นายกฯ หวังแก้หนี้นอกระบบ ยกคุณภาพชีวิต “ผู้มีรายได้น้อย”

นายกฯ หวังแก้หนี้นอกระบบ ยกคุณภาพชีวิต “ผู้มีรายได้น้อย”


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมประชาชนที่จังหวัดศรีสะเกษเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตนได้พบปะพูดคุยกับพี่น้องประชาชนถึงปัญหาและความยากลำบาก โดยได้ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหารวมถึงได้รับฟังการดำเนินโครงการต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วนของภาครัฐว่าเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนอย่างไรบ้าง ซึ่งหากมีข้อติดขัดประการใดจะต้องให้ส่วนกลางช่วยแก้ปัญหา

ทั้งนี้เรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งคือการช่วยเหลือและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับ “ผู้มีรายได้น้อย” นั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลและ คสช. ให้ความสำคัญอยู่เสมอ จากข้อมูลจากการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปีที่ผ่านมามีประชาชน กว่า 7 ล้านคน มาลงทะเบียนซึ่งมากกว่าร้อยละ 70 มีอาชีพรับจ้างทั่วไป และเกษตรกร ซึ่งมีรายได้ต่ำกว่า 40,000 บาทต่อปีและที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ กว่าร้อยละ 20 ของผู้ลงทะเบียน เป็นหนี้นอกระบบ เฉลี่ยแล้วรายละกว่า 65,000 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับรายได้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน นับว่าเป็นภาระหนัก แล้วก็ยากที่จะกลับมา“ยืนบนลำแข้งของตนเอง”ได้ ถ้าหากว่ารัฐบาลไม่มีมาตรการใดๆ ในการช่วยให้พอ “ลืมตาอ้าปาก” ได้ก่อน

ดังนั้นจึงเป็นที่มาของ “โครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ในการที่จะร่วมกันแก้ปัญหาทั้งในส่วนของ “ลูกหนี้” และ “เจ้าหนี้” ควบคู่กันไปอย่างเป็นระบบ ครบวงจร และอย่างต่อเนื่อง สรุปได้ 5 มิติ ก็คือ

(1) การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย

(2) การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบให้กับลูกหนี้นอกระบบและประชาชนทั่วไป

(3) การลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้

(4) การเพิ่มศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ความรู้ทางการเงิน ให้ความรู้ด้านการประกอบอาชีพ และมีการพัฒนาฝีมือแรงงาน ก็เพื่อจะให้ลูกหนี้มีรายได้ที่เพียงพอแล้วก็ไม่กลับมาเป็นหนี้ซ้ำอีก

และ (5) คือการร่วมมือกันพัฒนาเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชนให้ทำหน้าที่ทดแทนเจ้าหนี้นอกระบบ  และการให้หน่วยงานของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานพี่เลี้ยง สนับสนุนเงินทุนให้กับองค์กรการเงินชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง รวมทั้งให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนในชุมชน

ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมาตรการต่าง ๆ เพื่อดูแลปัญหามาอย่างต่อเนื่อง เช่นการให้สินเชื่อผ่านกองทุนหมู่บ้าน, โครงการยกระดับศักยภาพของหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ, มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล หรือมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย และสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจฐานรากเหล่านี้เป็นต้น เพื่อเป็นการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคม ให้ครบถ้วนเป็นระบบ และสอดคล้องกันใน “ทุกระดับ”

อย่างไรก็ตามการทำงานของรัฐบาลและคสช.เวลานี้พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของ “ทุกฝ่าย” เพื่อสิ่งสำคัญที่สุดก็คือประชาชนคนไทยทั้งประเทศล้วนแต่มีความคาดหวัง ให้มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้เดินไปข้างหน้าต่อไป