แก้โจทย์ตั้งโรงไฟฟ้าอย่างนี้ดีไหม?

แก้โจทย์ตั้งโรงไฟฟ้าอย่างนี้ดีไหม?


แม้ว่าเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จะแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างฝ่ายผลักดันกับฝ่ายคัดค้านด้วยการยืดเวลาการศึกษา EIA และ EHIA ออกไปอีกอย่างน้อยปีครึ่งหรืออาจจะถึง 2 ปี แต่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าการคัดค้านเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น ไม่ใช่ประเด็นเรื่องข้อมูลหรือข้อเท็จจริง หากแต่เป็นเรื่องความวิตกกังวลของคนในพื้นที่มากกว่าอื่นใด

ดังนั้นฝ่ายสนับสนุนอาจจะนำพยานหลักฐานข้อเท็จจริง มานำเสนอได้ชัดเจนมากกว่าฝ่ายคัดค้าน แต่ข้อสรุปก็คือถ้าคิดว่าปลอดภัยก็สร้างกันไปเลยแต่ได้โปรดอย่ามาสร้างที่บ้านฉัน

เบื้องหลังการคัดค้านตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่อื่น ๆ นอกจากที่กระบี่ก็แทบจะไม่แตกต่างกัน กล่าวคือถูกคัดค้านจากคนในพื้นที่เป็นหลักเหมือน ๆกับที่คนอำเภอองครักษ์เมื่อกว่า 20-30 ปีที่แล้วก็คัดค้านการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์ปรมาณูที่ว่ากันว่าจะเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในขั้นต่อไป

ประเด็นนี้มีความน่าสนใจว่าเมื่อโรงไฟฟ้าไปตั้งอยู่ในพื้นที่ใด ชาวบ้านในพื้นที่นั้นจะต้องเสี่ยงกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมากที่สุด แต่ชาวบ้านจะได้รับประโยชน์จากการได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่เท่ากับหรือใกล้เคียงกับผู้ที่อยู่ไกลออกไปจากโรงไฟฟ้าในระยะที่ปลอดภัยกว่า

ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหา มีผู้เสนอว่าเราจะเปลี่ยนระบบการคิดค่าใช้ไฟฟ้าตามระยะทางได้หรือไม่โดยเริ่มจากโรงไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ไปจนถึงบ้านเรือนของผู้ใช้ไฟฟ้า เช่นชาวแม่เมาะและอำเภอใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ลำปางจะเสียค่าไฟฟ้าน้อยกว่าคนเชียงใหม่ที่ไม่มีโรงไฟฟ้าเป็นต้น

วิธีนี้ก็จะทำให้คนในพื้นที่ที่จะเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าได้เป็น “ผู้รับ” (ค่าไฟฟ้าที่ถูกกว่าคนอื่น) ตอบแทนการเป็น “ผู้ให้” (สถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า)กับเขาบ้าง

ใครที่บอกว่าไฟฟ้าไม่มีวันขาดแคลนตราบใดที่รัฐลงทุนลากสายให้มาถึงซึ่งก็เป็นเรื่องจริง แต่จะยอมรับกับราคาค่าไฟที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะทางได้หรือไม่ประเด็นนี้ก็น่าขบคิดมาก

มีอีกเรื่องหนึ่ง เนื่องจากมีผู้เสนอว่าประเทศไทยควรทุ่มเทไปที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเช่น ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ไฟฟ้าพลังลม และอื่น ๆ อีกมากที่จะไม่สร้างมลพิษ

แต่เนื่องจากมีข้อเท็จจริงว่าไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนยังมีต้นทุนสูงกว่าต้นทุนอื่น ๆ รัฐจึงต้องมีโครงการอุดหนุนด้วยการช่วยรับซื้อกระแสไฟฟ้าในราคาที่ทำให้ผู้ประกอบการคุ้มทุน เช่นค่าไฟฟ้าคิดกัน 4 บาทต่อยูนิตก็อาจจะรับซื้อ 5.60 บาทต่อยูนิต เงิน 1.60 บาทคือสิ่งที่รัฐช่วยเหลือทำให้ผู้ทำธุรกิจโรงไฟฟ้าหมุนเวียนร่ำรวยกันมามากมาย โดยเฉพาะที่นำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

สำหรับเงินที่อุดหนุนก็มีที่มาจากประชาชนผู้ใช่ไฟฟ้าทุกคน เพราะก็คือค่า FT ที่เรียกเก็บเพิ่มทุก ๆเดินมากบ้างน้อยบ้างนั่นเอง

ประเด็นนี้ทำให้มีผู้เสนอว่าถ้าจะให้เกิดความเป็นธรรมก็ไม่ควรเหมารวม กล่าวคือในพื้นที่ใดที่ประชาชนต้องการพลังงานไฟฟ้าที่สะอาดซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ประชาชนในพื้นที่นั้น ๆก็ควรจะต้องจ่ายค่าไฟตามราคาต้นทุนที่แท้จริงโดยไม่ต้องไปให้พื้นที่อื่นช่วยเฉลี่ย เนื่องจากพื้นที่ที่ยอมรับให้เป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าที่จะต้องสุ่มเสียงกับมลพิษจะได้ตรึกตรองได้ว่าจะคุ้มค่าหรือไม่กับค่าไฟฟ้าที่ถูกลงตามต้นทุนของโรงไฟฟ้า

หลักการดังกล่าวนี้จะเป็นไปได้หรือไม่คงอยู่ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคน ???

 

โดย ไพศาล มังกรไชยา