หลายคนคงสงสัย แม้จะมีข้อมูลออกมาว่าการเลือกเรียนในสายวิชาชีพ อาชีวศึกษา มีแนวโน้มการได้งานทำที่สูงกว่าการเรียนในระดับปริญญาตรี หรือแนวโน้มของการได้เงินเดือนที่สูงกว่าแต่แล้วในปัจจุบันกลับพบว่า ถึงจะเลือกเรียนในสายวิชาชีพแล้วเมื่อจบออกมาแต่ก็ยังคงหางานได้ยากอยู่ ไปค้นหาคำตอบจากบทความของ ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สถานการณ์ตลาดแรงงานของไทยเริ่มมีกำลังแรงงานลดลง โดยปี 2559 มีกำลังแรงงาน 38.7 ล้านคน ปีปัจจุบันเหลือ 37.8 ล้านคน หายไปจากตลาดประมาณ 1 ล้านคน การที่กำลังแรงงานลดลงแต่ความต้องการแรงงานในภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังใช้แรงงานแบบเข้มข้น ทำให้ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 3 แสนคน แต่จำนวนดังกล่าวไม่สามารถตอบสนองความต้องการในตลาดแรงงานได้ครบถ้วนทำให้ยังขาดแคลนแรงงานอยู่มากกว่า 1.8 แสนคนต่อปี การขาดแคลนกำลังแรงงานเรื้อรังมานาน เป็นผลจากการที่ภาคการผลิตที่แท้จริง (real sectors) ยังคงปรับเปลี่ยนโครงสร้างช้ามากเนื่องจากสามารถใช้นโยบายพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ คือ เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา เกือบ 3 ล้านคน กระจายอยู่แทบทุกสาขาการผลิตและบริการของสถานประกอบการของเอกชน ทั้งนี้แรงงานคนไทยเข้าไปแทนที่ (replacement) น้อยมาก เนื่องจากกำลังแรงงานของไทยไม่ชอบงานหนัก งานยากลำบาก และงานสกปรก แต่กลับเลือกตกงานมากกว่าจะไปทำงานทดแทนแรงงานต่างด้าวหรือเลือกเดินต่อไปในสายปริญญา โดยเชื่อว่าจะมีความก้าวหน้าได้รับค่าตอบแทนที่ดี จะมีอนาคตที่ดีกว่า จากการประเมินของ TDRI พบว่า ตลาดแรงงานในช่วง 10 ปีข้างหน้า แรงงานระดับกลางในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างปี 2558 ถึงปี 2568 เติบโตค่อนข้างช้ามากจาก 7 แสนคนเป็น 1 ล้านคนหรือเติบโตเพียงปีละ 3 หมื่นคน ขณะที่แนวโน้มแรงงานไทยในระดับ ปวส. และอนุปริญญา เติบโตจาก 1 ล้านคนเป็น 1.1 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งแรงงานในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในกลุ่ม STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์ และสถิติ) ซึ่งเป็นแรงงานพื้นฐานของเศรษฐกิจตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 และเศรษฐกิจดิจิทัล สำหรับภาพที่ปรากฏในตลาดแรงงานสายอื่นๆที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (S&T) จะแตกต่างกันคือ ความต้องการบุคลากรในสายธุรกิจและบริการและสาขาอื่นๆ ในระดับ ปวช. เพิ่มสูงมากจากประมาณ 0.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคนในช่วงเวลา 1 ทศวรรษประมาณปีละ 1.2 แสนคน แต่ความต้องการของตลาดแรงงานในระดับ ปวส. และอนุปริญญาในสาขาที่ไม่ใช่ S&T กลับมีแนวโน้มลดลงจากประมาณ 0.8 ล้านคนเหลือ 0.6 ล้านคน ผลจากการที่อุปสงค์เพิ่มน้อยกว่าอุปทานก็คือจะทำให้ ปวส. และอนุปริญญาสายที่ไม่ใช่ S&T ว่างงานจำนวนมากก็เป็นไปได้ คำถามคือกำลังคนส่วนที่หายไปในตลาดแรงงานไปไหน คำตอบคือไม่ได้หายไปไหนแต่ได้ผันตัวเองไปเรียนในระดับปริญญาตรี (ตามนโยบายเพิ่มจำนวนนักศึกษาของมหาวิทยาลัย) โดยไม่ได้เรียนผ่าน ปวส. ซึ่งทำให้แนวโน้มของแรงงานเพิ่มจาก 3.01 ล้านคน เป็นเกือบ 6 ล้านคนในช่วงเวลา 10 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกันกับผู้เรียน ปวช. สาย S&T บางส่วนผันตัวเองไปเรียนระดับปริญญาตรี ทำให้จำนวนแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 1.15 ล้านคนในปี 2558 เป็น 2.4 ล้านคนในปี 2568 หรือเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน ถ้าดูจากผลการพยากรณ์ดังกล่าวนี้ จะพบว่าขณะที่ภาคเศรษฐกิจมีการเติบโตไปในทิศทางที่ต้องใช้กำลังคนด้าน STEM มากขึ้น นักศึกษาที่จบสาย S&T จึงมีโอกาสที่จะได้รับการจ้างงานมากกว่าผู้เรียนสาย Non-S&T ความหวังจึงอยู่ที่การขยายตัวของภาคบริการของประเทศทั้งในส่วนของบริการขายส่ง ขายปลีกและซ่อมบำรุง และงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ (ถ้าไม่เลือกงาน) น่าจะเป็นโอกาสให้คนไทยได้เข้ามาสมัครงานมากขึ้น อย่างไรก็ตามตำแหน่งงานที่มีแนวโน้มการจ้างงานลดลง ได้แก่ งานในอุตสาหกรรมการผลิต การก่อสร้าง และการเกษตร ในส่วนของการจ้างงานเพิ่มขึ้น จะอยู่ในตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับ การค้าส่ง ค้าปลีก และซ่อมบำรุง ,ภาคบริการอย่าง โรงแรม ที่พัก และร้านอาหาร ,ภาคกิจกรรมที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ,ภาคการศึกษา