“ลุงตู่”ยก “ภูเก็ต” นำร่อง Super Cluster อันดามัน

“ลุงตู่”ยก “ภูเก็ต” นำร่อง Super Cluster อันดามัน


ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึง เรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศด้านการนำเทคโนโลยีมาใช้ และการจัดตั้ง 10 จังหวัด Smart city และกลุ่มจังหวัดคลัสเตอร์  

          ทั้งนี้เรื่องของการจัดตั้ง 10 จังหวัด Smart City  โดยอาศัยความแตกต่างและจุดเด่นของจังหวัดที่มีความพร้อม ตัวอย่างเช่น จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัด Smart City นำร่อง โดยจ.ภูเก็ต มีความพร้อมในด้านอาหาร ซึ่งได้รับการการจัดอันดับเมืองอาหารดีเด่นจาก องค์กรยูเนสโก ( UNESCO) มีสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมมาท่องเที่ยว รวมไปถึงเรื่องของการใช้เทคโนโลยีซึ่งมีมากในพื้นที่ ดังนั้นจ.ภูเก็ตจึงได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 2 จังหวัด Super Cluster รวมทั้งจ.เชียงใหม่ ขณะที่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ถือว่ามีศักยภาพที่จะสามารถขับเคลื่อนเป็น Smart City ได้อีกจังหวัดหนึ่ง โดยรัฐบาลจะคัดเลือกจังหวัดที่มีความพร้อมเพื่อจัดตั้งเป็นจังหวัด Smart City นำร่องให้ได้ 10 จังหวัด ก่อนที่จะขยายผลไปในจังหวัดที่เหลือทั่วประเทศ 

           สำหรับการจัดตั้งจังหวัด Smart City จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ โดยอาศัยการขับเคลื่อนด้วยกลไกประชารัฐ และจะให้เป็นไปตามกรอบ ของ Thailand 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล  โดยที่จะต้องมีการทำงานอย่างบูรณาการ น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ฯมาปรับใช้ 

            ในส่วนของการดำเนินการดังกล่าว จะสอดคล้องไปกับเรื่องของการดำเนินการของรัฐบาลตามนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบคลัสเตอร์  ซึ่งจะมีทั้งในส่วนของคลัสเตอร์ด้านอาหาร ด้านการท่องเที่ยว ด้านอุตสาหกรรม โดยจะต้องดูศักยภาพของแต่ละจังหวัดว่าเป็นอย่างไร

ขณะเดียวกันรัฐบาลยังได้ตั้งเป้าหมายของโครงการไว้ที่การก้าวสู่การเป็น “เมืองอัจฉริยะ 7 มิติ” ได้แก่ มิติเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม สุขอนามัย การศึกษา และ ธรรมาภิบาล  โดยมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นเจ้าภาพหลักในการบูรณาการแผนปฏิบัติการทั้งหมด

         อย่างไรก็ตามในส่วนของจ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องนั้น รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นแกนกลางในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในกลุ่มจังหวัดอันดามัน 5 จังหวัด คือ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ และตรัง โดยมีการเชื่อมโยงด้วย Logistic ทั้งหมด และมีเส้นทาง “อันดามัน โรแมนติก โรด” ระยะทาง 40 กิโลเมตร มีเส้นทางจักรยานอีก 30 กิโลเมตร เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว และโครงการ เมือง “สปาเค็ม”  หาก 2 โครงการที่กล่าวมาสามรถทำได้ จะสามารถเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว จาก 40 ล้านบาทต่อปีในปัจจุบันเป็น 2,500 ล้านบาทต่อปี 

       ส่วนอีกโครงการหนึ่งคือ การยกระดับเส้นทางเชื่อมโยงท่องเที่ยวอันดามัน เป็น 4 ช่องทางจราจร เช่นเส้นทางสาย 4 เพชรเกษม ช่วงระนอง – ตะกั่วป่า – เขาหลัก ระยะทางประมาณ 270 กิโลเมตร และสาย 4027 อีก 13 กิโลเมตร เป็นโครงข่ายคมนาคมสายหลัก ซึ่งสามารถสนับสนุนการท่องเที่ยวที่รองรับคนที่เข้ามามากขึ้น ลดปัญหาการจราจรภายในเมือง และเป็นเส้นทางเชื่อมโยง การขนส่ง ภาคการเกษตร เชื่อมโยงอ่าวไทย – อันดามัน ซึ่งจะต้องมีการขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป