ที่นี่ประเทศไทย จับพลัดจับผลูเป็นอะไรก็ไม่น่าจะลำบากลำบนต้องทนทุกข์ระทมหนักหนาสาหัสเท่ากับ เป็นลูกหนี้แบกหนี้อ่วมอรทัย โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อย…ลูกหนี้บัตรเครดิต…ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล
ประตูความทุกข์ระทมบานใหญ่ เปิดอ้าซ่าต้อนรับลูกหนี้ ตั้งแต่แรกเริ่มที่เริ่มต้นลงมือก่อหนี้ เมื่อถูกเจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารบอกให้กรอกแบบฟอร์มคำขอเป็นหนี้ พร้อมๆกับบอกให้จรดปากกาลงนามยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ที่สะสมอยู่ในบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัดแบบหมดเปลือก..เปลือยล่อนจ้อน ในลักษณะ “บังคับจำยอม”
แสบสันสาหัสสากรรจ์ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ผลจากการจำยอม เพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ในการเป็นลูกหนี้ จะทำให้ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน ที่เป็นเจ้าหนี้ ได้สิทธินำเอาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกหนี้ จากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัดไปใช้ได้อย่างอิสรเสรีเหนืออื่นใด ด้วยความถูกต้อง ชอบธรรม โดยลูกหนี้ ไม่มีสิทธิ์มีเสียงไปหวงไปห้ามด้วยประการทั้งปวง
ตัวอย่างสาระสำคัญที่เสมือนเป็นชุดข้อความมาตรฐาน ที่ธนาคารและสถาบันการเงิน มักใช้ร่วมกันในการ “มัดมือมัดเท้า” ลูกหนี้ให้ต้องยอมจำนนแต่โดยดี เป็นดังต่อไปนี้
“…….การให้ความยินยอมนี้ ให้หมายความรวมถึงการให้ความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลแก่บริษัทใดๆ ที่อาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมจากที่ระบุไว้ก็ได้ โดยให้ถือว่าได้ให้ความยินยอมต่อการเปิดเผยข้อมูล…..”
ไม่ยินยอมไม่ได้เหรอ??
ได้ซิ ! แต่คำขอเป็นหนี้จะกลายเป็นหมันในบัดดล !
งั้นเหรอ..ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่าหมายเหตุแนบท้ายหนังสือยินยอมในการเปิดเผยข้อมูล ที่มีข้อความทำนองว่า “การเปิดเผยข้อมูล เป็นสิทธิของเจ้าของข้อมูลที่จะให้ความยินยอมหรือไม่ก็ได้” เป็นเพียงข้อความ “ไม้ประดับ” ให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินดูสวย..ดูหล่อเท่านั้นเอง
ถูกต้องที่สุด…แน่นอนที่สุด !!!
ลูกหนี้ในตลาดเงินที่นี่ประเทศไทย ไม่เพียงถูกบังคับข่มขืนใจให้จำยอมเปลือยข้อมูลหมดเปลือกตามอำเภอใจเจ้าหนี้เท่านั้น ยังต้องโดนโขกสับขูดรีดดอกเบี้ยชนิด “ถึงเลือดถึงเนื้อถึงกระดูก” ทั้งที่ต้นทุนเงินที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินรับฝากมาจากชาวบ้านสุดแสนจะต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ส่งผลให้ธนาคารและสถาบันการเงินทั้งระบบฟันกำไรจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยกู้กับดอกเบี้ยฝาก ที่ห่างกันลิบลับ 4-5 % ทั้งที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่พอเหมาะพอสมไม่ควรจะมากเกินกว่า 1.5-2 %
เสรีภาพของธนาคารและสถาบันการเงินในการกอบโกยกำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงโด่งเกินความพอเหมาะพอควรไปแบบ “กินเปล่า” 2.5-3 % ส่งผลให้ธนาคารและสถาบันการเงินมีกำไรส่วนเกิน แบบ “กินเปล่า”งอกขึ้นแบบสบาย ๆถึงปีละ 375,000-450,000 ล้านบาท
นอกเหนือจากนี้ธนาคารและสถาบันการเงิน ยังได้รับอนุญาตให้ขูดรีด “เบี้ยปรับ” จากลูกหนี้ที่ปะเหมาะเคราะห์ร้ายต้องผิดนัดชำระหนี้ในอัตราที่สูงลิบลิ่ว สมทบกับความชอบธรรมในการขูดรีดผู้มีเงินฝากที่เก็บหอมรอมริบในรูปบัญชีเงินฝากธนาคารอีกเดือนละ 50 บาท..100 บาท เป็นค่ารักษาบัญชีในกรณีที่ไม่มีรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีเป็นเวลานาน
หากธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานหลักในการอำนวยความเป็นธรรมในระบบสถาบันการเงิน..ในตลาดเงิน จะให้ความใส่ใจดูแลลูกหนี้ ทำให้ความทุกข์ระทม ความอกไหม้ไส้ขมของลูกหนี้ได้ทุเลาเบาบางลง ด้วยการจำกัดสิทธิเจ้าหนี้ในการกดขี่เอารัดเอาเปรียบเบียดเบียนลูกหนี้ และจำกัดส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากให้มีค่าเฉลี่ยไม่เกิน 2 % ตามมาตรฐานสากลจะเป็นอานิสงส์อเนกอนันต์แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างน้อยที่สุดภาระหนี้เฉลี่ย 156,000 บาทต่อครัวเรือน ที่มีสัดส่วนเฉลี่ยเฉียด 80 % ของจีดีพี น่าจะลดลงทันทีไม่น้อยกว่า 400,000 ล้านบาท และจะพลิกผันกลายเป็นกำลังซื้อภาคครัวเรือนขนาดมหึมาที่ทรงพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สดชื่นกระปรี้กระเปร่ามีชีวิตชีวาขึ้นในบัดดล