อะไร่เอ่ยคือวัด?
อะไรเอ่ยคือพระ?
แล้ววัดมีหน้าที่อะไร ?
พระมีหน้าที่อะไร?
วัดแบบ “วัดพระธรรมกาย” ยังถือเป็นวัดอยู่หรือไม่ ?
พระในแบบที่เป็นอยู่ในสังกัดวัดพระธรรมกาย ยังถือเป็นพระอยู่หรือไม่ ?
สารพันคำถามที่ชวนปุจฉา อันเนื่องมาจากข้อมูลข่าวสารมากมายที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย และพระสงฆ์สังกัดวัดพระธรรมกาย เป็นสิ่งที่น่าจะได้มีการตั้งวงสังคายนากันครั้งใหญ่เพื่อการแสวงหาคำวิสัชนาอันจะนำไปสู่การจัดระบบระเบียบพระรวมถึงวัดวาอารามทั้งหลาย ให้เป็นไปด้วยความถูกต้องสอดคล้องกับพระธรรมวินัยแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กลไกไตรภาคีโดยมีราชบัณฑิตยสภา ซึ่งเป็นหน่วยงานขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับมหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ควรต้องถูกจัดตั้งขึ้นโดยเร็วเพื่อทำหน้าที่เร่งด่วนว่าด้วยกรณีวัดพระธรรมกายและพระในสังกัดวัดพระธรรมกาย ควบคู่ไปกับการจัดทำ “พิมพ์เขียว”ว่าด้วยจัดระบบระเบียบพระตลอดจนวัดวาอารามทั้งหลายทั้งปวง แล้วป่าวประกาศให้ชาวบ้านชาวเมืองได้รับรู้โดยทั่วกัน เพื่อจะได้ช่วยกันเป็นหูเป็นตากำกับตรวจสอบไม่ให้พระรวมทั้งบรรดาเห็บเหากาฝากทั้งหลายคบคิดกัน เที่ยวไปสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างแบบเลอะเทอะ โดยอาศัยช่องโหว่กฎหมายที่เปิดทางให้การปลูกสร้างอาคารเพื่อใช้ประโยชน์ทางศาสนา สามารถกระทำได้โดยได้รับการยกเว้นไม่อยู่ภายใต้กฎหมายควบคุมอาคาร
กรณีวัดพระธรรมกายและพระในสังกัดของวัดแห่งนี้ ที่มีพฤติกรรมห้าวเป้งกระทำการต่อต้านขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าพนักงานในการตรวจค้นจับกุมเจ้าสำนักวัดพระธรรมกาย ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหามากมายหลายร้อยคดีเพื่อไปดำเนินคดีตามกฎหมาย เป็นสิ่งที่ควรต้องเร่งหาข้อยุติโดยเร็วที่สุด
ข้อวินิจฉัยที่ควรหยิบยกขึ้นพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนพิเศษเกี่ยวกับวัดพระธรรมกาย และคณะสงฆ์ในสังกัดของวัดแห่งนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเด็น
ประเด็นที่หนึ่ง…วัดแห่งนี้ ซึ่งมีสิ่งปลูกสร้างมหัศจรรย์พันลึกส่อไปในทาง “นอกรีต” มากมาย รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์พิเศษพิสดารอีกหลายต่อหลายรายการ ซึ่งส่อเสียดไปกับการหมกมุ่นมัวเมาในทางโลกมากกว่าทางธรรม ยังควรดำรงสถานะความเป็นวัดและคงไว้ซึ่งวิสุงคามสีมาต่อไปหรือควรสิ้นสถานะความเป็นวัดโดยฉับพลันทันที
ประเด็นที่สอง..คณะสงฆ์ สังกัดวัดแห่งนี้ที่มีพฤติกรรมร่วมกันปกป้องคุ้มครองผู้ต้องหากระทำผิดอาญาแผ่นดิน และต่อต้านขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าพนักงาน สมควรต้องถูกพิจารณาโทษอย่างไร
ประเด็นที่สาม..เจ้าสำนักวัดพระธรรมกาย ซึ่งเป็น “ตัวการ” ของปัญหาทั้งปวงสมควรต้องได้รับการสำเร็จโทษตามหลักแห่งพระธรรมวินัยสถานใด
สงบนิ่งอยู่ท่ามกลางมรสุมความขัดแย้งมานานมากเกินไปแล้ว บัดนี้สมควรที่ราชบัณฑิตยสภาจะได้แสดงบทบาทในการเป็นเจ้าภาพช่วยจัดระเบียบวัดวาอาราม ตลอดจนจนคณะสงฆ์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยโดยเร็ว เพื่อประโยชน์สุขของบ้านเมือง
โดย : ศักดิ์ชัย พฤฒิภัค