ลั่นฆ้องย่ำกลองเดินหน้าประชาธิปไตย

ลั่นฆ้องย่ำกลองเดินหน้าประชาธิปไตย


“แม่บทใหม่ประเทศไทย” อันหมายถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ทุกคนรอคอย ได้รับการโปรดเกล้าฯพระราชทานอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันสถาปนาราชวงศ์จักรีครบรอบ 235 ปี  ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดีที่  6 เมษายน 2560

วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ คือวันเริ่มต้นเดินหน้าปฏิทินการเมืองไทย ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขอย่างเป็นทางการ

อะไรจะเกิดขึ้นบ้างต่อจากวันนี้ ?

มีเรื่องราวมากมาย จะประดังประเดปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรื่อยไปตราบกระทั่งมีการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่จะมาแตะมือรับช่วงงานต่อจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อม ๆกับการจางหายกลายเป็นอดีตไปของ คสช.

เหตุการณ์ที่น่าจะถือเป็นจุดเปลี่ยนอันดับแรกหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ คือการเปลี่ยนแปลงสถานะของสมาชิก คสช. หรือ รัฐมนตรี หรือ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) บางคนที่จะประสงค์กระโจนลงสู่สนามการเมือง ซึ่งจะต้อง “ปลดปล่อย” ตัวเองให้เบาตัวจากตำแหน่งสมาชิก คสช. หรือ รัฐมนตรี หรือ สมาชิกสนช. หรือ สมาชิก สปท. ภายใน 90 วันหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้

นั่นย่อมหมายถึงนับจากวันที่ 6 เมษายน เรื่อยไปไม่เกินวันที่ 5 กรกฎาคม  2560 จะได้รู้แจ้งเห็นจริงทั่วกันว่ามีใครบ้างในหมู่สมาชิก คสช. หรือ มีรัฐมนตรีท่านใดบ้างในคณะรัฐบาล หรือมีสมาชิก สนช. และ สมาชิก สปท.คนไหนบ้างที่เปิดเผยตัวตนลงสู่สนามการเมือง

เหตุการณ์ที่สอง ซึ่งจะเกิดขึ้นตามมาคือการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือร่างกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 ฉบับ ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องจัดทำให้เสร็จเรียบร้อยภายใน 240 วันนับจากวันที่ 6 เมษายน 2560 หรือภายในไม่เกินวันที่ 2 ธันวาคม 2560 แล้วเสนอให้ สนช. พิจารณา ลงมติ

สนช. ต้องดำเนินการพิจารณาร่างกฎหมายที่ กรธ. เสนอให้เสร็จเรียบร้อยภายใน 60 วัน หรือภายในวันที่ 31 มกราคม 2561 แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ภายในระยะเวลา 90 วัน

รวมระยะเวลาเบ็ดเสร็จกว่าที่ชุดกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จะเรียบร้อยร้อยสมบูรณ์ พร้อมกดปุ่มนับหนึ่งสู่การเลือกตั้ง ต้องทอดเวลานับจากวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป

สำหรับฤกษ์งามยามดีของการกาบัตรเลือกตั้งทั่วไป ว่ากันตามปฏิทินการเมืองแล้วน่าจะอยู่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

ถึงตอนนั้นใครจะคว้าเก้าอี้นายกรัฐมนตรีไปรองแก้มก้น และหน้าตาของนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะซ้ำกับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันหรือไม่….ไม่กล้าเดา !

…………………………………………………..