เมืองไทยวันนี้กำลังฉ่ำชื่นรื่นรมย์ในความร่มเย็นเป็นสุขอันเกิดจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงโปรดเกล้าฯสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์และเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกในรัชสมัยรัชกาลที่ 10
“ศีล-สมาธิ-ปัญญา-สามัคคี” คือปฐมธรรมกถาแห่งสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน ที่ประทานแก่ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า โดยทรงเห็นว่าศีล-สมาธิ-ปัญญา-สามัคคีคือองค์ประกอบแห่งหลักชัย 4 ประการที่จะนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง
พระองค์มิได้ทรงปรารภใด ๆถึงปัญหาความแตกแยกแบ่งฝักฝ่ายในหมู่ชนชาวไทย ที่เป็นต้นเหตุทำให้ประเทศติดหล่มจมปลักอยู่เป็นเวลานานหลายต่อหลายปีติดต่อกัน แต่ธรรมกถาบทแรกหลังการได้รับสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช น่าจะเป็นเครื่องเตือนสติ ปลุกกระตุ้นสามัญสำนึกที่อาจถูกปกคลุมไว้ด้วยอวิชชาทั้งหลายให้คืนสู่ความตื่นรู้ และประสานพลังเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ฉุดรั้งประเทศขึ้นจากหล่ม แล้วช่วยกันคนละมือคนละไม้ผลักดันประเทศให้ก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง
การเปล่งวาจาประทานปฐมธรรมกถาแห่ง สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก พระองค์ปัจจุบัน ดูช่างเหมาะเจาะกับกิจกรรมขับเคลื่อนการปรองดองของคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพอย่างยิ่ง
คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง มีความชาญฉลาดในการเลือกฤกษ์งามยามดีวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ในการโหมโรงเปิดเวทีพูดคุยกับพรรคการเมืองทั้งหลาย ด้วยเจตนาที่น่าจะมุ่งหวังในพลังความเชื่อเกี่ยวกับวันแห่งความรัก จะนำไปสู่ความสำเร็จในการสร้างความสามัคคีปรองดองขึ้นภายในชาติได้ในที่สุด
ตารางการพูดคุยกับพรรคการเมืองก็ถูกกำหนดขึ้นอย่างมีหลักมีเกณฑ์เป็นที่น่าเชื่อถือ ไม่ใช่เป็นไปในลักษณะเลือกที่รักมักที่ชังหรือลำเอียงเลือกให้ความสำคัญพรรคการเมืองใหญ่ไว้ในลำดับต้น แต่อาศัยการจัดลำดับตามพยัญชนะต้นของชื่อพรรคการเมืองแต่ละพรรค ไล่ไปตั้งแต่ก.ไก่-ข.ไข่-ค.ควาย……เรื่อยไปจนถึงสุดท้ายคือฮ.นกฮูก
ปฏิกิริยาตอบสนองจากพรรคการเมืองในการร่วมวงพูดคุยสร้างความสามัคคีปรองดอง ก็ดูจะเป็นไปด้วยดี แต่ละพรรคมีการกำหนดตัวผู้แทนที่จะเข้าร่วมวงพูดคุยบนพื้นฐานการให้เกียรติแก่คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองอย่างน่าชื่นชม ไม่ใช่สักแต่ว่าใครก็ได้แค่ให้ความร่วมมือไปส่ง ๆ แบบเสียไม่ได้
โจทย์ใหญ่ของการพูดคุยหนีไม่พ้นที่จะวนเวียนอยู่ในเรื่องราวท่าที วิธีการของการอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคีปรองดองภายหลังการเลือกตั้งเพื่อสังเคราะห์เป็นคำตอบที่ดีที่สุด มีความเป็นไปได้มากที่สุดแล้วจัดทำเป็น “ฉันทามติ” ของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ
หากผลลัพธ์การดำเนินการของคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง เป็นไปด้วยดี เชื่อเหลือเกินว่าจะเป็นอานิสงส์ใหญ่หลวงที่จะช่วยเสริมส่งการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจ ช่วยทำให้บรรยากาศการค้า การลงทุน ตลอดจนความเชื่อมั่นของบรรดาพ่อค้าวาณิช นักธุรกิจ นักลงทุนทั้งหลายสดใสเริงร่าขึ้นทันตา
อย่างไรก็ดีน่าเสียดายอยู่นิดนึงตรงที่คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง อาจจะขาดความเฉลียวในการเลือกใช้สถานที่จัดเวทีพูดคุยเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองเป็นสภากลาโหม ทั้งที่ถ้าเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดเวทีจากเขตทหารห้ามเข้า ไปเป็นเขตอภัยทานอย่างวัดวาอารามหรือสถานที่ที่เป็นเขตปลอดอาวุธ และไม่ใช่เขตทหารห้ามเข้า น่าจะช่วยทำให้บรรยากาศเวทีพูดคุยชื่นมื่นมากยิ่งขึ้น
โดย : ศักดิ์ชัย พฤฒิภัค