ไม่เอาถ่านหินได้หรือไม่ ?

ไม่เอาถ่านหินได้หรือไม่ ?


โรงไฟฟ้าถ่านหินจัดเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนประเภทหนึ่ง หลักการทำงานง่าย ๆก็คือใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงต้มน้ำให้เดือดจนกลายเป็นไอและใช้ไอไปหมุนกังหันปั่นไฟอีกทอด

นอกจากใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ยังสามารถใช้น้ำมันเตา ,น้ำมันดีเซลตลอดจนก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงก็ได้ และโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ก็จัดอยู่ในกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนประเภทหนึ่งด้วยเช่นกัน

โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน จากอดีตจวบจนปัจจุบันคือโรงไฟฟ้าหลักของประเทศไทยและคาดว่าจะต้องเป็นหลักต่อไปในอนาคตอีกยาวไกลมาก ๆ เนื่องจากพลังงานจากน้ำเมื่อไม่สามารถสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ได้ก็จะพึ่งพาไม่ได้อีกต่อไป

ขณะที่พลังงานสะอาดทั้งหลายทั้งจาก แสงแดด ลม และอื่น ๆ ก็ยังจะต้องพัฒนากันอีกยาวนานพอสมควร เปรียบเทียบทางด้านต้นทุนก็จะเริ่มจากพลังงานนิวเคลียร์ถูกที่สุด ถ่านหินอยู่กลาง ๆ และที่แพงกว่าเพื่อนก็คือกลุ่มเชื้อเพลิงจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (เคยคิดว่าเชื้อเพลิงจากขยะหรือแกลบจะถูกกว่าน้ำมัน แต่ในข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นด้วยเหตุผลหลาย ๆประการ)

แรงผลักดันของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (รวมทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนอย่างบริษัทกัลฟ์ฯซึ่งเคยวางแผนตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ่อนอก จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ แต่ถูกต่อต้านจนต้องยุติโครงการ)ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงมีเหตุผลสำคัญก็คือ เรื่องต้นทุนการผลิตที่จะถูกลงกว่าน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติภายใต้การยอมรับข้อเท็จจริงว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังเป็นไปไม่ได้ในขณะนี้

และอีกประการหนึ่งคือเรื่องการกระจายความเสี่ยง เนื่องจากก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยก็จะมีให้ใช้ได้อีกไม่กี่สิบปี แผนความมั่นคงด้านพลังงานจึงกำหนดให้จะต้องมีพลังงานจากเชื้อเพลิงที่หลากหลาย ไม่พึ่งพาน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติมากจนเกินไป ดังเช่นอดีตจวบจนปัจจุบัน

แต่อุปสรรคของอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน  ก็คือความสกปรกที่จะเป็นโทษต่อสภาพแวดล้อม แม้จะชี้แจงว่าเป็นถ่านหินบิทูมินัส (Bituminous) หรือซับบิทูมินัสที่นำเข้าจากอินโดนีเซียหรือออสเตรเลียภายใต้ระบบปิด ตั้งแต่บนเรือจนส่งผ่านท่อไปถึงโรงไฟฟ้าที่อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ไม่มีโอกาสที่จะหกหล่นออกมาภายนอกได้ แต่ผู้ที่ไม่เอาถ่านหินก็ยังยืนยันไม่เอาถ่านหินอยู่นั่นเอง

ขณะนี้ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังการผลิต 2,400 เมกะวัตต์ อยู่ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ใช้ถ่านหินลิกไนท์ (Lignite) ที่ขุดขึ้นมาจากเหมืองถ่านหินติด ๆกับโรงไฟฟ้า เนื่องจากเป็นชนิดของถ่านหินที่คุณภาพต่ำที่สุดจึงสร้างมลภาวะมาก เกิดผลกระทบทั้งสภาพแวดล้อมและสุขอนามัยของชาวบ้านโดยรอบ

ความน่ากลัวของโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงไม่ใช่การเรียนรู้จากต่างประเทศที่เผชิญหายนะรุนแรงกันมาถ้วนหน้าสถานเดียว หากแต่บทเรียนโดยตรงจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปางก็เป็นเรื่องที่ผู้คนยังไม่ลืมจนถึงปัจจุบัน

แม้ต่อมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะได้แก้ไข ด้วยการลงทุนติดตั้งเครื่องดักฝุ่นและเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์ จนได้รับการรับรองว่าสะอาดผ่านมาตรฐานในระดับที่ไม่มีผลที่จะสร้างความเสียหายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแล้วก็ตาม แต่คนที่ไม่เอาถ่านหินก็ยังหวาดระแวงถ่านหินไม่เปลี่ยนแปลง

อันที่จริงถ้าไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะขาดแคลนไฟฟ้าเนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติถึงจะหมดจากอ่าวไทย ก็สามารถนำเข้ามาได้เหมือนที่ต้องนำเข้าถ่านหิน อีกทั้งยังสามารถซื้อไฟฟ้าได้จากลาว (ซึ่งจะสร้างชาติด้วยการขายไฟฟ้าทั้งจากพลังงานน้ำและถ่านหินลิกไนท์ที่คนไทยไปลงทุนให้) หรือประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ทั้งมาเลเซียและเมียนมาร์(ในอนาคต) ที่จะต้องแบกรับก็คือต้นทุนที่จะสูงกว่า หากสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเองแต่ถ้าคิดเสียว่าเป็นการจ่ายเพิ่มเพื่อไม่ต้องรับความเสี่ยงเรื่องผลกระทบต่อสุขอนามัยและสภาพแวดล้อมจากความสกปรกของถ่านหิน ก็น่าจะลองเปรียบเทียบกันดู ว่าจะคุ้มหรือไม่คุ้มหรือไม่อย่างไร

สุดท้ายก็จะมีข้อที่ต้องขบคิดอีก 2 เรื่องใหญ่ด้วย กล่าวคือ

เรื่องแรก การลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลัก มีเหตุผลว่าเพื่อนำต้นทุนที่ลดลงไปอุดหนุนการผลิตไฟฟ้าสะอาด ทั้งโซลาเซลล์ กังหันลมและอีกมาก ตรรกกะคือถ้าลดได้มากก็รับซื้อไฟฟ้าสะอาดได้มาก การพัฒนาก็จะก้าวหน้าด้วยดี แต่ถ้าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าหลักยังสูงก็จะช่วยอุดหนุนได้จำกัด อย่างที่อ้างกันปัจจุบัน เป็นต้น

ส่วนเรื่องที่สอง ก็คือเรื่องความมั่นคงทางด้านไฟฟ้า ซึ่งก็จะเชื่อมโยงกับบทบาทหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นสำคัญ  เวลานี้ประเทศไทยมีผู้ผลิตไฟฟ้าหลักคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่เป็นของรัฐ 100 % กับเอกชนซึ่งใหญ่ที่สุดคือบริษัทกัลฟ์ฯที่เอกชนร่วมลงทุนกับบริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต

รัฐต้องการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีบทบาทหน้าที่อย่างไร อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าในโลกยุคปัจจุบัน

ถ้ามีคำตอบหรือเป็นคำตอบที่ให้ทางเลือกได้ใน 2 เรื่องนี้ เรื่องจะต้องมีหรือไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินก็จะเป็นเรื่องเล็กกว่ามาก

 

   โดย ไพศาล มังกรไชยา