ศึกไซเบอร์คู่จิ้น ปูตินปั่นหัวทรัมป์?

ศึกไซเบอร์คู่จิ้น ปูตินปั่นหัวทรัมป์?


ถ้าประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ มีทามแมชชีน เขาคงอยากย้อนเวลากลับไปในวันที่ 4 มีนาคม 2017 วันที่เขาทวีทว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ดักฟังโทรศัพท์ของเขาที่อาคารทรัมป์ทาวเวอร์ และประนามโอบาม่าว่าทำตัวเลวร้ายเหมือนนิกสันในคดีวอเตอร์เกท และผรุสวาทส่งท้ายว่า “นี่มันเลว (หรือบ้า) กัน(วะ)”9

 

ทวีทด้วยเนื้อหาที่น่าตกใจจาก “โดนัลทรัมป์ตัวจริง” (@realDonaldTrump) เพื่อเล่นงานคนที่เขาไม่พอใจเกิดขึ้นแทบจะรายวัน เป็นการตอบโต้คนหรือแม้แต่ประเทศที่เขาไม่พอใจ เช่นเมอรีล สตรีบ ดาวค้างฟ้าของฮอลลีวู๊ด ถูกเขาทวีทว่า “เป็นนักแสดงหญิงที่ผู้คนให้ค่าเกินจริงอย่างมาก”7 เมื่อ สตรีบขึ้นรับรางวัลโกลเด้นโกลบอะหวอด แล้ววิจารณ์ทรัมป์โดยไม่เอ่ยชื่อว่า เป็นผู้อยู่ในอำนาจที่รังแกคนที่อ่อนแอกว่า เมื่อทรัมป์ทำท่าล้อเลียนนักข่าวพิการที่เขาไม่ชอบการนำเสนอข่าว


วิธีการหันเหความสนใจของกองทัพสื่อมวลชนด้วยทวีทของทรัมป์ ได้ผลมาตลอด เมื่อเขาไม่พอใจข่าวไหน เขาจะทวีทว่า ข่าวปลอม “fake news”  ทรัมป์ตั้งตัวเป็นศัตรูกับกองทัพสื่อมวลชนตั้งแต่ตอนหาเสียงเลือกตั้ง และถึงแม้เข้ารับตำแหน่งแล้ว เขาก็ประกาศอย่างเปิดเผยในหลายเวทีรวมทั้งในทวีทคู่ใจว่า “สื่อข่าวปลอมไม่ใช่ศัตรูของผม มันคือศัตรูของประชาชนอเมริกา”19 ในรายชื่อสื่อข่าวปลอมของทรัมป์มีสำนักข่าวที่ได้รับความเชื่อถือทั่วโลกเช่น New York Times, NBC, ABC, CBS และ CNN ถูกระบุชื่อด้วย

รังนกกระจอกของทำเนียบขาวต้องแตกฮือเพียงเดือนเดียวหลังทรัมป์เริ่มกุมบังเหียนประเทศ เมื่อโฆษกรัฐบาล นายชอน สไปเซอร์สนองนโยบายต่อต้านศัตรูของชาติด้วยการห้ามสื่ออย่างเช่น CNN, the New York Times, Politico และ the Los Angeles Times เข้าฟังบริฟข่าวซิฟ (exclusive) แบบปิดกล้อง4

ทรัมป์ไม่พอใจสื่อมวลชนหลายเรื่อง แต่เรื่องที่น่าจะทำให้ทรัมป์สติแตกมากที่สุดคือการขุดคุ้ยของสื่อเพื่อตอบคำถามว่า รัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งที่ทรัมป์ชนะหรือไม่ และคนของทรัมป์มีส่วนรู้เห็นหรือช่วยเหลือในการแทรกแซงของรัสเซียหรือไม่

การแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐโดยรัสเซียเป็นเรื่องที่หน่วยข่าวกรองของอเมริกาเกาะติดมาตลอดในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และเมื่อผลการเลือกตั้งพลิกล็อกจนแม้แต่ทรัมป์เองก็ยังตะลึงกับชัยชนะของตัวเอง ความหวั่นวิตกว่าทรัมป์อาจเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับรัสเซีย ทำให้วุฒิสมาชิกพรรคแดโมแครทจำนวนมากขอร้องให้โอบาม่ารีบ “ยกเลิกสถานะความลับ” (declassify) ของเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการแทรกแซงการเลือกตั้งของรัสเซีย32 มีการเปิดเผยในภายหลังว่า ทีมหน่วยข่าวกรองได้รีบยกเลิกความลับของเอกสารจำนวนมากก่อนถ่ายโอนอำนาจให้ทีมทรัมป์

คำสั่งทิ้งทวนของโอบาม่าก่อนอำลาเก้าอี้ประธานาธิบดี ตอนปลายเดือนธันวาคม 2016 คือคำสั่งลงโทษรัสเซียที่แทรกแซงการเลือกตั้งอเมริกา ด้วยการขับไล่คณะทูตรัสเซีย 35 คนออกนอกประเทศ36 ทำเนียบขาวแถลงว่า

“กิจกรรมไซเบอร์ของรัสเซียจงใจแทรกแซงการเลือกตั้ง ทำลายศรัทธาต่อสถาบันประชาธิปไตยของอเมริกา สร้างความสงสัยในศักดิ์ศรีของกระบวนการเลือกตั้งและบ่อนทำลายความเชื่อมั่นในสถาบันของรัฐบาลสหรัฐ การกระทำเหล่านี้ไม่อาจยอมรับได้และเราจะไม่อดทน”

แล้วความหวั่นวิตกของพรรคแดโมแครทก็เป็นจริง ไม่กี่วันหลังเข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์ผ่อนปรนการลงโทษรัสเซีย ด้วยการอนุญาตให้บริษัทอเมริกาขายอุปกรณ์ไอทีให้หน่วยข่าวกรองรัสเซีย FSB ซึ่งหน่วยข่าวกรองสหรัฐระบุว่าเป็นหน่วยแฮคข้อมูลการเลือกตั้ง5 คอการเมืองพากันตั้งข้อสังเกตว่า นื่คือการหยิบยื่นอาวุธไอทีให้รัสเซียถล่มอาณาจักรไซเบอร์ของอเมริกาต่อไป หรือไม่

ไม่น่าแปลกใจที่กองทัพสื่อมวลชนจะยิงคำถามเรื่องรัสเซีย และซอกแซกเรื่องความเกี่ยวข้องของทีมทรัมป์ ทรัมป์ใช้กลยุทธ์สองอย่างในการจัดการสื่อ คือหนึ่งด่ากราดและโยนความผิดกลับไป สองหันเหประเด็นเพื่อกลบข่าวที่ไม่พึงประสงค์ ทรัมป์ใช้ทวีทเป็นอาวุธยิงรัวใส่ศัตรูของเขาไม่เว้นแต่ละวัน

ทรัมป์ทำตัวเสมือนเกราะกำบังให้รัสเซียหลายต่อหลายครั้ง ครั้งหนึ่ง เมื่อถูกถามว่าเขาคิดยังไงที่ปูตินถูกกล่าวหาว่าสั่งฆ่านักข่าวและคนที่ไม่เห็นด้วย ทรัมป์ตอบว่าเขาเคารพปูติน และเมื่อถูกย้ำถามว่า “แต่ปูตินเป็นนักฆ่านะ” ทรัมป์ตอบว่า “เราก็มีนักฆ่าหลายคนเหมือนกัน คุณคิดว่าประเทศของเราบริสุทธิ์ผุดผ่องนักหรือ?”1

ภายใต้การบริหารของโอบาม่า อเมริกาตระหนักรู้และพยายามรับมือกับสงครามไซเบอร์จากรัสเซีย แต่ก็ยังไม่อาจป้องกันการแทรกแซงการเลือกตั้งที่นำทรัมป์เข้าสู่เส้นชัยได้ เมื่อโอบาม่าจำเป็นต้องส่งไม้ต่อให้ทรัมป์บริหารประเทศ ทรัมป์ยังจะปกป้องอาณาจักรไซเบอร์ของอเมริกาต่อไปหรือไม่?

 

คำตอบจากทรัมป์ที่ให้กับ New York Times คือ การสอบสวนเรื่องรัสเซียแฮคการเลือกตั้ง คือการ “ล่าแม่มด” (witch hunt) เป็นการเมืองแบบล้าหลัง ไม่ใช่ประเด็นเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ6

เมื่อทรัมป์ได้รับบริฟจากหน่วยงานข่าวกรองที่สรุปว่าปูตินสั่งให้ “ป่วนการหาเสียง” (influence campaign) เพื่อทำลายฮิลลารี คลินตัน และเป็นผลดีต่อทรัมป์  ทรัมป์ตอบโต้ว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม มันไม่มีผลต่อการเลือกตั้งเลย6

ทรัมป์พยายามปกป้องชัยชนะของตัวเอง แต่ในการทำเช่นนั้น เขาก็ได้ปกป้องรัสเซียไปด้วย ไม่ว่าเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

ยังมีศึกในอีกหลายยก ที่ทีมทรัมป์อยู่มุมหนึ่ง และคณะกรรมการสอบสวนหลากหลายคณะพร้อมกองทัพสื่อจอมขุดคุ้ยอยู่อีกมุมหนึ่ง ระฆังยกแรกดังขึ้น หลังทรัมป์ขึ้นนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีได้ไม่ทันเบาะนั่งอุ่น

สามคณะหลักที่จะทำหน้าที่สอบสวนการแทรกแซงการเลือกตั้งจากรัสเซียคือ 1) คณะของสภาผู้แทน 2) คณะของวุฒิสภา และ 3) คณะสอบสวนเรื่องการโจมตีทางไซเบอร์ของวุฒิสภา  ประเด็นหลักข้อหนึ่งในการสอบสวนคือคนรอบตัวทรัมป์เกี่ยวข้องกับการแทรกแซงของรัสเซียอย่างไร หรือไม่

การสอบสวนนี้ทำให้ทีมทรัมป์ค่อยๆร่วงจากตำแหน่งไปทีละคน เริ่มจากอดีตผู้จัดการการหาเสียง นายพอล แมนาฟอร์ด ซึ่งถูกแฉว่ามีสายใยเหนียวแน่นกับกลุ่มผลประโยชน์รัสเซีย ตามมาด้วยนายพลไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ หลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียง 23 วัน เพราะเขาบิดเบือนเรื่องการติดต่อพูดคุยกับทูตรัสเซีย คนต่อมาคือ อัยการสูงสุด นายเจฟ เซสชั่นส์ ประกาศถอนตัวจากการสอบสวนเรื่องรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้ง เพราะเขาเองก็ให้การเท็จเรื่องที่ตนเองเคยพบกับทูตรัสเซีย ยังมีทีมทรัมป์อีกหลายคนที่พัวพันกับรัสเซีย และอาจถูกเรียกตัวสอบสวนต่อไป ที่สำคัญคือลูกเขยทรัมป์ จาเร็ด คุชเนอร์ ลูกชายทรัมป์ หรือดอน จูเนียร์ และ รัฐมนตรีต่างประเทศนาย เรกซ์ ทิลเลอร์สัน21

ทรัมป์เองตอนทำธุรกิจก็มีผลประโยชน์ในรัสเซีย ที่ชัดเจนคือเขาเป็นเจ้าภาพจัดงานมิสยูนิเวิสที่มอสโคว์ ซึ่งทำเงินมหาศาล  และเขาเคยหาลู่ทางทำดีลด้านอสังหาริมทรัพย์กับรัสเซีย  และคุยว่าเคยติดต่อกับปูตินเองก่อนลงเลือกตั้ง21 คำถามคือในช่วงเลือกตั้งและหลังเข้ารับตำแหน่งแล้ว เขายังมีผลประโยชน์ใดๆในรัสเซียที่อาจทำให้การตัดสินใจในฐานะผู้นำประเทศเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือไม่ การจะหาคำตอบข้อนี้ หลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งคือ หลักฐานการเสียภาษี ซึ่งทรัมป์ถูกสื่อมวลชนตามจิกมาตลอด และเขาก็บ่ายเบี่ยงมาตลอดเช่นกัน

วอชิงตันโพส ทำผังวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทีมทรัมป์และทีมปูตินผ่านเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำวอชิงตัน นายเซอเกย์ คิสลีแอก21

ข่าวเหล่านี้ยิ่งทำให้ทีมทรัมป์ดูเหมือนจำเลยสังคมมากขึ้นไปอีก ทรัมป์หัวเสียมากที่เซสชั่นส์ถอนตัว และสองวันต่อมาเขาก็ทวีทเรื่องโอบาม่าดักฟัง คอการเมืองหลายสำนักมองว่านี่เป็นการทวีทกลบข่าวการที่คนรอบตัวเขาถูกแฉว่าพัวพันกับรัสเซีย

ทรัมป์อาจจะทวีทด่าดาราฮอลลีวู๊ด ทวีทด่าสื่อมวลชนได้อย่างไม่เปลืองตัว ในวันรุ่งขึ้น กองทัพสื่อก็จะหันไปจับเรื่องใหม่ๆที่เขาทวีทออกมา แต่ไม่ใช่เรื่อง “ดักฟัง” นี้ ซึ่งเปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่ทรัมป์ไปถอดสลักเข้าอย่างไม่รู้ตัว เพราะทวีทนี้คือการกล่าวหาอดีตประธานาธิบดีสหรัฐว่าทำผิดทางอาญาในการสั่งให้มีการละเมิดสิทธิพลเมืองอเมริกา 

นับตั้งแต่คดีวอเตอร์เกทของประธานาธิบดีนิกสันในปี 1972-1974 ที่นิกสันใข้หน่วยข่าวกรองในการสืบหาข้อมูลของศัตรูทางการเมือง28 ก็มีการเปลี่ยนกฎหมายไม่ให้ประธานาธิบดีสหรัฐมีสิทธิสั่งสอดแนมพลเมืองอเมริกาได้ด้วยตัวเองอีกต่อไป ถ้าจะสอดแนมใครต้องไปขอคำสั่งศาล ส่วนการสืบข้อมูลของคนต่างชาติเพื่อเหตุผลเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ ก็ต้องไปขออนุญาตศาลที่ดูแลเรื่องข่าวกรองของต่างชาติ (US Foreign Intelligence Surveillance Court)

นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ไม่ว่าทรัมป์จะพยายามทวีทกลบประเด็น “ดักฟัง” อย่างไรก็ไม่ประสบผล  ไม่ว่าทรัมป์จะโผล่ไปที่ไหน ก็จะถูกกองทัพนักข่าวยิงคำถามว่า มีหลักฐานเรื่องดักฟังหรือยัง บรรดาคนของทรัมป์รวมทั้งโฆษกรัฐบาลนายชอน สไปเซอร์ก็ต้องออกมาแก้ตัวรายวันให้ทรัมป์ บอกให้สื่อรอหลักฐานเด็ดไปเรื่อยๆ แต่ยิ่งวันคำอ้างว่ามีหลักฐานก็มีน้ำหนักน้อยลงไปทุกที

ทวีท “ดักฟัง” ของทรัมป์นำไปสู่การสอบสวนที่ยิ่งเข้มข้นมากขึ้น ในวันที่ 20 มีค ในการไต่สวนของคณะกรรมการข่าวกรองสภาผู้แทนฯ หัวหน้าข่าวกรอง FBI และ NSA ปฏิเสธข้อมูลทวีทของทรัมป์ ที่กล่าวหาว่าประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าสั่งให้หน่วยข่าวกรองสหรัฐดักฟังโทรศัพท์ทรัมป์ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ปี 201630 คำให้การนี้เป็นการตอกย้ำว่าทรัมป์ “ซี้ซั้ว” ในการกล่าวหาโอบาม่า


 

หลังจากนั้นเพียงสองวัน ก็เกิดปาหี่ครั้งใหญ่ที่ติด Box Office และคงจะไม่ออกจากกระแสข่าวของอเมริกาได้ง่ายๆ ดาราแสดงนำในเรื่องนี้คือ นายเดวิน นูเนส ประธานคณะกรรมสอบสวนของสภาผู้แทนฯ พรรครีพับลิกัน ที่ออกมาแถลงข่าวว่า  แม้จะไม่พบว่ามีหลักฐานการดักฟังโทรศัพท์ทรัมป์  แต่ข้อมูลที่เขาได้รับจากแหล่งข่าวในทำเนียบขาวแสดงว่า มีการตรวจพบการสนทนาโดยไม่ตั้งใจในการสืบหาข่าวกรองตามคำสั่งที่ถูกต้องของศาลสืบสวนข่าวกรองชาวต่างชาติ  พูดง่ายๆก็คือ คนของทรัมป์ได้คุยกับคนต่างชาติซึ่งถูกหน่วยข่าวกรองสหรัฐเฝ้าติดตาม ก็เลยดักฟังการคุยกันได้ แม้ว่าคนของทรัมป์จะไม่ใช่เป้าหมายการดักฟังก็ตาม พอนูเนสแถลงข่าวเสร็จก็ตรงไปบริฟทีมทรัมป์ต่อที่ทำเนียบขาว โดยไม่ได้คุยกับนายอดัม ชิฟฟ์ ผู้นำทีมแดโมแครทที่เป็นกรรมการร่วม30

ในวันเดียวกัน ทรัมป์บอกนักข่าวว่า ข้อมูลที่ได้จากนูเนสช่วยพิสูจน์คำพูดของเขาพอประมาณ (somewhat) ว่า โอบาม่าดักฟังโทรศัพท์เขาจริงที่ทรัมป์ทาวเวอร์30

นายอดัม ชีฟฟ์ จากพรรคแดโมแครท ที่เป็นผู้นำร่วมในคณะสอบสวนฯ ได้แจ้งเกิดบนเวทีการเมืองทันทีเมื่อเขาออกมาประท้วงและประณามการกระทำของนูเนสว่าผิดกติกาหลายกระทง ไม่ว่าจะเป็นการที่เขาไม่แจ้งกรรมการด้วยกันก่อนว่าได้ข้อมูลมา ไม่แสดงข้อมูลที่เขาได้เห็นให้กรรมการในคณะได้รับทราบพร้อมกัน ไม่ยอมเปิดเผยแหล่งที่มาของข้อมูล และที่สำคัญที่สุดคือ มันไม่ใช่ธุระกงการของนูเนสที่จะไปบริฟทีมทรัมป์ เพราะทีมทรัมป์คือกลุ่มคนที่ถูกสอบสวนว่ามีโยงใยกับรัสเซียหรือไม่ สื่อหลายสำนักตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ ทรัมป์เองอยู่เบื้องหลังปาหี่ครั้งนี้ เพื่อบิวท์หลักฐานว่าโอบาม่าสั่งดักฟังเขาจริง ส่วนนูเนสเองก็ถูกเรียกร้องให้ถอนตัวจากการเป็นหัวหน้าทีมสอบสวนจากทุกสารทิศ

ทวีท “ดักฟัง” ที่อยู่ในกระแสความสนใจของอเมริกันชนย่อมส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของทรัมป์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คะแนนนิยมในตัวทรัมป์ร่วงลงอย่างแรงและเร็วเหลือ 35% (gallop poll) ในปลายเดือนมีนาคม ชาวอเมริกาส่วนใหญ่ต้องการให้มีการสอบสวนเรื่องความเกี่ยวโยงของทีมทรัมป์กับรัสเซียต่อไป ในการทำโพลของ CBS เมื่อปลายเดือนมีนาคมพบว่า 63% ของคนตอบต้องการให้ FBI สอบสวนความเชื่อมโยงระหว่างทีมหาเสียงของทรัมป์กับรัฐบาลรัสเซีย และ 59% เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ทีมหาเสียงของทรัมป์จะมีการติดต่อกับสายลับรัสเซียอย่างไม่เหมาะสม17

ในขณะที่ทรัมป์และทีมกำลังแลกหมัดกับกองทัพสื่อมวลชนและคณะสอบสวนเรื่องรัสเซียจนฝุ่นตลบ คนดูข้างเวทีที่น่าจะกำลังจิบว๊อดก้าและตักไข่ปลาคาเวียร์เข้าปากอย่างชื่นบาน คือ วลาดิเมียร์ ปูติน

ปูตินขึ้นสู่อำนาจในวันสุดท้ายที่โลกอยู่ในศตวรรษเดิม คือวันที่ 31 ธันวาคม 1999 ปูตินไม่พอใจสหรัฐมายาวนาน และในปี 2011 ก็กล่าวโทษว่าสหรัฐปลุกระดมมวลชนในประเทศให้ต่อต้านรัฐบาลของเขา มีรายงานข่าวว่าเขาแค้นฝังหุ่นกับรัฐมนตรีต่างประเทศในขณะนั้นคือนางฮิลลารี คลินตันว่าทำให้สหรัฐหมางใจกับรัสเซีย8 เมื่อพรรคแดโมแครทส่งฮิลลารีเข้าชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดี  ก็น่าจะพอเดากันได้ว่าปูตินจะใช้อาวุธไซเบอร์ในมือทำลายใครในการหาเสียง

หน่วยข่าวกรองของสหรัฐให้ข้อมูลว่า ในช่วงรณรงค์หาเสียง แฮคเกอร์ได้ขโมยอีเมล์จากกรรมการพรรคแดโมแครท และของประธานการหาเสียง ชื่อนายจอห์น โพเดสต้า และต่อมาข้อมูลเหล่านี้ก็ถูกตีแผ่ในวิกิลีคส์8

อีเมล์ของกรรมการพรรคแดโมแครทเปิดเผยว่าพวกผู้นำพรรคชอบฮิลลารีมากกว่าเบินนี่ย์ แซนเดอร์ คู่แข่งแนวคิดสังคมนิยมที่ป๊อปปูล่าในหมู่ฐานเสียงคนรุ่นใหม่ ข้อมูลรั่วครั้งนั้นทำให้ประธานกรรมการพรรคต้องลาออก และทำให้ผู้สนับสนุนแซนเดอร์เชื่อว่ามีการโกงการแข่งขันเพื่อให้ฮิลลารีชนะแซนเดอร์ ต่อมาเมื่อฮิลลารีชนะแซนเดอร์จริงๆ ฐานเสียงของแซนเดอร์จำนวนมากจึงไม่เทเสียงให้ฮิลลารี อย่างธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยเป็นมาของการแข่งขันกันเองภายในพรรค

เมื่อข่าวฉาวชิ้นแรกของฮิลลารีได้รับความเชื่อถือขนาดโค่นประธานพรรคแดโมแครทได้ ข่าวฉาวที่ติดตามมาก็ถูกเชื่ออย่างง่ายดายและไร้การตรวจสอบ

ข่าวลวงชิ้นใหญ่ที่ถูกปล่อยออกมาคือคดีที่เรียกว่า พิชซ่าเกท เมื่อเกิดข่าวลือในโซเชียลว่าอีเมล์ของโพเดสต้าเป็นโค๊ดลับของพวกจิตเพศค้ามนุษย์ มีการบังคับเด็กเป็นโสเภณีและทำกันเป็นกระบวนการ ตามสาขาพิชซ่าเกท โค๊ดลับในอีเมล์ก็เช่น ถ้าใครต้องการซื้อพิชซ่าหน้าชีส หมายความว่าขอซื้อรูปอนาจารของเด็ก แม้มันจะฟังดูเว่อร์และมโนสุดฤทธิ์  ข่าวนี้ก็แพร่ไปอย่างไฟลามทุ่ง โหมกระหน่ำด้วยโซเชียลเน็ทเวิร์คที่ครอบคลุมทุกตารางนิ้วของอาณาจักรไซเบอร์อเมริกา เจ้าของและคนงานร้านพิชซ่าถูกด่าทอทำร้าย รถบรรทุกพิชซ่าถูกขว้างปา ถูกขีดเขียนคำหยาบ และไม่กี่วันหลังจากภาวะข่าวลวงสุกงอม ก็มีหนุ่มอายุ 28 ปีควงปืนบุกร้านพิชซ่า มีการยิงปืนหลายนัด โชคดีไม่มีคนตาย และเขายอมมอบตัวเมื่อพบว่าไม่มีเด็กถูกขายเป็นโสเภณีในร้านพิชซ่า37

หลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง หน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐก็เปิดเผยว่า รัสเซียตั้งใจทำลายทั้งชื่อเสียงของฮิลลารีและความไว้วางใจของชาวอเมริกาที่มีต่อกระบวนการเลือกตั้ง8

ในสงครามไซเบอร์ยกแรกระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย ปูตินเป็นฝ่ายชนะ ฮิลลารีถูกชกตกเวทีไป เหลือทรัมป์เป็นคู่ชกในยกที่สอง แต่ปรากฏว่าคู่ชกของทรัมป์กลับไม่ใช่ปูติน แต่คือกองทัพสื่อมวลชนและคณะกรรมการสอบสวนการแฮคเลือกตั้งของรัสเซีย อย่างนี้แล้วจะไม่ให้ปูตินสนุกกับการดูมวยที่กำลังนัวเนียในอเมริกาได้อย่างไร

ปูตินกำลังทำสงครามไซเบอร์กับอเมริกาโดยไม่ต้องใช้ไพร่พลแม้แต่คนเดียว ทหารราบในแนวหน้าของปูตินบนแผ่นดินอเมริกาคือชาวอเมริกาที่หลงเชื่อข่าวลวง ทีมปูตินเล็งเห็นแล้วว่าอเมริกาอยู่ในภาวะสุกงอมในการปล่อยระเบิดไซเบอร์ไปทำลายล้าง บ๊อบ เซสการ์2 ชี้ว่าภาวะดังกล่าวคือ

  1. ความไม่ไว้ใจสถาบัน และสื่อมวลชน
  2. การใช้โซเชียลมีเดียทุกหัวระแหง
  3. ความเต็มใจที่จะแชร์ข่าวลือ ข่าวโคมลอย ข่าวฉาวโฉ่ หรือ “ข่าวปลอม” (fake news) เพื่อทำให้ตัวตนหรือแบรนด์ส่วนตัวในโซเชียลมีเดียดังติดตลาด
  4. การแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างชัดเจน พร้อมกับการเกิดขึ้นของ ฟองสบู่ข้อมูล (information bubble) คือการเลือกเสพข่าวสารเฉพาะที่ถูกจริตของตัวเอง
  5. ความเชื่อผิดๆหลังคดี Watergate ว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดีก็ได้ ทำให้ดาราเกมโชว์อย่างทรัมป์มีโอกาส

ด้วยความสนับสนุนทางข้อมูลจาก Wikileaks และน่าจะคนวงในของทรัมป์ด้วย ปูตินจึงสามารถอัดข้อมูลเท็จปริมาณมหาศาลเข้าสู่อาณาจักรไซเบอร์ของอเมริกาได้2

เซสก้าบอกว่า “น่าเศร้า ที่อเมริกาไม่ใช่สังคมที่ตัดสินใจด้วยข้อมูลและคุณธรรมอีกต่อไป   เราเลือกที่จะเชื่อในสิ่งที่เราต้องการจะเชื่อ  โดยไม่ขึ้นอยู่กับหลักฐานข้อเท็จจริง ที่ผ่านการกลั่นกรอง  แต่กลับตัดสินใจขึ้นอยู่กับอุดมการณ์ และดูว่าข้อมูลนั้นเป็นที่ยอมรับของกลุ่มที่เราสังกัดอยู่ด้วยหรือไม่  และเราต่างก็เชื่อว่าเราคือผู้รู้ในทุกสิ่งอย่าง  การปล่อยข่าวลวงว่า จอห์น โพเดสต้า ค้าผู้หญิงจากร้านพิชซ่าในวอชิงตัน จึงได้รับการต้อนรับอย่างกระตือรือร้นด้วยสกุลเงินแห่งยุคสมัยคือ follows, likes, แชร์ และ ทวีทต่อ”2

ถ้าถามว่าปูตินหยุดสงครามนี้หรือยัง เมื่อเขาเอาคืนฮิลลารีได้สำเร็จแล้ว คำตอบที่น่าขนลุกคือ สงครามไซเบอร์ยังไม่จบลงสำหรับอเมริกา และพลพรรคคนสำคัญที่จะทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวลวงให้รัสเซียต่อไป ก็คือหนึ่งเดียวคนนั้น นายโดนัล ทรัมป์

นี่เป็นข้อกล่าวหาที่หนักหน่วง ยิ่งกว่าทวีท “ดักฟัง” ใครกันที่กล้าฟันธงถึงขนาดนี้


เขาคนนั้นชื่อนายคลินท์ วัทส์  ผู้เชี่ยวชาญด้านสงครามไซเบอร์ และเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียผ่านโซเชียลมีเดีย วัทส์ให้การกับคณะสอบสวนของวุฒิสภาเมื่อวันที่ 30 มีค. ว่า  ความพยายามโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียมีมากกว่าการแทรกแซงการเลือกตั้งระหว่างฮิลลารี่กับทรัมป์  รัสเซียยังมีเป้าหมายที่ผู้ลงสมัครเลือกตั้งอีกหลายคน เช่นวุฒิสมาชิก มาร์โค รูบิโอ พรรครีพับริกันซึ่งอยู่ในคณะกรรมการข่าวกรอง และประธานสภาคือนายพอล ไรอัน
23

วัทส์บอกว่า ตอนเฟ้นหาตัวผู้สมัครเลือกตั้งรอบแรกๆ ทีมรัสเซียทำงานหนักมาก และช่วยทำลายผู้สมัครที่มีแนวคิดหรือประวัติที่เป็นศัตรูกับรัสเซีย หรือผลประโยชน์ของรัสเซีย23

วัทส์อธิบายว่า รัสเซียใช้บอท (bot) ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ซอฟแวร์ ปล่อยข่าวลวงมาที่ทรัมป์เพื่อให้ทรัมป์ช่วยปล่อยข่าวลวงต่อไป บอทรู้พฤติกรรมของทรัมป์ว่าจะเล่นโซเชียลมีเดียตอนไหน และจะใช้ช่วงเวลานั้นปล่อยข่าวลวงเพื่อให้ทรัมป์ข่วยปล่อยต่อ

“ผมบอกได้เลยว่ามีแหล่งข่าวสีเทาซุกซ่อนอยู่ตรงไหน ที่เป็นแหล่งปล่อยข่าวลวงของรัสเซีย ซึ่งจะทวีทไปหาประธานาธิบดีทรัมป์ในช่วงเวลาที่ทีมรัสเซียรู้ว่าทรัมป์จะออนไลน์ แล้วพวกเขาก็จะปล่อยข้อมูลประเภททฤษฎีการสมรู้ร่วมคิดของผู้อยู่ในอำนาจ (conspiracy theories) ซึ่งแค่ทรัมป์คลิกข่าวลวงหรืออ้างอิงข่าวนั้น ก็พิสูจน์ได้แล้วว่าปูตินมาถูกทาง ว่าเขาสามารถใช้สงครามไซเบอร์ทำลายอเมริกาได้”23

จนกว่าผลการสอบสวนจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าทีมทรัมป์มีความพัวพันกับทีมปูตินอย่างไร หรือไม่ ผู้ชมทั้งหลายอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าใครผิดใครถูก ใครจะอยู่ใครจะไป  ผู้เขียนบอกได้แต่เพียงว่า คงจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพียงอย่างเดียวที่จะคุ้มครองทรัมป์ให้รอดพ้นวิกฤตครั้งนี้ได้ คือ การทำหน้าที่ประธานาธิบดีอเมริกาอย่างแท้จริง นั่นคือการปกป้องผลประโยชน์ของชาติก่อนผลประโยชน์ของตัวเอง

 

โดย สุนีย์ สถาพร

xxxxxxxxx

Bibliography

  1. Abby Phillip, “O’Reilly said Putin is a killer. Trump’s reply: ‘You think our country is so innocent?’, The Washington Post, 4 Feb 2017
  2. Bob Cesca, “Russia’s cyberwar against America isn’t over — and the real target is democracy” 28 Mar 2017 07:58
  3. Callum Borchers, “Here’s why Trump’s attacks on ‘fake news’ succeed”, The Washington Post, 17 February 2017
  4. Callum Borchers, “White House blocks CNN, New York Times from press briefing hours after Trump slams media”, The Washington Post, 24 February 2017
  5. Cameron Joseph, “Trump administration tweaks sanctions against Russia”, New York Daily News, 2 Feb 2017
  6. David Nakamura, “Trump calls hacking probe ‘witch hunt,’ then calls intelligence briefing ‘constructive’”, The Washington Post, 6 Jan 2017
  7. “Donald Trump calls Meryl Streep ‘over-rated’ after Golden Globes speech”, BBC, 9 Jan 2017
  8. Gregory Krieg, “The only 4 things you need to know about Trump and Russia”, CNN, 1 April 2017
  9. Jana Heigl, “A timeline of Donald Trump’s false wiretapping charge”, Politifact, 21 March 2017
  10. Jena McGregor, “The problem with Donald Trump’s blame game”, The Washington Post, February 21
  11. Jennifer Rubin, “Five reasons the McCain cyber warfare hearing should worry Trump”, The Washington Post, 5 January 2017
  12. Jonathan Landay and David Rohde, “Exclusive: In call with Putin, Trump denounced Obama-era nuclear arms treaty – sources”, Reuters, 9 Feb 2017
  13. Kailani Koenig, “McConnell Says He’s Seen ‘No’ Evidence of Trump Surveillance”, NBC News
  14. Karoun Demirjian, “Congressional investigations into alleged Russian hacking begin without end in sight”, The Washington Post, 25 January 2017
  15. Major Garrett, “Trump blames media, intelligence community for Flynn firing, brushes off Russia concerns”, CBS News, February 16
  16. Matt Ford, ‘I Have Recused Myself From Matters With the Trump Campaign’, The Atlantic, 2 Mar 2017
  17. Matthew Rozsa, “More than half of Americans want Trump’s connection to Russia to be investigated: Poll, Salon, 4 April 2017”, CNN, 3 Jan 2017
  18. “Meryl Streep has hit on star-struck Trump’s big weakness”, The Guardian, 9 Jan 2017
  19. Michael M. Grynbaumfeb, “Trump Calls the News Media the ‘Enemy of the American People’, The New York Times, 17 Feb 2017
  20. Nicholas Grossman, “Help! I’m Trapped in an Information Bubble!”, bullshit.ist, 24 Oct 2016
  21. Philip Bump, “The web of relationships between Team Trump and Russia”, The Washington Post, 3 March 2017
  22. Stephen Collinson, “There’s a Russian storm over Trump’s struggling presidency”, CNN, 28 March 2017
  23. Tal Kopan, “Russia investigation: Who is Clint Watts”, CNN, 30 March 2017
  24. The White House, Office of the Press Secretary, “Readout of the Presidents Call with Russian President Vladimir Putin”, 28 Jan 2017
  25. Tom LoBianco and Sara Murray, Kushner offers to meet with Senate Intel Committee over Russia meetings, CNN, 27 March 2017
  26. Tom LoBianco, “Senate Russia hearing: Rubio divulges hack attempts”, CNN, 31 March 2017
  27. Tom LoBianco, “Senate Russia investigators’ message: We’re the adults here”, CNN, 30 March 2017
  28. Watergate Scandal, Wikipedia
  29. Zachary Cohen, “Who’s who in Trump-Russia saga”, CNN, 29 March 2017
  30. Zack Beauchamp, “The Devin Nunes/Trump/wiretapping controversy, explained”, www.vox.com, 23 Mar 2017
  31. “Putin applauds Trump win and hails new era of positive ties with US”, The Guardian, 9 Nov 2016
  32. “Senators call for declassification of files on Russia’s role in US election”, The Guardian, 1 Dec 2016
  33. “Trump wiretapping claim: Did Obama bug his successor?” BBC News, 20 March 2017
  34. “Trump’s cabinet: The people around the president”, BBC News, 29 March 2017
  35. “US ambassador: No question Russia meddled in election”, Associated Press, 2 April 2017
  36. “Obama expels 35 Russian diplomats in retaliation for US election hacking”, The Guardian, 30 Dec 2017
  37. “Pizzagate Conspiracy Theory”, Wikipedia