ล่าสุด มีการดำเนินการ โครงการ “SMEs ติดปีก”ส่งเสริมการจัดจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการ SMEs และสินค้าท้องถิ่น ยกระดับสินค้าท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ผ่านท่าอากาศยาน 28 แห่งทั่วประเทศ และบนสายการบินไทยสมายล์ ระหว่าง 5 หน่วยงาน คือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.),กรมท่าอากาศยาน (ทย.),สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.),กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และสายการบินไทยสมายล์ นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) เปิดเผยว่า จากการที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ( CIV) โดยจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าให้ได้มาตรฐาน เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า ภายในท่าอากาศยาน และบนสายการบินไทยสมายล์ เป็นการดำเนินการที่อย่างเป็นรูปธรรม “หากสามารถพัฒนาความร่วมมือนี้ภายในพื้นที่ท่าอากาศยานต่อเนื่องไปสู่นำเอารูปแบบของ “ตลาดคลองผดุงฯ” มาใช้ โดยหมุนเวียนให้ผู้ประกอบการจัดจำหน่ายสินค้าของตนเองในพื้นที่ดังกล่าวในระยะเวลาตามที่กำหนด เพื่อให้ผู้ประกอบการของชุมชนมีโอกาสได้เข้าถึงตลาด และนักท่องเที่ยวได้เท่าเทียมกัน ซึ่ง ธพว.พร้อมที่จะสนับสนุนสินเชื่อ “ธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชน” จำนวน 7.5 พันล้านบาท สำหรับธุรกิจที่ตั้งในแหล่งท่องเที่ยวหรือในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรร (CIV) ธุรกิจที่พัก ร้านอาหาร ในวงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อราย แต่หากเป็นบุคคลธรรมดาที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานภาครัฐจะขอสินเชื่อต่อรายได้ไม่เกิน 5 ล้านบาท ส่วนนิติบุคคลจะขอวงเงินสินเชื่อต่อรายได้ไม่เกิน 15 ล้านบาท” สำหรับขั้นตอนการคัดเลือกผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการ “SMEs ติดปีก“ นั้น 1.จะต้องเป็นผู้ประกอบการในชุมชน หรือพื้นที่ 28จังหวัดที่มีท่าอากาศยานตั้งอยู่ 2.จะต้องเตรียมความพร้อมร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และมี สมอ.ให้การรับรองมาตรฐานของสินค้า 3.การสร้างภาพลักษณ์ของสินค้า โดยมีสายการบินไทยสมายล์แนะนำ ซึ่งจะเป็นภาพลักษณ์แบบสากล สร้างความน่าเชื่อถือให้กับนักท่องเที่ยวและผู้บริโภค โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 2-3 เดือนนับจากนี้ ซึ่งขณะนี้มีสินค้าส่วนหนึ่งที่มีความพร้อมต่อหลักเกณฑ์ดังกล่าว ด้านนายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กล่าวว่า ทย.มีแผนการที่จะพัฒนา tourist airport ในพื้นที่ท่าอากาศยาน น่าน,ระนอง และบุรีรัมย์ โดยเพิ่มเติมสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการ เช่น ข้อมูลการท่องเที่ยวในพื้นที่ หนุนการเดินทางท่องเที่ยวสะดวก รวดเร็ว ประหยัด กระจายรายได้ไปสู่ผู้ประกอบการท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน การเข้าร่วมโครงการ SMEs ติดปีก ทย.จะจัดสรรพื้นที่ในท่าอากาศยานเพื่อให้ผู้ประกอบการชุมชนที่ผ่านการคัดเลือกหมุนเวียนจัดจำหน่ายสินค้า ซึ่งจะไม่กระทบต่อร้านค้าในพื้นที่เดิม เนื่องจากร้านค้าเดิมบางส่วนได้ทยอยหมดสัญญาในทุก 28 สนามบิน อย่างเช่น ท่าอากาศยานอุบลราชธานี ซึ่งพร้อมที่จะดำเนินการตามโครงการดังกล่าวได้ ซึ่ง ทย.จะทยอยจัดพื้นที่ตามโครงการดังกล่าวต่อไป โดยมีอัตราค่าเช่าพื้นที่ในราคาที่ต่ำสุด “แนวคิดของ “คลองผดุงโมเดล” นั้น จะต้องมีการหารือถึงความเป็นไปได้ วางแผนการทำงานร่วมกันอีกสักระยะหนึ่ง หากมีการใช้พื้นที่ของท่าอากาศยาน จะต้องเป็นพื้นที่นอก terminal ที่มีข้อจำกัดเรื่องของความปลอดภัยและมาตรฐานการบิน โดยหากการหารือมีข้อสรุป ทย.พร้อมที่จะจัดแบ่งพื้นที่ที่นอกเหนือจากการใช้ประโยชน์เพื่อกิจการท่าอากาศยานแล้ว นำมาดำเนินการต่อไปได้ โดยเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆได้ใช้พื้นที่ อาจจะเป็นรูปแบบคลองผดุงฯ หรือรูปแบบอื่นๆจะต้องมีการหารืออีกครั้งหนึ่ง” อย่างไรก็ตาม เรื่องของ “คลองผดุงโมเดล” นั้น ยังคงเป็นเพียงแค่แนวคิดที่จะต้องมีการหารือระหว่างหน่วยงานต่อไป แต่ระยะเวลา 2-3 เดือนนับจากนี้ เราจะได้เห็นผู้ประกอบการคนตัวเล็ก ได้มีโอกาสจำหน่ายสินค้าชุมชนภายในสนามบินทั้ง 28 แห่งอย่างแน่นอน ที่สำคัญจะไม่มีการผูกขาดผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งเพียงรายเดียว แต่จะสร้างความเท่าเทียมให้กับผู้ประกอบการ SMEs ทุกรายในจังหวัดที่ตั้งของพื้นที่ 28 สนามบินในความดูแลของกรมการท่าอากาศยาน