แสวงจุดร่วม-สงวนจุดต่าง

แสวงจุดร่วม-สงวนจุดต่าง


จุดกำเนิดของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) – สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) –สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในยุคสมัย “คืนความสุข”  แม้จะแปลกแยกแตกต่างไปจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในยาม “ปกติสุข”  แต่กลับมี “จุดร่วม” ที่ละม้ายคล้ายคลึงกันอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ…หรือโดยนิสัยสันดานตามธรรมชาติก็ตามที

ปรากฏการณ์ความเหมือนระหว่างสภายุคคืนความสุขกับสภายุคปกติสุข ผ่านการพิสูจน์มาแล้วด้วยข้อมูลจริงอย่างน้อย 2 ประการ

ประการแรก คือความเป็นสภาครอบครัว – เครือญาติ ซึ่งมีหลักฐานเอกสารยืนยันชัดเจน จากบรรดารายชื่อผู้เชี่ยวชาญ-ผู้ชำนาญการ-ผู้ช่วยดำเนินการ ที่มีความสัมพันธ์ฉันท์ครอบครัว..วงศาคณาญาติกับสมาชิกสภา

ประการที่สอง คือความเป็นสภาที่ต่างก็มี “นักโดดร่ม”ปะปนอยู่ แต่แตกต่างกันด้วยจำนวนของนักโดดร่ม และความถี่ของการโดดร่ม

พฤติกรรมของสมาชิกสภายุคคืนความสุข ที่ไปพ้องกับพฤติกรรมของสมาชิกสภายุคปกติสุขเป็นสิ่งที่ก่อเกิดความผิดหวังแก่ชาวบ้านชาวเมืองโดยทั่วไป และเป็นพฤติกรรมที่ไม่น่าจะตอบสนองต่อเจตนารมย์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ในการเร่งรัดผลักดันให้เกิดการปฏิรูปประเทศให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อยภายใต้กรอบเวลาที่จำกัด

แน่นอนว่าชาวบ้านรวมทั้งคสช.ล้วนคาดหวังให้สมาชิกสภายุคคืนความสุข ต้องมีมาตรฐานจริยธรรมที่สูงกว่าสมาชิกสภายุคปกติสุข…ต้องมีสำนึกรับผิดชอบที่มากกว่าสมาชิกสภายุคปกติสุข…และต้องมีวินัย…มีความทุ่มเททำหน้าที่สูงส่งกว่าสมาชิกสภายุคปกติสุข เพื่อส่งมอบความสุขกลับคืนแก่ประชาชนตามคำมั่นสัญญา “ขอเวลาอีกไม่นาน”

สิ่งที่คาดหวังกับความจริงที่ปรากฏดูมันช่างย้อนแย้งสวนทางกันอย่างแรง  ดังตัวอย่างที่กำลังเป็นประเด็นโจทก์ขานวิพากษ์วิจารณ์กัน  กรณีมีสมาชิกสนช.บางคนทำตัวเป็นนักโดดร่ม ซึ่งสมควรต้องสิ้นสภาพขาดจากความเป็นสมาชิก  เพื่อแสดงออกถึงความเป็นผู้มีจริยธรรม…ความเป็นผู้มีสำนึกรับผิดชอบต่อการทำหน้าที่

กระแสสังคมที่ส่งแรงกดดันไปถึงบรรดาสมาชิกสภาที่เป็นนักโดดร่มทั้งหลาย  ดูจะยังไม่มีพลังมากพอที่จะกระตุ้นต่อมสำนึกของท่านนักโดดร่มผู้ทรงเกียรติทั้งหลายให้ทำงาน และยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้กลไกด้านจริยธรรมของสภากระตือรือล้นในการทำหน้าที่

ปฏิกิริยาเฉื่อยชาของทั้งนักโดดร่มกิตติมศักดิ์ รวมทั้งกลไกจริยธรรมของสภาอาจมีสาเหตุมาจากต้นทางการปล่อยข่าว “ด้อยค่า”สมาชิกสภายุคคืนความสุขมาจากเครือข่ายคณะบุคคลที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มขบวนการแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ(นปช.) ก็เป็นได้

ไม่ว่าแหล่งที่มาของรายงานพฤติกรรมการทำหน้าที่แบบ “ไม่เต็มสูบ” ของสมาชิกสนช. หรืออาจจะเป็นสปท.ในอนาคตจะเป็นแนวร่วมหรือแนวต้านรัฐบาลและคสช.ก็ตามที แต่หากหากพิสูจน์ตรวจสอบแล้วเป็น “รายงานแท้” ไม่ใช่ “รายงานเท็จ”  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องเร่งรัด “จัดระเบียบ”โดยเร็ว

ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้เงินภาษีที่จัดสรรจ่ายเป็นค่าตอบแทนแก่สมาชิกสภาเฉลี่ยรายละกว่า 1 แสนบาทในแต่ละเดือนต้องสูญเปล่า พร้อม ๆกับคำมั่นสัญญา “ขอเวลาอีกไม่นาน”ต้องไม่กลายเป็นสัญญาลวง