นายกฯ ปลื้มงานวิจัยไทยเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน

นายกฯ ปลื้มงานวิจัยไทยเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 ว่า จากรายงานของเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDSN) ภายใต้องค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมี  “ความสุข” อยู่ในอันดับที่ 32 จาก 155 ประเทศทั่วโลก ขยับขึ้นมา 1 อันดับจากปีที่ผ่านมา มีตัวชี้วัดหลายด้านก็คือสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (หรือ GDP) ต่อหัว, อายุขัยเฉลี่ยของคนในประเทศ, เสรีภาพการใช้ชีวิตในสังคม, ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และการปลอดจากคอร์รัปชั่นในภาครัฐหรือภาคธุรกิจเอกชน

ทั้งนี้ตนอยากให้พี่น้องประชาชนภาคภูมิใจ กับสิ่งที่เป็นภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่ดี ในสายตาอารยประเทศ อะไรที่ดีก็ช่วยกันรักษา อย่าทำลายกัน อย่าบิดเบือนกัน แล้วพัฒนากันให้ดียิ่งขึ้น อย่าสร้างการรับรู้ผิดๆ ให้กับสังคม สิ่งใดที่ยังบกพร่อง ต้องใช้เวลา ต้องช่วยกันแก้ไขกันต่อไปเพื่อลูกหลานของเราในอนาคตด้วย

อีกประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด คือการแก้ปัญหาขยะที่ได้ประกาศให้เป็น “วาระแห่งชาติ” และอยู่ในความสนใจของประชาคมโลกเช่นกัน

ขณะนี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ขับเคลื่อนการดำเนินการ “โครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะ เพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง” RDF ( Refuse Derived Fuel) และปุ๋ยอินทรีย์ ที่เป็นเทคโนโลยีของคนไทยพัฒนาใช้เอง และดำเนินการจนเห็นผลแล้วหลายพื้นที่ โดยโครงการนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2559 ซึ่งถือเป็นการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยอย่างเป็นรูปธรรม และรับรองผลได้เป็นครั้งแรก โดยรัฐบาลบูรณาการ 5 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบโจทย์ที่กับวาระแห่งชาติดังกล่าว ด้วยนโยบาย 4 ข้อคือ

  1. การเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน (Waste to Energy) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนำขยะมาเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิง แล้วนำไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม หรือผลิตไฟฟ้า ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิต ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย
  2. “การส่งเสริมบัญชีนวัตกรรมไทย” ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกภาครัฐ ในการเชื่อมโยงระหว่างผลงานวิจัย ที่ สกว. และ กระทรวงพลังงาน ได้สนับสนุนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยให้มีการขึ้นทะเบียนเป็นนวัตกรรมไทย เพื่อนำมาผลิตสู่เชิงพาณิชย์ อย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐาน ซึ่งเทคนิคการกำจัดขยะนี้ ได้นำ เทคโนโลยีระบบการจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง ของม.เทคโนโลยีสุรนารี มาพัฒนาต่อยอด ซึ่งนับเป็นตัวอย่างที่ดีของการบูรณาการงานวิชาการกับงานด้านปฏิบัติ
  3. “กลไกประชารัฐ” ที่ภาควิชาการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ภาครัฐ สนับสนุนงบประมาณ และชุมชนท้องถิ่น นำไปสร้างระบบเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์  และ SCG ลงนาม MOU รับซื้อระบบกำจัดขยะนี้ทั้งหมดที่ผลิตได้โดยนวัตกรรมไทย เป็นการสร้างความเข้มแข็ง และมั่นคงที่ยังยืนให้กับชุมชน ไม่ใช่แต่เพียงด้านเศรษฐกิจ แต่รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
  4. “Thailand 0”  ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ ถือเป็นการนำเอานวัตกรรมมาปรับใช้ในการใช้ ในการใช้ชีวิตประจำวัน และดูแลสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนให้นวัตกรรมไทย ขายได้ ปลุกพลังนักวิจัยไทยให้ค้นคว้าเพื่อพัฒนาประเทศ และช่วยสะท้อนว่า Thailand 4.0 นั้น เกี่ยวข้องกับทุกด้านของการดำเนินชีวิต ของพวกเราทุกคน ไม่ใช่เฉพาะเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

นอกจากการสร้างระบบกำจัดขยะนี้จะสอดคล้องกับมาตรการในประเทศของรัฐบาลแล้ว ยังสามารถตอบโจทย์นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของโลกอีก 2 ด้าน คือ

(1) การช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจากบ่อขยะ ที่เป็นบ่อเกิดของก๊าซมีเทน สาเหตุของภาวะโลกร้อน

(2) การสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว  ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ทำให้พี่น้องประชาชนกินดีอยู่ดี ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม หรือระบบนิเวศน์ เป็นการประหยัดทรัพยากร ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตามตนต้องขอชมเชยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นแบบอย่างในการทำงานเชิงรุก มีวิสัยทัศน์ ประยุกต์นโยบายรัฐบาลสู่การปฏิบัติ อย่างบูรณาการ และขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันคิดช่วยกันทำ เพื่อผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน และประเทศชาติเป็นหลัก ซึ่งตนขอยืนยันว่ารัฐบาลและ คสช. จะพยายามสะสางปัญหาที่หมักหมม มายาวนาน เพื่อนำพาประเทศของเราสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ให้จงได้