ต้องอย่างนี้แก้หนี้นอกระบบแก้ได้จริง

ต้องอย่างนี้แก้หนี้นอกระบบแก้ได้จริง


ความพยายามแก้ไขหนี้นอกระบบเกิดขึ้นมาแล้วหลายรัฐบาล ด้วยแนวนโยบายและมาตรการต่าง ๆมากมายหลากหลาย เช่นการกวาดล้างจับกุมนายทุนเงินกู้ การส่งเสริมองค์กรการเงินชุมชนเพื่อให้เป็นที่พึ่งพิงด้านสินเชื่อแก่คนยากคนจนแทนการกู้เงินจากนายทุนเงินกู้ที่ผิดกฎหมาย ช่วงหลัง ๆนี้หลาย ๆรัฐบาลก็ใช้วิธีเปลี่ยนหนี้นอกระบบให้เป็นหนี้ในระบบ โดยใช้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือธกส.เป็นกลไกสำคัญรับแปลงหนี้ จากนายทุนเงินกู้นอกระบบมาเป็นเงินกู้ของธนาคาร ประโยชน์คือคนยากคนจนที่เป็นลูกหนี้เงินกู้นอกระบบที่เคยมีภาระดอกเบี้ยสูง ๆเดือนละ 10 – 20 เปอร์เซนต์จะมีโอกาสลืมตาอ้าปากได้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงอย่างเช่นไม่เกินเดือนละ 0.85 เปอร์เซ็นต์ ดังที่รัฐบาลปัจจุบันอนุมัติวงเงินให้ทั้ง 2 ธนาคารรวมกัน 10,000 ล้านบาท เป็นต้น

แต่ปัญหาเงินกู้นอกระบบหรือเงินกู้ดอกเบี้ยโหดก็ยังไม่เคยหมดไปหรือน้อยลง ครั้งใดที่เปิดให้มีการลงทะเบียนคนจนปัญหาหนี้นอกระบบยังคงถูกระบุว่าเป็นสาเหตุใหญ่ ทำให้คนจนไม่สามารถหลุดพ้นจากภาวะความยากจนไปได้ มิหนำซ้ำยังยิ่งต้องยากจนมากขึ้นเรื่อย ๆและดูว่าจะไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากจนไปได้ตลอดกาล

สะท้อนว่ามาตรการทางกฎหมายไม่เคยกวาดล้างนายทุนเงินกู้นอกระบบให้หมดไปได้ หรือแม้แต่จะให้ลดลงก็คงทำได้ชั่วครั้งชั่วคราวไม่ยั่งยืน กล่าวคือจำนวนอาจจะลดลงบ้างช่วงกวดขันแต่ก็จะกลับมาอีกครั้งเมื่อลดการกวดขันลงเพราะคนยากคนจนยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ เงินกู้นอกระบบจึงยังมีผู้ต้องการไม่เคยหมดไป

ขณะที่การนำเงินกู้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ ไป ๆมา ๆต้องกลายเป็นหนี้ทั้งสองระบบก็มีเป็นจำนวนไม่น้อย  บทเรียนจากอดีตเหล่านี้บ่งบอกว่าการจะแก้ไขเรื่องหนี้นอกระบบต้องทำหลาย ๆอย่างไปพร้อม ๆกันหรือเป็นปัญหาที่ต้องบูรณาการอย่างมาก ๆ ดังนั้นเมื่อได้ทราบว่ารัฐบาล “ลุงตู่” โดยกระทรวงการคลังประกาศแก้หนี้นอกระบบด้วยการขับเคลื่อนพร้อม ๆกันใน 5 มิติ ถ้าจะเปรียบเทียบกับนโยบายหรือมาตรการในอดีตแล้ว ครั้งนี้ยอมรับว่าเป็นความพยายามที่จะแก้ไขเรื่องหนี้นอกระบบได้อย่างน่าฝากความหวังไว้มากที่สุด

ทั้ง 5 มิติที่ท่านรัฐมนตรีคลังอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เป็นผู้ประกาศเองนั้นมีดังต่อไปนี้

มิติแรกคือ การใช้มาตรการกวาดล้างนายทุนเงินกู้ที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจังตามกฎหมายใหม่ คือ พ.ร.บ.การห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรากำหนด พ.ศ.2560 ซึ่งเพิ่มโทษจำและปรับสูงขึ้นเท่าตัว เรื่องนี้ก็ดูว่าจะสอดคล้องกับคดีการทลายเครือข่ายของ “นายวิชัย ปั้นงาม” ที่จัดว่าเป็นเครือข่ายเงินกู้ผิดกฎหมายรายใหญ่ของประเทศมีความเกี่ยวพันกับนักการเมือง และข้าราชการเป็นจำนวนหลักพันคนที่ทำให้หลุดรอดความผิดมาโดยตลอด ถ้าขยายผลจริงจังก็เชื่อว่าจะเป็นการปราบปรามที่เข้าสู่ศูนย์กลางของเครือข่าย ไม่ใช่ลูกสมุนหรือบุคคลระดับปลายแถวอย่างที่ผ่าน ๆมา

มิติที่สอง เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อให้กับผู้มีรายได้น้อยหรือคนยากคนจน โดยอนุญาตให้มีการจัดตั้งสถาบันการเงินขนาดย่อมและขนาดจิ๋ว คือนาโนไฟแนนซ์ และ พิโกไฟแนนซ์โดยชักจูงให้ผู้ประกอบธุรกิจปล่อยกู้นอกระบบเข้ามาจัดตั้งเป็นสถาบันการเงินในระบบดังกล่าว โดยสามารถคิดอัตราดอกเบี้ยได้สูงกว่าสถาบันการเงินอื่น ๆแต่ต่ำกว่าที่เคยประกอบเป็นธุรกิจที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ในระยะเปลี่ยนผ่านก็ให้ธนาคารออมสินและธกส. มีวงเงิน 10,000 ล้านบาทที่จะช่วยแปลงหนี้นอกระบบพร้อม ๆไปด้วย

มิติที่สาม เพื่อให้เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบและลูกหนี้สามารถเข้าสู่ระบบได้พร้อม ๆกัน รัฐจะจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยหนี้ขึ้นในทุกพื้นที่ ลูกหนี้กับเจ้าหนี้เมื่อมีใจตรงกันคือฝ่ายเจ้าหนี้ไม่อยากทำธุรกิจผิดกฎหมาย ส่วนฝ่ายลูกหนี้ต้องการมีภาระดอกเบี้ยที่ลดลงจนพอจะทำให้ปลดหนี้ได้ สามารถจูงมือกันมาตกลงกันได้ที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยในพื้นที่หรือจังหวัดของตน

มิติที่สี่ เพื่อให้ผู้มีหนี้นอกระบบไม่กับมาเป็นหนี้อีก รัฐจะให้ความรู้เรื่องการบริหารเงินรวมทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อทำให้มีรายได้ที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยไม่ให้ต้องมีหนี้ในระยะยาว

และสุดท้ายมิติที่ห้า อะไรก็คงจะเป็นที่พึ่งพิงที่ดีเท่าองค์กรการเงินของชุมชนไปไม่ได้เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดย่อมรู้ปัญหาดีที่สุด รัฐจึงมีนโยบายที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรการเงินของชุมชนซึ่งมีมากมายทั้งกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ชุมชน กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นต้น

เห็นได้ชัดเจนว่านโยบายแก้ไขหนี้นอกระบบนี้ พิจารณาถึงความจำเป็นและข้อจำกัดของคนยากคนจน ซึ่งนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบและซ้ำเติมให้ยิ่งยากจนมากขึ้น

การนำสิ่งที่อยู่ใต้ดินหรืออยู่นอกระบบขึ้นมาอยู่ในระบบหรืออยู่บนดินตามกฎกติกาที่เป็นธรรมจึงมีความจำเป็น แต่ในระยะยาวสิ่งที่จะแก้ไขได้คือเรื่องของความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวางแผนด้านการเงิน การรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน และการสร้างรายได้ให้สูงขึ้นจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนของเรื่องหนี้นอกระบบหรือหนี้ดอกเบี้ยโหดทั้งหลายอย่างแท้จริง

ขอบคุณภาพจาก : ddproperty


โดย ไพศาล มังกรไชยา