p.p1 {margin: 0.0px 0.0px 12.0px 0.0px; text-align: justify; text-indent: 42.5px; line-height: 19.0px; font: 16.0px ‘Angsana New’; -webkit-text-stroke: #000000}
p.p2 {margin: 0.0px 0.0px 12.0px 0.0px; text-align: justify; text-indent: 42.5px; line-height: 18.0px; font: 16.0px ‘Angsana New’; -webkit-text-stroke: #000000}
p.p3 {margin: 0.0px 0.0px 6.0px 0.0px; text-align: justify; text-indent: 42.5px; line-height: 17.0px; font: 16.0px ‘Angsana New’; -webkit-text-stroke: #000000}
p.p4 {margin: 0.0px 0.0px 12.0px 0.0px; text-align: justify; text-indent: 42.5px; line-height: 17.0px; font: 16.0px ‘Angsana New’; -webkit-text-stroke: #000000}
span.s1 {font-kerning: none}
นางอภิรดีฯกล่าวต่อไปว่า นโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวโน้มที่เน้นการปฏิรูปและไม่สนับสนุนการเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งจะทำให้ทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯมีความแตกต่างจากรัฐบาลชุดก่อนค่อนข้างชัดเจน โดยเน้นให้ความสำคัญกับการเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศ (โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนผ่านมาตรการภาษี) เน้นนโยบายปกป้องการค้าของสหรัฐฯ มีความชัดเจนที่จะปฏิเสธผู้ลี้ภัยต่างชาติและแรงงานต่างชาติและลดความสำคัญลงสำหรับประเด็นสิ่งแวดล้อม สำหรับนโยบายต่างประเทศมีแนวโน้มที่จะทบทวนความสัมพันธ์และการให้ความช่วยเหลือ แก่ประเทศพันธมิตรใหม่ อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นความเป็นไปได้ของนโยบายเหล่านี้ว่า จะสามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจและเกิดความผันผวนในระยะสั้นได้
ผลกระทบระยะสั้นคาดว่า จะมีผลกระทบในตลาดเงินตลาดทุนอย่างชัดเจนแต่ภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) คงไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยตลาดเงินตลาดทุนคงได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน เช่นเดียวกันกับผลกระทบจากกรณี Brexit ที่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกผันผวน ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่า ตลาดหุ้นตกอย่างมาก อย่างไรก็ตามคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลกโดยรวมน่าจะยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ดังนั้นการส่งออกของไทยในช่วง ที่เหลือยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ตามการคาดการณ์
สำหรับในปีต่อไปนั้น ไทยคงต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านต่าง ๆ ของสหรัฐฯที่อาจจะเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงและไม่แน่นอนที่อาจมีขึ้นในเศรษฐกิจโลก ที่อาจส่งผลด้านต่าง ๆเช่น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯจะมีขึ้นหรือไม่ ราคาน้ำมันจะขึ้นตามที่คาดไว้หรืออาจจะเกิดการผันผวนอย่างมาก ธนาคารกลางสหรัฐฯจะปรับดอกเบี้ยขึ้นตามที่คาดหรือไม่ฯลฯ ซึ่งความผันผวนเหล่านี้จะส่งผลต่อการส่งออกและการค้าระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวน และราคาสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ผลกระทบจากนโยบายลดภาษียังต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์ของ IMF (ร้อยละ 2.2 และร้อยละ 3.4 ตามลำดับ) โดยภาพรวมแล้วจะทำให้การส่งออกของไทยในปี 2560 มีความเสี่ยงและท้าทายมากขึ้น เพื่อที่จะกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ปี
ผลกระทบระยะยาวด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศ นายโดนัลด์ ทรัมป์มีแนวโน้มคัดค้าน TPP อย่างชัดเจน แต่คาดว่าจะมีการเจรจาการค้าฉบับใหม่ที่มีลักษณะปกป้องผลประโยชน์พลเรือนอเมริกันมากขึ้น ซึ่งอาจนำมาสู่การขยายแนวความคิดด้านชาตินิยมและไม่ให้ความสำคัญกับการค้าเสรีไปสู่ประเทศต่าง ๆซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวปริมาณการค้าโลก ในประเด็นนี้ไทยก็พร้อมจะพิจารณาสานความสัมพันธ์ทางการค้าผ่านเวทีอื่นๆเพื่อเป็นทางเลือก
ด้านนโยบายการคลัง ความไม่สอดคล้องกันระหว่างการลดภาษีภายในประเทศเพื่อกระตุ้นการลงทุนผนวกกับแนวโน้มการกีดกันการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เมื่อรวมกับผลกระทบจากต้นทุนทางการเงิน และหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นอาจนำไปสู่ความยุ่งยากในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯอย่างมีนัยสำคัญได้ นอกจากนั้นนโยบายปรับลดภาษีนิติบุคคล เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงานในประเทศ ในขณะที่มีการปกป้องการค้าจากประเทศอื่น ๆเพิ่มขึ้น น่าจะทำให้การลงทุนของสหรัฐฯในต่างประเทศยังอยู่ในระดับปกติ (เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้) โดยเฉพาะประเทศ/กลุ่มคู่ค้าที่มีศักยภาพสูง ส่วนเศรษฐกิจโลก ความผันผวนและนโยบายกีดกัน อาจทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าคาดการณ์เดิม ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน และจะมีความซับซ้อนจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่นายทรัมป์อาจจะประกาศต่อไป
นางอภิรดีฯ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการส่งออกไทย ว่าการส่งออกจะมีความเสี่ยงมากขึ้นเนื่องจากปัจจุบันสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย (ถ้าไม่นับอาเซียน 10 ประเทศรวมกัน) โดยในปี 2558 ไทยมีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ 24,055 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.2 ของมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งหมด โดยมีสินค้าสำคัญ อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องนุ่มห่ม รวมทั้งอาหารทะเลและผลไม้กระป๋องแปรรูป ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 51.4 ของการส่งออกไทยไปสหรัฐฯทั้งหมด ดังนั้น หากสหรัฐฯ มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าในทิศทางที่มีการกีดกันมากขึ้น ประกอบกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกโดยรวม จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการส่งออกของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ค่อนข้างมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง จึงมั่นใจว่าผลกระทบต่อเราจะไม่รุนแรงมากนัก แต่อยากให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายเล็กเตรียมปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นไว้ โดยเฉพาะที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยน
ในด้านการเจรจาการค้ากับประเทศอื่น ๆ อาจจะมีโอกาสที่จะปรับตัวดีขึ้นเพื่อชดเชยการค้าที่ลดลงกับสหรัฐฯ ในขณะที่การลงทุนโดยตรงจากสหรัฐฯ ในไทย ในระยะนี้อาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากนัก เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนและมีศักยภาพในการขยายตัวในเกณฑ์ดี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเป็นระยะๆอย่างต่อเนื่อง
ท้ายสุดกระทรวงพาณิชย์ก็ขอยินดีกับว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ ภายใต้นโยบายใหม่ ๆ ซึ่งไม่ว่าใครจะได้รับการคัดเลือกจากประชาชนให้เข้ามาเป็นผู้นำสหรัฐฯ รัฐบาลไทยก็ยินดีและพร้อมจะทำงานด้วยทุกคน เพื่อประโยชน์ของประชาชนของทั้งสองประเทศ
p.p1 {margin: 0.0px 0.0px 0.0px 0.0px; font: 11.0px Helvetica; -webkit-text-stroke: #000000}
p.p2 {margin: 0.0px 0.0px 0.0px 0.0px; font: 11.0px Helvetica; -webkit-text-stroke: #000000; min-height: 13.0px}
span.s1 {font-kerning: none}