เป็น Medical Hub แล้วต้องใจดำอย่างนั้นหรือ ??

เป็น Medical Hub แล้วต้องใจดำอย่างนั้นหรือ ??


ประเทศไทยมีหมอเก่งและโรงพยาบาลที่ทันสมัย เป็นผลพวงจากการวางรากฐานตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ตลอดจนความทุ่มเทและเสียสละของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนกรวมทั้งเจ้านายหลายๆพระองค์ สามัญชนและคณะมิสชันนารีเพรสไบทีเรียนจากสหรัฐอเมริกา(เช่นพระอาจวิทยาคมหรือนายแพทย์จอร์จ บี.แม็คฟาร์แลนด์ ปฐมอาจารย์ของศิริราช เป็นต้น)

      โรงพยาบาลของไทยปัจจุบันนอกจากจะให้บริการด้านการแพทย์กับคนไทย ความโด่งดังด้านความเก่งและทันสมัยจึงมีชาวต่างชาตินิยมมารับบริการกันมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่มีฐานะร่ำรวย ทั้งประเทศเพื่อนบ้านใกล้ ๆและที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดได้แก่เศรษฐีจากตะวันออกกลาง ดังนั้นในย่านถนนสุขุมวิทและถนนเพชรบุรีซึ่งมีโรงพยาบาลเอกชนระดับพรีเมี่ยมเกรดหลายแห่ง โรงแรมระดับ 4 – 5 ดาวตลอดจนที่พักที่มีระดับในทุก ๆซอยของถนนสุขุมวิท ตั้งแต่ซอยนานาไปจนถึงซอยทองหล่อจึงคึกคักตามไปด้วยเหตุผลง่าย ๆก็คือคนไข้ 1 คนที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลชื่อดังของไทยย่อมต้องมีญาติติดตามมาด้วยมากกว่า 1 และญาติคนไข้เหล่านี้ที่ล้วนร่ำรวยพอ ๆกันย่อมพร้อมจ่ายเต็มที่กับการอยู่เฝ้าไข้ในเมืองที่เป็นสวรรค์สำหรับการพักผ่อนท่องเที่ยวอย่างกรุงเทพฯและอีกหลาย ๆเมืองในประเทศไทย

       อันที่จริงหมอเก่งๆและโรงพยาบาลที่ทันสมัยที่สิงคโปร์ก็ไม่ได้แพ้ไทย แต่ที่เลือกไทยว่ากันว่าเพราะญาติๆอยากมาเฝ้าไข้ที่ประเทศไทยมากกว่าสิงคโปร์ ไทยจึงมีความได้เปรียบในองค์ประกอบที่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ช่วยให้ธุรกิจโรงพยาบาลของเราโดดเด่นมากกว่าหลาย ๆประเทศด้วย

       ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเพิ่งจะเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับ ความเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์หรือ Medical Hub ของไทยซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมารวมทั้งรัฐบาลปัจจุบันได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้สิทธิประโยชน์แก่โรงพยาบาลเอกชนและพบว่ามีความก้าวหน้ามาก โดยพบว่าสัดส่วนรายได้ของโรงพยาบาลเอกชนชื่อดัง ๆจาก Medical Tourism เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 25.0 % เมื่อปี 2554 เป็น 27.0 % ในปี 2558 และคาดว่าในปี 2560 นี้รายได้จาก Medical Tourism จะเพิ่มถึง 30 %

       นอกจากนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังพบว่า โรงพยาบาลเอกชนในภาพรวมทั้งหมดในปี 2560 นี้รายได้จากคนไข้ต่างชาติจะเพิ่มขึ้น 10 – 12 % ซึ่งจะมีรายได้สูงกว่าโรงพยาบาลเอกชนที่เน้นรับเฉพาะคนไทยที่รายได้ปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 7-9 % น้อยกว่าโรงพยาบาลเอกชนที่รับคนไข้ต่างชาติ

       สาเหตุสืบเนื่องจาก โครงการบัตรทองได้เพิ่มโรคที่รักษาฟรีที่โรงพยาบาลของรัฐมากขึ้น โรงพยาบาลรัฐจึงดึงคนไข้จำนวนหนึ่งออกไปจากโรงพยาบาลเอกชนที่เน้นคนไข้คนไทย

       ดังนั้นแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนขณะนี้คือ การเน้นไปที่คนไข้ต่างชาติกระเป๋าหนักมากขึ้น โรงพยาบาลที่ไม่สนใจก็จะเริ่มสนใจที่สนใจน้อย ๆก็จะสนใจมากขึ้น รวมทั้งอาจจะได้เห็นโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งปรับรูปแบบธุรกิจแบบก้าวกระโดด

       เพราะอนาคตของโรงพยาบาลเอกชนนั้น ความมั่งคั่งร่ำรวยล้วนชี้ทิศทางไปที่คนไข้ต่างชาติมากกว่าการดูแลเพื่อนร่วมชาติ และจะเป็นเพราะอย่างนี้หรือไม่เมื่อไม่นานมานี้จึงมีข่าวว่า โรงพยาบาลเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งซึ่งดำเนินการโดยบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้ประกาศยกเลิกบัตรรักษาฟรีตลอดชีวิตหรือไลฟ์พริวิเลจซึ่งมีสมาชิกนับร้อยคนโดยจะคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยให้ เหตุผลน่าจะเป็นเพราะโรงพยาบาลต้องเสียเตียงคนไข้ไปอย่างไม่คุ้มค่าให้กับคนไทยที่ถือบัตรซึ่งจะเสียค่ารักษาพยาบาลเพียงครั้งละ 100 บาท แต่หากยกเลิกแล้วนำเตียงไปรับคนไข้ต่างชาติกระเป๋าหนักก็จะสร้างรายได้ให้มากกว่ามาก

       เรื่องนี้โรงพยาบาลถูกวิจารณ์เสียหายมาก เนื่องจากโครงการรักษาฟรีตลอดชีวิตนี้เกิดขึ้นในช่วงหลัง“ต้มยำกุ้ง”โรงพยาบาลขาดสภาพคล่องอย่างมากไม่มีสถาบันการเงินปล่อยกู้ จึงขายบัตรดังกล่าวให้ลูกค้าของโรงพยาบาลในราคาทองคำ 100 % น้ำหนัก 200 บาท แลกกับการรักษาฟรีให้ตลอดชีวิต รวมแล้วลูกค้าที่ช่วยโรงพยาบาลให้รอดพ้นการล้มละลายในช่วงนั้นจ่ายคนละ 1 ล้านถึง 1.4 ล้านบาท (โครงการเริ่มปี 2544-2551) ต่างกันตามราคาทองคำขณะสมัครเป็นสมาชิกไลฟ์พริวิเลจคลับ

       ถ้าคำนวณว่าคนเราเฉลี่ยจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลในช่วง 3 ปีสุดท้ายก่อนสิ้นอายุขัยประมาณ 1.3 ล้านบาท ก็นับว่าเป็นการซื้อหลักประกันด้านการรักษาพยาบาลที่พอเหมาะพอสม แต่ถ้าคิดอย่างเจ้าของและผู้บริหารก็คงจะมุ่งไปที่ผลกำไร ซึ่งก็จะทำให้หุ้นของโรงพยาบาลได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากราคาหุ้นที่สูงขึ้นย่อมหมายถึงความร่ำรวยที่มากขึ้นของเจ้าของโดยอัตโนมัติ

        ในอดีตเคยได้ยินเรื่องเศรษฐีสั่งเผาตลาดเพื่อไล่ที่จะสร้างศูนย์การค้าใหม่ หรือความใจดำเห็นแก่ได้ของผู้ที่มีอยู่แล้วแต่อยากจะมีอีกมาก ๆไม่สิ้นสุด นึกถึงเจ้านายหลาย ๆพระองค์ที่ทรงเสียสละเพื่อวงการแพทย์ อาจารย์ฝรั่งจากคณะมิชชันนารีที่ทุ่มเทให้ทั้งชีวิตทั้งที่เป็นชาวต่างชาติแท้ ๆ

        คุณหมอคนไทยทั้งหลายที่มาทำโรงพยาบาลกันขณะนี้ จะไม่ให้หลงเหลือความดีงามกันไว้บ้างเชียวหรือครับ

โดย ไพศาล มังกรไชยา