ปราบโกง..ท่าดีแต่ทีเหลว!!

ปราบโกง..ท่าดีแต่ทีเหลว!!


เมืองไทยกับการทุจริตฉ้อราษฏร์บังหลวง ดูมันช่างผูกพันกลมเกลียวเหนียวแน่นยากแก่การเยียวยา แม้จะมีกลไกกระบวนการและกฎหมายป้องกันปราบปรามการทุจริตมากมาย แต่ความชุกชุมของพฤติกรรมคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบก็ยังพบเห็นกันดาษดื่น

องค์กรความโปร่งใสนานาชาติออกรายงานฉบับล่าสุด สะท้อนคะแนนความโปร่งใสประเทศไทย ในรอบปี 2559 ไปในทิศทางที่เป็นลบ และส่งผลให้อันดับความโปร่งใสของประเทศไทยหล่นตุ๊บจากอันดับที่ 76 ในปี 2558 ไหลยาวลงไป 5 อันดับไปหยุดอยู่ที่อันดับ 101 ด้วยผลรวมคะแนนเฉลี่ยจากดัชนี 9 ประเภท ที่ปรับตัวลดลงจากระดับ 38 มาอยู่ที่ 35 และยังคงมีสถานะ “สอบตก”อย่างต่อเนื่อง โดยมีคะแนนเฉลี่ยของดัชนีทุกประเภทต่ำกว่า 50 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน

ค่าดัชนีที่เป็นเหตุปัจจัยสำคัญฉุดอันดับความโปร่งใสของประเทศไทยให้ทรุดฮวบลงมีอยู่ 2 ประการ  ประการแรก คือค่าดัชนี Global Insight Country Risk Rating หรือ GI ซึ่งทรุดฮวบฮาบลงจาก 42 แต้มเมื่อปี 2558 มาเหลือแค่ 22 แต้ม จากคะแนนเต็ม 100 แต้ม

อาการวูบตัวลงอย่างแรงของค่าดัชนี GI บ่งชี้ว่าการติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานราชการ จำนวนมากยังคงต้องมีค่าน้ำร้อนน้ำชา มีค่าน้ำมันหล่อลื่น มีค่าเบี้ยใบ้รายทางสารพัด ในลักษณะการรับสินบนแบบ “ตามน้ำ” แต่ไม่ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการ”ตบทรัพย์” หรือ”ขู่กรรโชกทรัพย์”

ใครก็ตามที่ต้องการได้รับความสะดวกรวดเร็วของการให้บริการ พึงต้องรู้โดยปริยายถึงธรรมเนียมการต้อง”หล่อลื่น”

ใครก็ตามที่สุจริตซื่อตรงก็พึงต้องยอมรับสภาพกับการได้รับบริการที่อืดอาดยืดยาด เช้าชามเย็นชาม ตามแบบฉบับเอกลักษณ์หน่วยงานราชการไทยที่ตกทอดสืบต่อกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า

หน่วยงานภาครัฐที่เสพติดพฤติกรรมรับสินบนแบบ “ตามน้ำ” ชนิด “เงินไม่มางานไม่เดิน” มักจะเป็นหน่วยงานซึ่งมีอำนาจเกี่ยวกับงานจดทะเบียน…งานออกใบอนุญาต…งานตรวจสอบ

นอกจากพฤติกรรมเสพติดสินบนแบบตามน้ำของหน่วยงานราชการจำนวนหนึ่งที่ฉุดค่าดัชนี GI ให้ดิ่งพสุธาลงมาแล้ว ยังมีพฤติกรรมของหน่วยงานราชการบางกลุ่มที่ “สวมเกราะ”กำหนดเป็นพื้นที่ปลอดการตรวจสอบ ป้องกันตัวเองจากการถูกตรวจสอบแม้จะเป็นโครงการจัดซื้อจัดหาที่เกี่ยวพันกับงบประมาณก้อนใหญ่ก้อนโตก็ตาม

ประการที่สอง ได้แก่ค่าดัชนีเกี่ยวเนื่องกับความเป็นประชาธิปไตย หรือ Varieties of Democracy Project ซึ่งองค์กรความโปร่งใสนานาชาติ เพิ่งริเริ่มนำมาใช้ประกอบการตรวจวัดค่าดัชนีความโปร่งใสเป็นครั้งแรกในปี 2559 และในกลุ่มอาเซียนก็เลือกเฉพาะ 4 ชาติ คือไทย-เมียนมาร์-ฟิลิปปินส์-กัมพูชา โดยผลการตรวจวัดลงเอยที่ประเทศไทยในยุคสมัยคืนความสุข ประเดิมด้วยการ “สอบตก” ด้วยคะแนน 24 แต้ม จากคะแนนเต็ม 100 แต้ม

เหลือเชื่อแต่ต้องเชื่อเมื่อพบว่าค่าคะแนนความเป็นประชาธิปไตยของไทยแย่กว่าเมียนมาร์ 26 แต้ม แย่กว่าฟิลิปปินส์ 12 แต้ม แต่ดีกว่ากัมพูชา แค่ 7 แต้ม

แนวโน้มพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชั่น ยังส่อเค้าของความเข้มข้นและรุนแรงหนักหนาสาหัสหนักยิ่งขึ้น ถึงแม้จะมีศาลชำนาญพิเศษว่าด้วยคดีทุจริตและมีการยกระดับกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นพระราชบัญญัติ ก็ตามที

ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เพราะว่าองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันปราบปราบการทุจริต ตลอดรวมถึงกฎหมายสารพัดที่มีบทบัญญัติเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นเพียงแค่เครื่องมือ แต่ผลสัมฤทธิ์ของการป้องกัน ปราบปราม กวาดล้างการทุจริตอยู่ที่การลงมือปฏิบัติอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย และกลไกประดามีอย่างเต็มที่ ตรงไปตรงมา ไม่ลูบหน้าปะจมูก

สำคัญที่สุดคือต้องปราศจาก”ข้อยกเว้น”

โดย ศักดิ์ชัย พฤฒิภัค