หมูย่างเมืองตรัง..ถึงคราวต้องปรับตัว!!

หมูย่างเมืองตรัง..ถึงคราวต้องปรับตัว!!


“หมูย่างเมืองตรัง” คืออาหารโด่งดังเป็นสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” หรือ Geographical Indications : GI หมายความว่าสร้างโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน มีอัตลักษณ์ของชุมชน ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น สร้างสรรค์ด้วยสูตรเฉพาะตัว และมีเพียงแห่งเดียวในโลก

เพราะฉะนั้นหากต้องการลิ้มรส ‘หมูย่างเมืองตรัง’ ก็ต้องไปที่เมืองตรังเท่านั้น หรือหากมีการเปิดขายต่างพื้นที่ก็ต้องระบุอย่างชัดเจนว่าเป็น “หมูย่างสูตรเมืองตรัง”

ด้วยความนิยมเป็นที่แพร่หลายทำให้ผู้ประกอบการหมูย่างเมืองตรังในจังหวัดตรัง ผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งกรรมวิธีการทำเป็นศิลปะโบราณสูตรดั้งเดิมนับตั้งแต่บรรพบุรุษ สอดคล้องลงตัวทั้งเรื่องของขนาด เวลา หรือวิธีการปรุง โดยต้องฆ่าหมูในช่วงเย็นเพื่อย่างในช่วงกลางคืน ภายใน 2 ชั่วโมง เพื่อให้รสชาติดี และต้องเป็นหมูขนาดเล็กเท่านั้น

อย่างไรก็ตามภายหลังที่กรมปศุสัตว์ได้นำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการฆ่าสัตว์การจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 ซึ่งมีสาระสำคัญกำหนดเรื่องการฆ่าสัตว์ การชำแหละเนื้อสัตว์ สถานที่ตั้งโรงฆ่าสัตว์ และโรงพักสัตว์ โดยเฉพาะการห้ามมิให้ผู้ใดฆ่าสัตว์นอกโรงฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ หากฝ่าฝืนจะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ โดยหลังจากมีการนำพ.ร.บ.ดังกล่าวมาบังคับใช้เกือบ 1 ปี ได้สร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการหมูย่างในจังหวัดตรัง เนื่องจากไม่สามารถใช้วิถีดั้งเดิมในการย่างหมูได้อีก

โดยผู้ประกอบการรายหนึ่งสะท้อนปัญหาว่า  จากเดิมการฆ่าหมูจะทำในบ้านคือฆ่าในช่วงเย็นและย่างในช่วงกลางคืนภายใน 2 ชั่วโมง แต่เมื่อพ.ร.บ.กำหนดว่าต้องนำไปฆ่าในโรงฆ่าสัตว์ ก็ต้องใช้เวลาในการขนส่งไปยังโรงฆ่าสัตว์ และที่สำคัญโรงฆ่าสัตว์เปิดทำการในช่วงกลางวัน เมื่อฆ่าแล้วกว่าจะนำมาย่างต้องใช้เวลานานเกินกว่า 2 ชั่วโมง ทำให้สูตรหมูย่างเมืองตรังผิดเพี้ยนไป นอกจากนี้หมูขนาดเล็กที่เหมาะสำหรับการย่างไม่สามารถนำไปฆ่าที่โรงฆ่าสัตว์ได้ เนื่องจากเครื่องฆ่าสัตว์มีขนาดใหญ่ทำได้เฉพาะหมูขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 70 กิโลกรัมขึ้นไปเท่านั้น

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการมองว่า ข้อกำหนดต่าง ๆของพ.ร.บ.ดังกล่าวสวนทางต่อภูมิปัญญาดั้งเดิม บางรายต้องปิดกิจการเพราะไม่สามารถปฏิบัติตามได้

จากข้อมูลพบว่าในพื้นที่จ.ตรัง มีโรงฆ่าสัตว์ 7 แห่ง และที่ได้มาตรฐานมีแค่ 4 แห่งเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนหมูที่ต้องฆ่าและชำแหละในแต่ละวัน ซึ่งการฆ่าหมูเพื่อขายเนื้อสดกับฆ่าหมูเพื่อทำหมูย่างมีวิธีการต่างกัน ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างศึกษาและหาทางออกร่วมกันเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการหมูย่างเมืองตรังให้รอดพ้นจากวิกฤติ

สำนักข่าว THAIQUOTE ได้สอบถาม พิชัย มะนะสุทธิ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง ได้รับคำตอบว่า หอการค้าอยู่ระหว่างการพูดคุยกับผู้ประกอบการและรวบรวมข้อมูลเพื่อร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัดหาทางออกในเรื่องนี้ โดยยอมรับว่าข้อกำหนดของกฎหมายส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการจะสามารถปรับตัวเพื่อเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้