รัฐบาลได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน Internet ทุกหมู่บ้าน ให้ทุกคนเข้าถึงองค์ความรู้ในทุกสาขาวิชาชีพ รองรับแนวทางการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” สร้าง “Smart Farmer” ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยภาคการเกษตร ลงทุนฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “Agri Map” เพื่อการบริหารจัดการเกษตรเชิงรุก ซึ่งจะประกอบไปด้วยข้อมูลด้านเกษตรกรรมทั้งเรื่องน้ำ ดิน พืช ประมง การตลาด โลจิสติกส์ และข้อมูลประกอบอื่น ๆที่สำคัญ เช่น ขอบเขตการปกครอง การใช้ประโยชน์ที่ดิน ทะเบียนเกษตรกร เป็นต้น
ด้านแรงงานทุกคนต้องพัฒนาให้มีทักษะมากขึ้น เชี่ยวชาญในวิชาชีพมากขึ้น ใช้ความรู้สมัยใหม่ เพื่อรองรับกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิจิทัล จัดทำ“ฐานข้อมูลแรงงาน”เพื่อให้การผลิตแรงงาน สอดคล้องกับความต้องการตลาดแรงงาน เช่นเดียวกับผู้ประกอบการ SMEs รัฐบาลจะส่งเสริมพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันเป็น “Smart Enterprise หรือ Smart Star-up” ให้สอดคล้องกับ “ไมโครคลัสเตอร์” ในระดับจังหวัด เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งจากท้องถิ่นตามนโยบาย “แผนพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัด 4.0” ผ่านกลไกประชารัฐเชิงพื้นที่ เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในการสร้าง “คนไทย 4.0”
ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนครั้งที่ 2 ประจำปี 2559 ได้รับรายงานว่ามีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2559 จำนวน 504 โครงการ เพิ่มขึ้น 80 % คิดเป็นมูลค่าเกือบ 230,000 ล้านบาท ถือว่าเพิ่มขึ้น 410 % เมื่อเทียบกับห้วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยร้อยละ 40 เป็นการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นโอกาสในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนไทย เราจึงต้องเตรียมความพร้อมในการที่จะเป็น “คนไทย 4.0”
ปัจจุบันรัฐบาลกำลังทำยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาในระยะยาว โดยร่วมมือกันทั้งสถาบันของรัฐ เอกชน ของสถาบันการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรม ยกตัวอย่างการเพิ่มมูลค่าจาก “รำข้าว” แปรรูปเป็นน้ำมันรำข้าว + เครื่องสำอางค์ + อาหารเพื่อสุขภาพ + สารเคลือบผลไม้ ซึ่งจะสามารถเพิ่มมูลค่ารำข้าวจากเดิมที่มีมูลค่าเพียง 6,000 ล้านบาท เป็น 26,000 ล้านบาท (หรือมากกว่า 4 เท่า) เป็นต้น รวมถึงการสร้างความสมดุลในการทำเกษตรกรรมให้สอดคล้องกับดีมานด์และซัพพลาย
กรณีประเด็นทางสังคมนั้น อยากให้ทุกคนทำความเข้าใจว่าบ้านเมืองกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตยเพราะฉะนั้นเราต้องรักษาความสงบเรียบร้อยให้มากที่สุด สำหรับประเทศไทยในการที่จะเดินไปข้างหน้า เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ซึ่งทั้ง 3 ฝ่ายนี้ต้องบูรณาการร่วมกันให้ได้ เพื่อจะดูแลการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย มีความปลอดภัย ประชาชนมีความสุขและเป็นไปตามที่ทุกคนต้องการ