ย้ำนักวิจัยลงหอคอยนำทัพ ร่วมเคลื่อน Thailand 4.0

ย้ำนักวิจัยลงหอคอยนำทัพ ร่วมเคลื่อน Thailand 4.0


ทั้งนี้การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจดังกล่าว เราจำเป็นที่จะต้องสร้างคนก่อนแล้วจึงนำไปสู่เรื่องของการทำมาหากิน เช่นการทำอย่างไรให้เกษตรกรไทยเป็นเกษตรกรยุคใหม่ที่เป็นทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการ คนรุ่นใหม่ที่จะเป็นสตาร์ทอัพจะต้องแปลงความคิดเป็นมูลค่าทางธุรกิจได้ ดังนั้นจึงสร้างคน วิสาหกิจโดยใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้

             สำหรับทุกวันนี้ประเทศไทยยังติดอยู่ในกับดักบางประการ  และโจทย์ของรัฐบาลคือทำอย่างไรที่เราจะเดินหน้าไปด้วยกันได้ ดังนั้นจึงต้องมีการกระจายตัวของโอกาส รายได้ และอำนาจจากกรุงเทพฯไปสู่จังหวัดต่าง ๆ เกิดกลุ่มจังหวัดและจังหวัดที่มีการกระจายความเจริญทั่วประเทศ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว สามารถทำงานในถิ่นฐานบ้านเกิดได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่

             ขณะเดียวกันการทำวิจัยเพื่อขับเคลื่อนไปสู่จุดหมายของประเทศ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนใน 4 ทิศทางคือ 1.การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายใน 2.การผลิตสินค้าเชิงนวัตกรรม 3.การเน้นทุนมนุษย์และเทคโนโลยี และ 4.การกระจายความมั่นคั่งและโอกาส ด้วยการพัฒนาที่สมดุลตามหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง มีรากแก้วของตัวเองและฉลาดพอที่จะรู้ว่าอยู่ในระบบนิเวศที่สมดุลใน 4 มิติ

             ในส่วนของยุทธศาสตร์และนโยบายระดับบัญชาการ 10 ประการ ได้แก่ 1.เตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21  2.สร้างวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม 3.พัฒนาเกษตร อุตสาหกรรมและภาคบริการเป้าหมาย 4.เสริมความเข้มแข็งผ่าน 18 กลุ่มจังหวัด และ 76 จังหวัด 5.เชื่อมประเทศไทยสู่ประชาคมโลก 6.กลไกการบริหารจัดการ 7.โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ 8.โครงสร้างพื้นฐานเชิงเครือข่าย 9.โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา และ 10.โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนทำเป็นโจทย์วิจัยได้ซึ่งเราจะขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้าได้จำเป็นต้องมีโรดแมป ใช้ทั้งองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิมและการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ในอนาคตให้สามารถตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 และเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 โดยการปฏิรูปการศึกษาเพื่อเตรียมคนไทย สร้างโปรแกรมพัฒนาทักษะอาชีพ มาตรการสนับสนุนยุทธศาสตร์ Refill และReform 1.0-2.0

              อย่างไรก็ตามสำหรับการเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ที่ได้กล่าวมานั้น จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่ที่นักวิจัย ต่อไปนี้นักวิจัยจะไม่อยู่บนหอคอยงาช้างแต่ต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรม สร้างผลงานวิจัยที่จะต้องตอบโจทย์การทำมาหากินและรายได้ของประเทศ เน้นการวิจัยและพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์มากขึ้น ขณะที่แต่ละมหาวิทยาลัยต้องบูรณาการจับมือกันและไม่ผูกขาดการวิจัยในมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีส่วนร่วมกับชุมชนในพื้นที่ กระจายอำนาจการวิจัยสู่การสร้างศูนย์รวมด้านเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ ดังนั้นนักวิจัยทุกคนจึงเป็นแม่ทัพสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้าในทุกมิติ