เมื่อเอ่ยถึงทุเรียนเรามักจะคุ้นหูกับทุเรียนพันธุ์ต่าง ๆไม่ว่าจะเป็น “หมอนทอง” “ชะนี” “ก้านยาว” ขณะที่พันธุ์ของทุเรียนยังมีอีกหลายชนิดที่บางคนอาจไม่เคยได้ฟัง หรืออาจจะมีการหลงลืมกันไปแล้ว โดยเฉพาะกับทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง อย่างเช่น “หลงลับแล” ที่จ.อุตรดิตถ์ และพันธุ์ “กมลา” ของจ.ภูเก็ต ที่มีมานานกว่า 100 ปี
ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์พื้นที่เพาะปลูกและ ที่แตกต่างจากภาคตะวันออกและภาคเหนือทำให้ทุเรียนกมลามีรสชาติแตกต่างจากทุเรียนทั่ว ๆไป โดยผู้ที่เคยลิ้มลองทุเรียนพันธุ์ดังกล่าวนี้ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หวาน มัน หอม อร่อย
“ทุเรียนกมลา” นั้นแรกเริ่มเดิมทีชาวบ้านในพื้นที่จะเรียกว่า “ทุเรียนป่า” เพราะเหตุที่ไปขึ้นอยู่ตามป่า เมื่อชาวบ้านเข้าไปเก็บของป่าในช่วงที่ทุเรียนออกลูกก็จะเก็บผลออกมาขายในเมือง แล้วแบ่งแจกจ่ายเมล็ดไปปลูกต่อ ๆ กันจนเป็นที่แพร่หลายใน ต.กมลา จากทุเรียนป่าจึงกลายพันธุ์เป็นทุเรียนบ้านที่มีรสชาติอร่อยและเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน
ล่าสุด ทุเรียนกมลาเพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ประจำจังหวัดภูเก็ต การันตีความโดดเด่น เหตุมีเพียงแห่งเดียวในโลกคือที่ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เนื่องจากมีลักษณะเฉพาะ เข้าข่ายสามารถเป็นสินค้า GI ของจังหวัดภูเก็ต โดยทุเรียนกมลาจะออกผลผลิตเพียง 4 ถึง 5 ตันต่อปี และจะออกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนเท่านั้น ปัจจุบันจำหน่ายในราคาเฉลี่ยลูกละประมาณ 60 บาทขนาด 2 กิโลกรัม เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นอย่างมาก