งค์ไหน? เรื่องของการสักแบบนี้ถ้าอยู่ในร่มผ้าก็เป็นเรื่องปกติ เพราะเข้าสังคมได้ แต่ถ้าสักแขนลายเป็นแบบสารพัดลามมาจนถึงใบหน้า ที่กลายเป็นประเด็นว่าถูกไล่กลับไม่ให้บวช  จริง ๆ แล้วพระท่านก็คงไม่ได้ไล่ แต่แค่ปฏิเสธในการบวช เพราะถ้าพิจารณาจากเหตุและผลผู้ที่เข้าขอบวชแล้วสักแบบนี้ ถามว่าถ้าใครรับบวช เมื่อได้บวชแล้วจะเป็นชื่นชมของสังคมทั่วไปหรือไม่? ใครเป็นอุปัชฌาย์จะตอบคำถามยังไง? สังคมเองที่มีคนแสดงความเห็นก็ต้องชี้แจงเรื่องนี้ให้ได้ก่อน  ในสื่อสารมวลชนก็เช่นเดียวกันลองเอาคนแบบนี้มาเป็นนักข่าว เป็นพิธีกร ถึงจะมีความรู้ความสามารถตรงตามวิชาชีพ แต่ถามว่าเหมาะสมหรือไม่? สังคมยอมรับตรงนี้ได้หรือไม่ ในวงการศาสนาก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีพระแล้วมีลักษณะแบบนี้ถามว่าญาติโยม หรือ พุทธศาสนิกชนทั่วไปจะคิดอย่างไร ศรัทธาเลื่อมใสหรือไม่ ? ถ้ามองตรงนี้ความเห็นแก่ตัวก็ต้องคิดถึงส่วนรวมคือพระศาสนาด้วย ฉะนั้นเมื่อเจ้าอาวาสรับบวชก็ต้องไปฝากกับเจ้าคณะอำเภอก่อน พระปกติเวลาจะบวชเจ้าอาวาสจะเป็นผู้คัดกรองอันดับแรก ถ้าเจ้าอาวาสเป็นพระอุปัชฌาย์ด้วยก็ต้องคัดกรองเป็นชั้นที่สอง ถ้าเจ้าอาวาสไม่ใช่พระอุปัชฌาย์ก็ต้องให้พระอุปัชฌาย์ดูตัวก่อน ขณะที่คณะสงฆ์ที่ลงสังฆกรรมเป็นการคัดกรองอันดับสาม เมื่อบวชมแล้วก็ต้องไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ แล้วต้องมีคุณสมบัติในการบวช ซึ่งภิกษุจะถามอันตรายิกธรรมกับอุปสัมปทาเปกขะ (ผู้มุ่งจะบวช) เมื่อทราบว่าไม่มีอันตรายิกธรรมดังกล่าว จึงจะอุปสมบทได้ ในกรณีนี้เป็นผู้ชายหน้าสักลายเต็มหน้าจะมาขอบวช แม้จะไม่ผิดกับข้อคุณสมบัติแต่รูปร่างลักษณะบวชไม่ได้ ปกติแล้วแม้จะขัดต่อคุณสมบัติการอุปสมบทที่บัญญัติไว้แต่ไม่มากก็จะเข้าข้ออนุโลม อาทิ มือหงิก ขาเป๋ (ที่ไม่ถึงกับเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติสังฆกิจ ศาสนกิจ) และไม่เป็นที่เยาะเย้ยของต่างศาสนา  ซึ่งสามารถที่จะยังเป็นที่เลื่อมใสของศาสนิกชนได้ พระท่านก็จะบวชให้ ส่วนกรณีเรื่องของสักหน้าลายแล้วมาขอบวชนั้น ไม่ได้อยู่ในพระธรรมบัญญัติที่ว่าบวชไม่ได้ ข้อนี้เป็นเรื่องข้อวินิจฉัยส่วนตัวของพระอุปัชฌาย์ว่าคนแบบนี้เหมาะหรือไม่ที่จะบวชให้ ถ้าวินิจฉัยว่าบวชมาแล้วจะมีผลต่อภาพลักษณ์ของคณะสงฆ์โดยรวม ก็เป็นสิทธิ์ที่จะไม่บวชให้ได้ ยกตัวอย่างสักแค่แขนแต่ลายไปทั้งแขนบางครั้งก็ยังบวชให้ แม้แต่สักกันถึงใต้คางก็ยังบวชให้ แต่ถ้าทั้งใบหน้าแสดงถึงอุปนิสัยใจคออย่างไร อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นถึงเรื่องของการวางแผนอนาคต ถ้าเป็นผู้ชาย แล้ววางแผนไว้ว่าจะบวชก็ไม่ควรที่จะสักขนาดนี้ โดยเฉพาะถ้าจะอ้างว่าบวชทดแทนพระคุณพ่อ-แม่ ก็ต้องถามกลับว่าตอนสักพ่อ-แม่มองอย่างไร คิดอย่างไร มองหน้าลูกได้ภาคภูมิใจแค่ไหน  ถ้าคิดว่าพ่อ-แม่ยังอับอายก็ไม่ควรที่จะมาสร้างความอับอายให้กับคณะสงฆ์ โดยการอ้างว่ากตัญญูหรืออยากเป็นคนดี ต้องถามกลับไปที่พ่อ-แม่ก่อนว่าอับอายหรือไม่กับรอยสักแบบนี้ ถ้าอับอายก็อย่าเอาเรื่องแบบนี้มาโยนใส่วัด อย่าบังคับพระรับเรื่องแบบนี้มา ถือว่าเป็นการทำบาป เป็นการทำลายภาพลักษณ์ของพระศาสนา เรื่องรอยสักบนใบหน้าถามว่าบวชได้หรือไม่ จริง ๆ แล้วเรื่องการบวชถึงบวชได้ก็อยู่ไม่ได้ โลกก็ติเตียน เพราะเดี๋ยวเวลาคนเห็นก็จะพูดกันไปอย่างโน้นอย่างนี้ ตรงนี้ก็ต้องเห็นใจพระในวัดรูปอื่น ๆ ด้วย ส่วนนักวิชาการที่ออกมาระบุว่าเป็นสิทธิ์ อันนั้นก็ต้องพิจารณาไปถึงสิทธิ์ของพระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาส พระรูปอื่นๆ และสิทธิ์ในภาพลักษณ์ของพระศาสนาด้วย จะมองมุมเดียวไม่ได้ ถ้าสมมุติพระอุปัชฌาย์บวชให้ชาวบ้านจะมองยังไง พระอุปัชฌาย์กับเจ้าอาวาสจะตอบคำถามอย่างไร? จะเป็นคุณต่อพระศาสนาหรือไม่?  อาตมายกตัวอย่างวัดสุทัศน์ฯที่เป็นวัดหลวง ถ้ามีพระรูปใดสักยันต์แขนลายมาเลยครึ่งแขนก็หมดสิทธิ์ที่จะได้ขึ้นเป็นเจ้าคุณ และสักหน้าลายแบบนี้หมดสิทธิ์ที่จะบวชที่นี่ เพราะที่นี่เป็นวัดหลวง เป็นวัดสำคัญที่มีบุคคลสำคัญของประเทศต้องแวะเวียนมาเยือน พระที่วัดนี้ก็จะต้องสำรวม ต้องมีลักษณะที่เป็นพระที่เหมาะสมกับบวรพุทธศาสนา สุดท้ายก็อยากจะฝากเตือนคนที่จะสักก็ขอให้คิดให้ดี โดยเฉพาะในเด็กวัยรุ่นต้องคิดถึงอนาคตเมื่อสักไปแล้วจะอายุเท่าไหร่ก็ตามที ต้องคิดถึงอนาคตว่าจะทำงานอะไร? จะออกสังคมอย่างไร? สักลายขนาดเกินงามแบบนี้ถึงจะมีความสามารถแค่ไหน ถามว่าทางราชการรับเข้าเป็นข้าราชการหรือไม่? เมื่อราชการยังไม่รับพระไม่รับผิดตรงไหน ใครจะสักอะไรก็ต้องคิดถึงอนาคตเอาไว้ อย่าเห็นแก่ความสนุกทำตามกันไป ถ้าสักแล้วไม่ได้มีผลตามแบบโบราณคือความขลังความศักดิ์สิทธิ์ที่ได้กล่าวมาในข้างต้นแล้ว จะสักไปเพื่ออะไร? วัยรุ่นทั้งหลายขอให้คิดยาวๆ ถามง่าย ๆ ว่าสักแบบนี้ สักแบบเกินไปขนาดนี้ สอบทหารได้หรือไม่ สอบได้แต่ก็เป็นไม่ได้ สังคมอยากเห็นทหาร-ตำรวจสักยันต์ขนาดนี้หรือไม่? ง่าย ๆว่าถ้าราชการยังไม่รับแล้วพระไม่รับได้หรือไม่? ฉะนั้นเมื่อพระไม่รับ ก็ไม่ใช่ความผิดของพระ ใครก็ตามที่เห็นว่าควรให้โอกาสก็ต้องมองให้เห็นภาพลักษณ์ของพระพุทธศาสนาด้วย อย่าให้ความเห็น โดยไม่รับผิดชอบต่อคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนา ฉะนั้นวัยรุ่นหรือใครก็ตามที่คิดจะสักแบบนี้ขอให้คิดให้ดี อย่ามองภาพของดารา นักแสดง หรือแม้แต่นักกีฬาในต่างประเทศ แล้วนำเอามาเป็นแบบอย่างต้องเข้าใจก่อนว่านั่นเขาไม่ได้มาเกี่ยวอะไรกับพระพุทธศาสนาเขาก็ดำรงชีวิตตามแบบของเขา อันนั้นจะเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้  และจากนี้ไปคณะสงฆ์ก็ควรต้องเพิ่มคุณลักษณะของผู้ที่จะบวชด้วยเพื่อให้เกิดความสง่างาม ความน่าเลื่อมใส่ศรัทธา เป็นการช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่เหมาะสมให้กับพระพุทธศาสนาด้วย