บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ อยากได้จัดให้

บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ อยากได้จัดให้


ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)จะพิจารณาเพื่อลงมติวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 30 มีนาคม 2560 และเกิดประเด็นการเคลื่อนไหวคัดค้าน สืบเนื่องจากกรรมาธิการเสียงข้างมากเห็นชอบให้เพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ หลังจากผ่านความเห็นชอบในวาระแรกหรือวาระรับหลักการไปแล้ว

       อดีตรองนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นท่านแรกที่แสดงตัวออกมาคัดค้านทั้งด้วยการเปิดแถลงข่าว และทำหนังสือเปิดผนึกถึงประธาน สนช. กล่าวหาว่าเป็นผลงานของกลุ่มนายทหารกลุ่มหนึ่งในกรรมาธิการด้านพลังงานของสนช.ที่มีวาระซ่อนเร้น และจะทำให้กิจการด้านพลังงานของไทยล้าหลังกลับไปไม่น้อยกว่า 50 ปี

      กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน หรือ ERS ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน นักธุรกิจและนักวิชาการ อาทิ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ,อาจารย์พรายพล คุ้มทรัพย์, อาจารย์มนูญ ศิริวรรณ รวม 30 คน ซึ่งสื่อเรียกว่าเป็น 30 อรหันต์ด้านพลังงานไม่เห็นด้วยเช่นกัน กลุ่มนี้ประกาศว่า “อย่าสอดใส้ บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ต้องศึกษาผลดีผลเสียให้รอบคอบก่อนจึงควรตัดมาตรา 10/1 ก่อนเห็นชอบ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม

มาตรา10/1ก็คือส่วนที่กรรมาธิการแปรญัตติเพิ่มเติมให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เมื่อมีความพร้อมนั่นเอง

       เรื่องแนวทางการจัดการทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติหรือเรียกรวม ๆ ว่าปิโตรเลียมของไทยนั้น ต้องลำดับความว่ามีความขัดแย้งกันอย่างมากจนนำไปสู่การจัดตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวแยกเป็น 2 ฝ่ายได้แก่ กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน ERS ของปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กับ 30 อรหันต์ฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งได้แก่เครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทยหรือ คปพ. แกนนำคือรสนา โตสิตระกูล ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ปานเทพ พัวพงศ์พันธ์ และบรรดา NGO นักวิชาการตลอดจนนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมอีกจำนวนหนึ่ง

      ERS เป็นกลุ่มแนวคิดที่เชื่อในระบบทุนนิยมเสรีและกลไกตลาด ในขณะที่คปพ.เห็นว่ากิจการด้านปิโตรเลียมจะต้องกลับมาเป็นของรัฐมิใช่ปล่อยให้ต่างชาติและเอกชนกอบโกยหาผลประโยชน์ภายใต้เสื้อคลุมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

      ในยุคคสช.นี้ทั้ง 2 ฝ่าย ขึ้นเวที่ประชันวิสัยทัศน์กันหลายครั้ง ทั้งเวทีเล็ก เวทีใหญ่เนื่องจาก คสช. ต้องการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งรวมทั้งเรื่องพลังงานและกิจการด้านปิโตรเลียมของไทย แต่ผ่านไปทุกเวทีก็ไม่เคยได้ข้อสรุปที่ร่วมกันได้ ทั้ง ๆ ที่ 2 ฝ่ายประกาศว่าต้องการ “การปฏิรูป” คำเดียวกันแท้ ๆ

      เรื่อง กฏหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับนี้ 2ฝ่ายก็เห็นต่างและขัดแย้งกันมากจนเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ รัฐบาลก็ได้ให้สภาฯได้ทำหน้าที่รับฟังความเห็นจากทั้ง2ฝ่ายเพื่อให้ได้เนื้อหาที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและ 2 ฝ่ายยอมรับ เมื่อสภาฯหรือสนช. ผ่านวาระรับหลักการ เนื้อหาทั้งหมดฝ่าย ERS แสดงท่าทียอมรับ แต่ คปพ. ประกาศคัดค้านอย่างถึงที่สุดเพราะยังขาดข้อเรียกร้องอีกมากรวมทั้งการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาเพื่อรับโอนทรัพย์สินและกิจการด้านปิโตรเลียมทั้งปวงกลับมาเป็นของรัฐ

ดังนั้นการเพิ่มเนื้อหาเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติของกรรมาธิการผู้ทำหน้าที่ในขั้นตอนแปรญัตติก็พอจะวิเคราะห์ได้ว่าน่าจะเป็นเจตนาต้องการประนีประนอมระหว่าง2ฝ่ายมากกว่าจะมีวาระซ่อนเร้นอันชวนตั้งคำถามเพราะก็เขียนเพิ่มเพียงกว้าง ๆ “ให้จัดตั้งเมื่อพร้อม”

อันหมายความว่าจะต้องไปดำเนินการในรายละเอียดหรือมีกฏหมายลูกในภายหลังอีกทีถ้าจะมีวาระซ่อนเร้น ก็น่าจะต้องกำหนดผูกมัดให้ชัดกว่านี้ แต่ก็เห็นได้ชัดว่าการตัดสินใจของกรรมาธิการนั้นทั้งฝ่าย ERS ไม่ยอมรับ ขณะที่ฝ่ายคปพ.บอกว่ายังเลื่ิอนลอยเกินไปไม่สามารถยอมรับได้เช่นกันโอกาสที่ร่างกฎหมายจะผ่านได้ก็คงไม่ง่ายเลย

แต่ไม่ว่าร่างกฏหมายนี้จะผ่านหรือไม่ผ่านการต่อสู้2แนวทางระหว่างERSกับคปพ.ก็คงจะต้องดำเนินต่อไป บนความปวดเศียรเวียนเกล้าของรัฐบาลคสช.