ถือธงคนละผืน-สร้างดาวคนละดวง

ถือธงคนละผืน-สร้างดาวคนละดวง


ปฏิกิริยาคนสื่อในนาม 30 องค์กรวิชาชีพที่ชุมนุมแสดงจุดยืนคัดค้านร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านสื่อมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เมื่อไม่กี่วันก่อน อุปมาอุปไมยเหมือนต่างฝ่ายต่างถือธงคนละผืน ต่างฝ่ายต่างมุ่งมั่นสร้างดาวกันคนละดวง หลังจากที่ต่างฝ่ายต่างสงวนท่าทีแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมานานเต็มทน

ประเด็นหลักที่ผลักให้คนสื่อตัดสินใจหย่าขาด ตัดเยื่อใยไม่ร่วมสังฆกรรมกับคณะกรรมาธิการชุดที่ว่านี้  น่าจะอยู่ที่บทบาท-อำนาจ-หน้าที่และโครงสร้างกลไกคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งยากยิ่งที่จะทำใจยอมรับได้

ไส้ในของคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ จำนวน 13 คน ภายใต้ร่างกฎหมายฉบับเจ้าปัญหา กำหนดให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี-ปลัดกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม-ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม-ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ร่วมกับกรรมการอื่นๆอีก 9 คน ที่มาจากผู้แทนสภาวิชาชีพสื่อมวลชน จำนวน 5 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ-นักวิชาการ-ผู้แทนภาคประชาชน รวมกันอีก 4 คน

สาระสำคัญของบทบาท-อำนาจ-หน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมาย ก็ดูจะหนักหนาสาหัสไปในทางควบคุม มากกว่ามุ่งเน้นกำกับดูแลจัดระบบระเบียบ เพื่อการคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ

ยังไงก็ตามการกำกับดูแลและจัดระเบียบสื่อ ยังเป็นสิ่งจำเป็น ควรผลักดันให้เกิดขึ้น และมีผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง แต่มีเงื่อนไขนิดเดียวคือต้องไม่คุกคามสิทธิเสรีภาพการทำงานของคนสื่อ

ใครก็ตามที่กำลังพยายามทำคลอดกฎหมายจัดระเบียบสื่อ พึงต้องเข้าใจการทำหน้าที่ของคนสื่อ ซึ่งมีลักษณะคาบลูกคาบดอกระหว่างผลประโยชน์ธุรกิจ-ผลประโยชน์ส่วนตัว-ผลประโยชน์สาธารณะหรือผลประโยชน์ชาติ

หัวใจของกฎหมายจึงควรต้องมุ่งเน้นไปเพื่อการกำกับพฤติกรรมสื่อในอยู่ในครรลองที่ถูกต้อง ดีงาม โดยเล็งประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง เคียงคู่ไปกับเจตนารมย์ที่มุ่งส่งเสริมคุณภาพและประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของคนสื่อเป็นสำคัญ

ยิ่งไปกว่านั้นในสาระของกฎหมายที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น ก็ควรต้องนิยามความหมายของสื่อให้ชัดเจนว่าครอบคลุมกว้างแคบแค่ไหนเพียงใด

จะกวาดเรียบตั้งแต่สิ่งพิมพ์ / วิทยุ / ทีวี /ภาพยนตร์ / ดนตรี / โทรศัพท์เคลื่อนที่ / อินเตอร์เน็ท เรื่อยไปจนถึงสื่อที่จะงอกเงยขึ้นในอนาคตหรือไม่

เพื่อป้องกันไม่ให้การออกกฎหมายกำกับดูแลจัดระเบียบสื่อ มีลักษณะผ่าเหล่าผ่ากอ สวนกระแสสากล จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านสื่อมวลชนฯ จะได้ใส่ใจศึกษาเปรียบเทียบหลักการกฎหมายในการกำกับดูแลสื่อที่ใช้กันอยู่ในอารยประเทศอย่างอังกฤษ / นอร์เวย์ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา

ที่อังกฤษ มีกลไกกระบวนการในการกำกับดูแลสื่อ ได้แก่ Press Regconition Panel และ Independent Predd Standards Organization

ที่นอร์เวย์มีกลไก Norwegian Media Authority ทำหน้าที่กำกับดูแล และมีกฎหมาย Media Ownership Act / Broadcasting Act / Editorial Independence Act เป็นเครื่องมือ  ขณะที่สหรัฐอเมริกา มีกลไกที่เรียกว่า Federal Communications Commission (FCC) ทำหน้าที่กำกับดูแล

ถ้าศึกษาแล้ว ยังงุนงงชงไม่ถูก ก็อยากแนะนำให้ไปปัดฝุ่นนำเอาพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ.2542 และ พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 มาประยุกต์ใช้ก็น่าจะไม่เลว และเชื่อว่าน่าจะอยู่ในวิสัยที่พอจะยอมรับกันได้