“ขึ้นภาษี” อีกกรณีของข่าวลือไปเร็ว ข่าวจริงมาช้า

“ขึ้นภาษี” อีกกรณีของข่าวลือไปเร็ว ข่าวจริงมาช้า


    เคยมีคนเปรียบเปรยการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์บางยุคจะอดีตหรือปัจจุบันก็ลืมๆไปแล้วว่า ข่าวร้ายลงฟรีข่าวดีเสียตังค์เช่นบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งปล่อยน้ำเสียจากโรงงานทำให้เกิดมลพิษขึ้นในแม่น้ำลำคลอง ชาวบ้านและเกษตรกรที่ต้องใช้น้ำให้กับพืชผลได้รับผลกระทบ

หนังสือพิมพ์รายงานข่าวนี้กันอย่างเกาะติดขุดคุ้ยเบื้องลึกเบื้องหลังกันจนเจ้าของกิจการต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบจ่ายเงินเยียวยาให้ชาวบ้านและเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนพร้อมทั้งแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงาน

ปรากฏว่าไม่มีการรายงานข่าวเรื่องการแสดงความรับผิดชอบดังกล่าวบริษัทต้องซื้อหน้าโฆษณาลงภาพและเรื่องราวว่าได้มีโครงการแก้ปัญหาอย่างไรบ้างข่าวดีจึงเข้ากรณีถ้าจะอยูบนหน้าหนังสืิอพิมพ์ได้ก็ต้องเสียตังค์ (ค่าโฆษณา)ไปตามระเบียบ

    

แต่ยุคนี้ข่าวสารไม่ต้องรอติดตามเฉพาะบนหน้าหนังสือพิมพ์หากแต่มีสื่อออนไลน์ที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้อย่างกว้างขวางและมากมายมหาศาล ทั้งทางยูทูบ ไลน์ เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ อินสตราแกรม เพจต่างๆ ทุกคนเป็นทั้ง”ผู้รับ”และ”ผู้ให้”ข้อมูลข่าวสารที่รับรู้รับทราบกันครอบคลุมทั้งข่าวใหญ่ข่าวเล็กข่าวการเมืองเศรษฐกิจ สังคมมีทั้งข่าวที่เป็นข่าวและข่าวประเภทไม่เป็นเรื่อง

ยุคนี้มีปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยมากก็คือข่าวลือไปเร็วขณะที่ข่าวจริงมาช้าโดยเฉพาะข่าวเรื่องการจะขึ้นภาษีอย่างเช่นก่อนหน้านี้ก็ลือกันว่าจะขึ้นภาษีสรรพสามิตรเหล้าบุหรี่จนมีผู้ทำเป็นตารางเปรียบเทียบว่าภาษีจะปรับขึ้นสูงมาก ๆ อย่างไรมีของเก่าของใหม่มาแสดงกันชัดเจน

      ข่าวจริงตามมาภายหลังว่ากรมสรรพสามิตยังไม่ได้กำหนดอัตราภาษีที่มีการเผยแพร่ออกไปแต่ประการใด ล่าสุดก็ลือกันว่าจะขึ้นภาษีแวตหรือภาษีมูลค่าเพิ่มมีการลือด้วยว่านายกรัฐมนตรีอยากจะขอขึ้นจาก 7 %เป็น 8 %และข่าวจริงก็ตามมาด้วยการปฏิเสธทั้งจากนายกรัฐมนตรีและรองนายกฯสมคิดจาตุศรีพิทักษ์หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

อันที่จริงเรื่องภาษีทั้งภาษีสรรพากรเหล้าบุหรี่และเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มก็มีปัจจัยที่จะถูกใช้เป็นข่าวลือหรือลือกันไปด้วยเข้าใจผิดกล่าวคือการลืออย่างมีการจัดตั้งหรือลือตามกระบวนการที่มีเป้าหมายโจมตีรัฐบาลกับลือด้วยความไม่มีความรู้ความเข้าใจแต่เกิดการตกอกตกใจด้วยเกรงจะได้รับความเดือดร้อนจากการปรับขึ้นภาษี กล่าวคือสำหรับภาษีสรรพสามิตเหล้าบุหรี่ กรมสรรพสามิตได้ปฎิรูปการคำนวณภาษีใหม่จากราคาขายส่งมาเป็นราคาขายปลีกพร้อมๆกันนั้นก็ปรับอัตราภาษีที่จะจัดเก็บด้วย

ในรายละเอียดเดิมนั้นภาษีสรรพสามิตเหล้าบุหรี่จะคิดจากราคาขายส่ง(ก่อนจะเป็นราคาขายส่งก็เคยใช้ราคาหน้าโรงงานมาก่อน)การเปลี่ยนมาเป็นราคาขายปลีกทำให้ฐานราคาที่ใช้คำนวณสูงขึ้นแต่ก็จะมีการปรับอัตราด้วยเพื่อไม่ให้เหล้าบุหรี่ต้องปรับราคาขึ้นไปอย่างพรวดพราดแต่อนาคตราคาก็จะต้องค่อย ๆปรับสูงขึ้นแน่ ๆ

       ส่วนเรื่องแวต ข้อเท็จจริงที่คนไทยคล้ายจะลืมๆกันไปแล้วก็คือ ภาษีแวตจริง ๆนั้นคือ 10 % ไม่ใช่ 7 % อย่างที่จัดเก็บปัจจุบันแวตจัดเก็บในอัตรา7%มายาวนานเมื่อขึ้นเป็น10%ได้ไม่นานก็เกิดกรณีต้มยำกุ้งจึงต้องปรับลดแวตลงมาที่เดิมคือ7%เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคแต่หลังจากนั้นก็ไม่มีรัฐบาลใดกล้าตัดสินใจให้กลับไปใช้อัตรา10%ยังต้องออกพระราชกฤษฎีกาต่ออายุการลดภาษีแวตไว้ที่7%ปีต่อปีดังนั้นเมื่อใกล้เวลาที่จะต้องประกาศขยายเวลาก็จะมีข่าวเกี่ยวกับภาษีแวตแทบจะทุกปี

จริงๆก็ไม่ต้องประกาศขึ้นแวตเลยแค่ไม่ขยายเวลาภาษีแวตก็จะต้องจัดเก็บกันที่10%โดยปริยายการกำหนดให้ภาษีแวตเท่ากับ10%ก็ด้วยศึกษาแล้วว่าเหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยแต่เมื่อเกิดสถานการณ์ใหญ่ฟองสบู่แตกเศรษฐกิจไทยพังพินาศการลดภาษีแวตลงมาเพื่อเริ่มต้นใหม่ก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผลแต่เมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้หลังปี2540รัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจให้กลับไปใช้ภาษีแวต10%เพราะเกรงกลัวผลด้านลบต่อคะแนนนิยม สิ่งนี้คือความผิดพลาดที่สะสมกันต่อๆมาจนทุกรัฐบาลไม่เว้นแม้แต่รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

      

ถึงขณะนี้ข่าวจริงก็คือไม่ใช่ช่วงเวลาของการกลับไปใช้แวต10%ด้วยเหตุผลว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบทั้งจากปัญหาการเมืองภายในประเทศและวิกฤตการณ์ฟองสบู่ตราสารอนุพันธ์ของสหรัฐฯแตก เพิ่งจะค่อย ๆฟื้นตัวยังต้องรอให้แข็งแรงมากกว่านี้

ในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพนั่นแหละค่อยติดตามกันไปว่ารัฐบาลในอนาคตซึ่งคงจะมาจากการเลือกตั้งแล้วจะตัดสินใจอย่างไรกับภาษีแวตหรือจะให้เจ้ากรมข่าวลือได้ทำหน้ากันอย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อยก็ให้รู้กันไป

โดย ไพศาล มังกรไชยา