นิตยสารชั้นนำ “ดิ อีคอโนมิสต์” เคยตีพิมพ์บทวิเคราะห์เรื่องความขัดแย้งทางการเมืองของไทยว่า เป็นปัญหาความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างคนชั้นกลางระดับบนไปจนถึงคนชั้นบนที่ร่ำรวยฝ่ายหนึ่ง กับอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนระดับกลางล่างจนมาถึงคนชั้นล่างที่ยากจน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคชนบทหรือจะกล่าวว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างคนรวยกับคนจนก็พอจะอนุโลมได้ เข้าใจว่าถ้า “ดิ อีคอโนมิสต์”ศึกษาการเมืองไทยมากขึ้นอีกโอกาสจะหยิบยืมวาทกรรมคำว่า “ไพร่กับอำมาตย์”มาใช้ด้วยก็อาจจะเป็นไปได้
บทวิเคราะห์ของ “ดิ อีคอโนมิสต์”ใช้เรื่องของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP เป็นหลักในการอธิบายรากเหง้าความขัดแย้งทางการเมืองของบ้านเรา โดยเริ่มต้นอธิบายว่ารัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรไม่ว่าจะในนามพรรคไทยรักไทย พลังประชาชนหรือล่าสุดคือพรรคเพื่อไทยนั้น เป็นพรรคที่มีเสียงข้างมากจากคะแนนเสียงประชาชนในภาคอีสานและภาคเหนือ ในขณะที่ฝ่ายค้านซึ่งก็คือพรรคประชาธิปัตย์มีฐานเสียงในกรุงเทพฯและภาคใต้ เป็นเสียงข้างน้อย
แต่เสียงข้างน้อยเป็นผู้สร้าง GDP กว่า 60 เปอร์เซนต์จาก 100 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ทั้งประเทศ ขณะที่เสียงส่วนใหญ่เป็นเจ้าของ GDP 30 เปอร์เซ็นต์เศษ ๆ
และหากพิจารณาจากประเด็นตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทยเป็นต้นมา รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเข้าสู่พื้นที่ฐานคะแนนเสียงเพิ่มจากประมาณ 16 เปอร์เซนต์เป็น 27 เปอร์เซนต์
“ดิ อีคอโนมิสต์” สรุปว่าถ้าจะอธิบายว่าทำไมคนภาคอีสานกับภาคเหนือยังคงมีความนิยมในตัวอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณรวมถึงพรรคการเมืองของเขาอย่างไม่เสื่อมคลาย และทำไมคนกรุงเทพฯกับคนภาคใต้ที่เป็นประชากรจำนวนน้อยกว่าไม่มีความนิยมหรือถึงขั้นเกลียดชังนั้น ก็น่าจะอธิบายได้ด้วยเรื่องราวข้างต้นนี้เอง
มีอีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า เป็นความขัดแย้งระหว่างแนวคิดอนุรักษ์นิยมกับแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย
แนวคิดเรื่องเสรีนิยมประชาธิปไตยนั้นเชื่อว่ามนุษย์มีความเท่าเทียมกัน สามารถอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาคได้ภายใต้สิ่งที่เรียกว่าสัญญาประชาคม นักคิดกลุ่มนี้ที่มีชื่อเสียงก็เช่นจอห์น ล็อค และมองเตสกิเออร์เป็นต้น อุดมการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของชาวอาณานิคม จนนำไปสู่การสถาปนาประเทศสหรัฐอเมริกาและต่อมาคือการปฏิวัติฝรั่งเศส และกลายเป็นแม่บทของการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนในยุคปัจจุบัน
ขณะที่แนวคิดหรืออุดมการณ์อนุรักษ์นิยมเกิดขึ้นหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งแรก ยุคทลายคุกบาสตีลโค่นล้มการปกครองระบอบกษัตริย์ซึ่งเกิดความสับสนวุ่นวาย และมีเหตุการณ์นองเลือดติดตามมามากมาย จนประเทศฝรั่งเศสต้องเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับไปกลับมาระหว่างระบอบกษัตริย์กับระบอบสาธารณรัฐหลายครั้ง แนวคิดนี้จึงคัดค้านการปฏิวัติและไม่เชื่อว่ามนุษย์จะเท่าเทียมกันได้ด้วยภูมิหลังทางสังคม การศึกษาและอีกหลาย ๆ ปัจจัย
ที่สำคัญแนวคิดนี้ต่อต้านการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เริ่มต้นในยุโรป กลุ่มขุนนางและเจ้าที่ดินซึ่งยึดครองความมั่งคั่งมายาวนาน ก่อนจะเกิดชนชั้นนายทุนจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมจึงเป็นฐานกำลังหลักของฝ่ายอนุรักษ์นิยม
ปัจจุบันแนวคิดทั้งเสรีนิยมประชาธิปไตยและอนุรักษ์นิยมมีพัฒนาการไปอย่างมาก โดยเฉพาะในยุโรปทั้งสองอุดมการณ์มีข้อสรุปตรงกันว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน และปวงชนเป็นผู้เลือกรวมทั้งไล่รัฐบาลผ่านการเลือกตั้ง แต่ก็ยังมีฝ่ายอนุรักษ์นิยมในส่วนอื่น ๆของโลกที่ยังเห็นว่าการเลือกตั้งไม่ได้ให้หลักประกันว่าจะได้รัฐบาลที่ดีเสมอไป กระบวนการเข้าสู่อำนาจจึงยังไม่เกิดเสถียรภาพ สามารถเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาระหว่างรัฐบาลจากการเลือกตั้งกับรัฐบาลที่เกิดจากการยึดอำนาจ
ในช่วงใกล้ ๆ นี้บ้านเรามีการถกเถียงกันมากเรื่องการปรองดอง เหตุผลก็เพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองก่อนที่จะกลับเข้าสู่ถนนสายเลือกตั้งกันอีกครั้งไม่เกินปี 2561 สิ่งนี้น่าจะสะท้อนว่าความขัดแย้งทางการเมืองของไทยในรอบล่าสุดนี้ ทั้งไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งทางชนชั้นและความขัดแย้งอุดมการณ์ทางการเมือง หากแต่เป็นความขัดแย้งในหมู่นักการเมืองหรือให้กว้างมากขึ้นก็คือบรรดาชนชั้นนำในสังคมทั้งหลาย ตัวละครประกอบด้วยใครกับใครหรือสีไหนกับสีไหนก็คงจะพอทราบๆกัน
แต่จะบอกว่าปัญหาเรื่องชนชั้นหรือความเลื่อมล้ำ ตลอดจนเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองไม่เกี่ยวเลยก็คงไม่ใช่ ทั้งสองเรื่องเป็นเหมือนปัญหาพื้นฐานและได้ถูกคู่ขัดแย้งทางการเมืองกระพือโหมจนเกิดไฟลุกโชนขึ้นตลอดกว่า 10 ปีนี้ต่างหาก การสร้างความปรองดองกันอีกครั้งระหว่างชนชั้นนำที่เป็นคู่ขัดแย้งว่าไปแล้วย่อมไม่ต่างจากการดึงท่อนฝืนออกจากกองไฟ แต่ในอนาคตก็อาจจะมีการโยนฟืนกลับเข้ามาได้อีก หากมีใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการโหมเปลวเพลิงกันอีกครั้ง
ดังนั้นถ้าจะแก้ให้เกิดความยั่งยืน ก็ต้องแก้ที่ตัวปัญหาพื้นฐานเรื่องความแตกต่างอุดมการณ์ทางการเมือง บทเรียนจากทั้งโลกบอกว่าต้องปล่อยให้ค่อย ๆ เรียนรู้และพัฒนา เวลาเท่านั้นที่จะช่วยคลี่คลายความคิดผิด ๆ
แต่ที่จะต้องใส่ใจแก้ไขกันอย่างสุดความสามารถ ก็เรื่องความแตกต่างทางชนชั้นในสังคมไทยนี่แหละ คงไม่ถึงกับดึงทุกคนลงมาจนเหมือน ๆกันหรือทำให้รวยพอ ๆกัน แต่ถ้าทำให้คนไทยกลุ่มใหญ่ที่สุดคือคนชั้นกลางจะมีคนรวยล้นฟ้าสักหยิบมือหรือจนไม่ลืมหูลืมตาบ้างนิดหน่อยพอ ๆกับบรรดามหาเศรษฐี ใครจะแย่งอำนาจทางการเมืองกัน ประชาชนคงรู้เท่าทันแน่นอน
โดย ไพศาล มังกรไชยา