“โคเรียคิง” ธุรกิจโยงใยกำไรพันล้าน ปปง.- ดีเอสไอ ไม่สนใจเหรอ?

“โคเรียคิง” ธุรกิจโยงใยกำไรพันล้าน ปปง.- ดีเอสไอ ไม่สนใจเหรอ?


เป็นเรื่องที่ทำท่าจะไม่จบลงง่าย ๆ ซะแล้ว สำหรับ “กระทะโคเรียคิง” ที่โด่งดังในโลกโซเชียลมาเกือบสัปดาห์ ก่อนหน้านี้ว่ากันถึงตัวผู้บริหารที่นำเข้า ซึ่งทาง  1577 โฮมชอปปิ้งก็ออกมายอมรับแล้วว่า ความเกี่ยวพันกับกระทะยี่ห้อนี้ของผู้บริหาร อยู่ในสถานะ “ผู้นำเข้ามากระทะแพงจากประเทศเกาหลี”

แน่นอนว่าต้นทุนการนำเข้าจากเกาหลีตามเสียงสวดจากเหล่าชาวไซเบอร์ ที่สรุปกันออกมาว่าราคาต้นทุนน่าจะอยู่แถว ๆ 300 กว่าบาทไทย จริงเท็จประการใดก็คงต้องไปสืบไปเสาะหาต่อกันเอาเอง ลากไส้มาจนหมดจดถึงชื่อของผู้บริหาร ผู้นำเข้ากับความเกี่ยวพันในกระทะเจ้าปัญหาใบนี้กับ หนุ่มนักบริหารมากความสามารถหน้าตาออกแนวเกาหลีที่ชื่อ “จุล โชติกะวรรณ” ที่บังเอิญว่าไปมีชื่อเป็นผู้มีอำนาจลงนามใน บ.โคเรียคิง (อ้างอิงจากการจดทะเบียนผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า)

ไหน ๆ ก็ลากมาถึงจุดนี้แล้ว เมื่อกระแส “กระทะโคเรียคิง” ลุกลามออกไปลากมาถึงนี่ก็ต้องลากต่อให้เสร็จ 1577 โฮมชอปปิ้ง กับ “จุล โชติกะวรรณ” ที่ไม่รู้ไปเกี่ยวพันกันได้ยังไง และเป็นผู้นำเข้าตามที่เจ้าหน้าที่ 1577 กล่าวอ้างจริงหรือไม่ ยังคงเป็นคำถามที่ต้องรอคำตอบต่อไป

แต่ชื่อถัด ๆมาอย่าง  “ณัฐวุฒิ หิรัญพันธุ์ทิพย์”  ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิโดริ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ที่ปรากฏหลังการเสิร์ชข้อมูลจากกูเกิลขึ้นหรามาในฐานะแหล่งข่าวของสื่อที่ไปให้สัมภาษณ์ระบุว่าเป็น “ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการวางกลยุทธ์การตลาด กระทะโคเรียคิง”

ว่ากันตามภาษาชาวบ้าน “ผู้อยู่เบื้องหลังการวางกลยุทธ์ทางการตลาด” จะเป็นเรื่องของผู้ตั้งราคาด้วยหรือเปล่า ถ้าตามความเข้าใจภาษาชาวบ้านก็อาจจะเป็นไปได้ ย้ำว่า “อาจจะ” แต่แล้วก็มีความเกี่ยวพันเข้ามากับ บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ที่มีชื่อของกรรมการที่ชื่อ  “วรเดช ปัญญาภูมิ” พันเข้าไปอีก

“บริษัท วิซาร์ด” ได้รับการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง เมื่อวันที่ 7 ม.ค.59 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องใช้ในครัวเรือน (กระทะโคเรีย คิง) ซึ่งในเอกสารประกอบการจดทะเบียนระบุราคาขายไว้ 15,000 บาท นำเข้าและจัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภค

เอาละสิ …คร่าวนี้ก็พันพัวกันไปหลายบริษัท แล้วจะเริ่มต้นจากตรงไหน คนนำเข้า คนทำการตลาด คนขาย เอาคนไหน แล้วใครต้องรับผิดชอบ เมื่อวันนี้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ถูกตามจี้ติดโดยมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค อาจจะต้องได้ “จ่ายเงินคืนให้กับผู้บริโภค” ที่เป็นข่าวในโลกโซเชียล ตามที่ THAI QUOTE นำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้

แถมพ่วงท้ายด้วยความพยายามตามจี้ไปที่กรมการค้าภายใน และกระทรวงพาณิชย์ เอาผิดต่อเรื่อง”ค้ากำไรเกินควร”  งานนี้เรียกได้ว่าทั้งเรื่องยาวทั้งงานเข้า ผู้เกี่ยวข้องโคเรียคิงกันเลยทีเดียว

แต่มีคำถามที่ว่า “หากเกิดกรณีจะต้องรับผิด ทั้งคืนเงินและทั้งข้อหาต่าง ๆ ที่อาจจะตามมาในอนาคตจริง” ใครต้องรับผิดชอบ เพราะเรื่องราวของ “กระทะโคเรียคิง” พัวพันโยงไปหลายบริษัท มีตัวละครที่เกี่ยวข้องมาหลากหลาย และยังอาจจะมีอีกหลากหลายที่รอให้สืบค้นต่อไปในอนาคต

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและค่อนข้างชัดเจนในวันนี้ คือลักษณะของการทำการตลาดแบบค่อนข้าง “ฮาร์ดคอร์” และอาจหมิ่นเหม่ต่อจริยธรรมและธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ แถมมีลักษณะเป็นเครือข่ายโยงใยพัวพัน ซึ่งก็ไม่แปลกที่จะชาวเน็ตหลายคนจะเริ่ม ๆ ออกมากระแซะให้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. รวมถึง กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI  ลงมาแตะๆ ดมๆ เรื่องนี้หน่อย

เพราะจะว่าไปเรื่องธุรกิจที่โยงใยพัวพันกันเป็นใยแมงมุมแบบนี้ มันก็อาจจะดูแปลก ๆ ใช่หรือไม่? แปลกว่า บริษัทและตัวละครที่เกี่ยวข้องแค่ลากออกมาพอให้เห็นเป็นกษัยแค่ 3-4 บริษัท ซึ่งจากข้อมูลบนสื่อออนไลน์หลายแห่ง ลากออกมาได้เกือบ 20 บริษัทพันพัวไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ทั้ง ธุรกิจขายตรง เครื่องสำอาง  อาหารเสริม อุปโภคบริโภค ผ่าน  CALL CENTER และ ออนไลน์ รายได้ปีละเป็นพันๆ ล้าน  แถมผุดงอกบริษัทใหม่ๆ ออกมาอีกเรื่อยๆ แบบนี้ ไม่งงไม่สงสัย ไหวเหรอ ?

งานนี้ไม่รู้ปปง.กับ DSI จะสนใจเอาด้วยหรือเปล่า เกิดจับผลัดจับผลูเห็นความแปลก หรือได้กลิ่นอะไรไม่ดีขึ้นมา ก็เรียกได้ว่า “งานเข้า !” กันเลยทีเดียว จากเรื่องอาจจะแค่ ขายกระทะแพงเกินไป ฟันกำไรแบบน่าเกลียด ที่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรคงต้องรอผล อาจลุกลามบานปลายกลายเป็นเรื่องที่สังคมต้องอึ้ง แบบนี้ก็เป็นไปได้

ที่แน่ ๆ ใกล้ ๆ ตัวจับต้องได้ หากสคบ.ฟันธงว่าต้องคืนเงินผู้บริโภค ตัวละครตัวไหน บริษัทไหน จะต้องเป็นคนรับผิดชอบ เอาให้แน่ๆ นะ