มาเร็ว..เคลมเร็ว..ปิดเกมเร็ว ภายในเวลาเพียงแค่ 14 เดือนเท่านั้น สำหรับการทำหน้าที่ผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือที่ชาวบ้านรู้จักคุ้นเคยในชื่อ“ไทยพีบีเอส” ของคุณกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์
วงจรชีวิตของคุณกฤษดาระหกระเหินจากตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) แบบไม่สู้จะโสภาสถาพรมากนัก และมาเสียบในตำแหน่งผู้อำนวยการไทยพีบีเอส ชนิดที่สร้างความงุนงงสงสัยกันไปหลายบาง กระทั่งมีชาวพนักงานไทยพีบีเอสจำนวนหนึ่งเคลื่อนไหวให้ตรวจสอบคุณสมบัติ ด้วยความสงสัยว่าน่าจะขาดคุณสมบัติในข้อที่ว่าด้วยทักษะประสบการณ์การบริหารองค์กรสื่อ
คุณณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานคณะกรรมการนโยบายไทยพีบีเอสขณะนั้น ออกมายืนยันความครบถ้วนสมบูรณ์ของคุณสมบัติให้แก่คุณกฤษดา และส่งผลให้คุณกฤษดาได้รับการอนุมัติว่าจ้างให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ ไทยพีบีเอส ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นมา โดยไม่สนใจปฏิกิริยาปากอ้าตาค้างคลางแคลงใจของชาวพนักงานรวมทั้งชาวบ้านชาวเมืองอีกจำนวนหนึ่ง
คุณกฤษดา เหมือนคนดวงดีมีขบวนการราษฎรอาวุโสคอยอุ้มสมแต่อาจจะเป็นด้วยความบังเอิญเกิดปรากฏการณ์มฤตยูทับลัคนาเข้าอย่างจัง… ดวงดีเลยพลิกผันกลายเป็นตรงกันข้าม ทำเอาเจ้าตัวมีอันต้องจำใจจำจากจรเก้าอี้ผู้อำนวยการไทยพีบีเอสอย่างปัจจุบันทันด่วน
เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่าคุณกฤษดาใช้เงินของไทยพีบีเอส ไปลงทุนซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) เพื่อหวังจะสร้างรายได้ที่ดีกลับมาเป็นน้ำเลี้ยงแก่ไทยพีบีเอส แต่พฤติกรรมของคุณกฤษดา ถูกกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางและรุนแรง
ในเบื้องต้นคุณกฤษดาออกมาชี้แจง ยืนยันทำทุกสิ่งอย่างไปด้วยความบริสุทธิ์ใจและเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายทุกประการ พร้อมกับขู่ฝากไปถึงใครก็ตามที่ปูดข้อมูลเรื่องนี้และสร้างความเสื่อมเสียแก่ไทยพีบีเอส จะต้องถูกลงโทษทางวินัย
สาระที่แฝงไว้ในคำขู่ของคุณกฤษดาทำราวกับรู้เป็นนัย ๆว่ากระบอกเสียงที่โพล่งเรื่องนี้ให้ชาวบ้านชาวเมืองได้รับรู้ คือคนวงในของไทยพีบีเอสนั่นเอง
อย่างไรก็ตามคุณกฤษดากลับอุบเงียบจำนวนเงินที่นำไปซื้อหุ้นกู้ตัวนี้ ว่าจริงแท้แน่แล้วมันเท่าไรกันแน่แต่แค่บอกว่าหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ซีพีเอฟเป็นหุ้นที่ถูกจัดชั้นเป็นหุ้นเกรดเอ มีความเสี่ยงต่ำ แถมยังให้ผลตอบแทนที่ดี
ไล่เลี่ยกับคำยอวาทีลงทุนหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ซีพีเอฟ..ทำถูก..ทำดีของคุณกฤษดา ไม่ช้าไม่นาน ในช่วงสาย ๆ ของวันที่ 15 มีนาคม ผู้บริหารส.ส.ท.ก็ออกคำชี้แจงมีใจความสำคัญสำทับยืนยันความถูกต้องของข้อชี้แจงจากปากคำคุณกฤษดา
ถัดมาในช่วงค่ำวันเดียวกันคณะกรรมการนโยบายก็ออกแถลงการณ์ในเรื่องเดียวกัน โดยยืนยันการนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ตามกฎหมายและตามระเบียบของส.ส.ท. แต่ผู้บริหารต้องรายงานรายละเอียดเพื่อให้คณะกรรมการนโยบายให้ความเห็นชอบอีกครั้ง หลังจากได้รับความเห็นชอบหลักการไปแล้ว พร้อมกับแจ้งเป็นทางการถึงการแสดงความรับผิดชอบของผู้อำนวยการ ด้วยการ “ลาออก”
กรณีนี้หากพินิจพิจารณาตามตัวอักษรสะท้อนเจตนารมณ์การจัดตั้งไทยพีบีเอส ซึ่งปรากฏในบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) แล้ว การลงทุนแสวงหากำไรหรือรายได้จากการซื้อขายตราสารหนี้หรือหุ้นกู้เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง และคณะกรรมการนโยบาย ไม่มีอำนาจใดๆที่จะให้ความเห็นชอบหรืออนุมัติให้ดำเนินการ
การที่คณะกรรมการนโยบายให้ความเห็นชอบฝ่ายบริหารนำเงินไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้ จึงน่าจะเข้าข่ายกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ว่าการสำนักงานคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดินควรจะต้องเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดเรื่องนี้ เพื่อความชัดเจนโปร่งใส ไม่ใช่ปล่อยให้คุณกฤษดาในฐานะผู้อำนวยการ ถูก “บูชายัญ” แบบโดดเดี่ยว
คนดีอีกหลายคนที่ยังซ่อนตัวอยู่หลังฉาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนดีระดับ “นางบังเงาจอมบงการ” ควรต้องได้รับเกียรติเชิญให้ร่วมกันรับผิดชอบกับเรื่องนี้ ไม่ใช่ปล่อยลอยแพคุณกฤษดาให้เป็นเหมือน “หนังหน้าไฟ” ตามลำพัง
โดย ศักดิ์ชัย พฤฒิภัค