ม.44..ขลัง หรือ ขำ

ม.44..ขลัง หรือ ขำ


อารมณ์ความรู้สึก ตลอดจนทัศนคติที่ชาวบ้านมีต่อการใช้อำนาจของหัวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ตามบทบัญญัติมาตรา 44 (ม.44) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ดูจะแปรเปลี่ยนไปมากในห้วงเวลา 3 ปีที่คสช.ก้าวเข้ามารับผิดชอบดูแลบ้านเมืองต่อจากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แรกเริ่มเดิมที ปฏิกิริยาชาวบ้านออกไปในทางนิยมชมชื่นในความเด็ดขาดต่อการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. เพื่อจัดระเบียบอำนวยความเรียบร้อยให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง

วันคืนเดือนปีที่ผ่านไป ปฏิกิริยาอารมณ์ความรู้สึกของชาวบ้านที่มีต่อการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ค่อย ๆ แปรเปลี่ยนไปโดยลำดับ

จากชื่นชมมาก…เป็นชื่นชมน้อย…เฉย ๆ…แล้วพัฒนายกระดับไปเป็นพิศวงงงงวย !!!

ตกลงว่า ม.44  คือบทบัญญัติที่ขลังศักดิ์สิทธิ์ มากด้วยอิทธิฤทธิ์ในการเดินหน้าประเทศไทย หรือคือยาสามัญประจำตัวหัวหน้า คสช. หรือ คือบทบัญญัติชวนตลกขบขันคลายเครียดกันแน่ ??

นับจากปี 2557 เรื่อยมาจวบกระทั่งปัจจุบัน ล่วงมาถึงปี 2560 หัวหน้าคณะ คสช. ใช้อำนาจตาม ม.44 ออกคำสั่งไปแล้วกว่า 120 คำสั่ง หรือคิดเป็นเฉลี่ย 4 คำสั่งต่อสัปดาห์ กระทั่งผู้คนมากหน้าหลายตาพากันออกปากด้วยความห่วงใยว่าเป็นการใช้อำนาจพร่ำเพรื่อเกินไป

ในบรรดาคำสั่งกว่า 120 คำสั่งที่ทยอยประกาศออกมา มีเนื้อหาเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบชนิดครอบจักรวาล ตั้งแต่เรื่องหาบเร่-แผงลอย-ทางเท้า-แต่งตั้งโยกย้าย ครอบคลุมไปในหลากหลายกลุ่มงานทั้งกลุ่มงานการปกครองท้องถิ่น-การปกครองท้องที่-การศึกษา-สาธารณสุข-องค์กรอิสระ  แต่ไม่แน่ว่าจะเคยมีการติดตามประเมินผลลัพธ์การออกคำสั่งกันและไล่เบี้ยกวดขันบรรดาข้าราชการ – พนักงานราชการ “เกียร์ว่าง” อย่างจริงจังแค่ไหน กระทั่งอดคิดไม่ได้ว่าผู้มีอำนาจออกคำสั่ง ทำหน้าที่ออกคำสั่งไปตามหน้าที่ โดยลืมที่จะให้ความใส่ในมรรคผลที่จะเกิดขึ้น

จู่ๆวันดีคืนดีก็มีประกาศคำสั่ง ตาม ม.44 กำหนดบังคับให้ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ในการโดยสารรถยนต์

วันดีคืนดีก็มีประกาศคำสั่ง ตาม ม.44 กำหนดให้ต้องชำระค่าปรับ ภายในระยะเวลาที่กำหนด มิเช่นนั้นจะถูกปฏิเสธการต่อทะเบียน

วันดีคืนดีก็มีคำสั่ง ตาม ม.44 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายรถจอดกีดขวางการจราจร โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

เจตนาการออกคำสั่งที่ว่า ของหัวหน้า คสช.เป็นกุศลเจตนาแน่นอน  แต่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในมิติของความเหมาะสม…ความจำเป็น…และความสอดคล้องกับวิถีชีวิตการเดินทางแบบไทยๆ

ประเด็นว่าด้วยการคาดเข็มขัดนิรภัย ดูจะเป็นปมที่ถูกพูดถึงกันมากที่สุด และอาจบานปลายกลายเป็นประเด็นการรังแกรังแครังคัดคนยากคนจน ซึ่งต้องอาศัยเดินทางด้วยการนั่งตากแดดตากลมไปท้ายรถกระบะ

เทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งพ่อแม่พี่น้องเคยนั่งรวมกันท้ายรถกระบะกลับภูมิลำเนาร่วมกัน จะยังคงทำได้เหมือนที่เคยทำอยู่ต่อไปหรือไม่

หรือว่าจะต้องกลายเป็นเหยื่อถูกจับปรับ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. เพราะไม่คาดเข็มขัดนิรภัย

………………………………………………………….