เรื่องต่อมาแสดงความยินดีกับ คุณมณเฑียร บุญตัน ผู้พิการทางสายตาแต่กำเนิด ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติอีกสมัยหนึ่ง(วาระ 4 ปี พ.ศ. 2560 – 2563) โดยขอให้คุณมณเฑียรฯปฏิบัติหน้าที่เพื่อผู้พิการของไทยและของโลกด้วยความภูมิใจในหน้าที่ตำแหน่งที่ได้รับมอบ ซึ่งรัฐบาลพร้อมจะให้การสนับสนุนบทบาทของนายมณเฑียรฯ ให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ต่อไป
ที่ผ่านมาในส่วนของรัฐบาลได้มีการผลักดันมาตรการต่างๆ และปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ได้แก่ 1. การเข้าถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ทั้งทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป 2. การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมทางกายภาพ การคมนาคม ขนส่ง ข้อมูลข่าวสาร และบริการสาธารณะ 3. การยอมรับความเท่าเทียมทางกฎหมาย ความเสมอภาคทางการศึกษา ด้านสุขภาพและการทำงาน และ 4. การขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ ซึ่งทรัพยากรบุคคลเหล่านี้ทรงคุณค่าที่สุดของประเทศชาติ หากได้รับการส่งเสริมในแนวทางที่ถูกต้อง เหมาะสมแล้ว ก็จะเป็น “พลัง ไม่ใช่ภาระของสังคม”
นอกจากนี้เมื่อวันพุธ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมาได้เดินทางไปติดตามความคืบหน้าการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อให้สามารถรองรับการขยายตัวทางการคมนาคมขนส่งในอนาคต เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพภายในประเทศ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อเศรษฐกิจมหภาค ระดับชาติ ระดับภูมิภาค โดยเฉพาะการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย โดยได้ปรับปรุงและพัฒนาศักยภาพท่าอากาศยานอู่ตะเภา ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคมเสนอมา ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาของมหาวิทยาลัย
1. กิจกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance, Repair and Overhaul: MRO) ซึ่งจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ของท่าอากาศยาน ไม่ต้องเสียเวลาและงบประมาณ ส่งเครื่องบินไปซ่อมในต่างประเทศ เพราะเราพร้อม ทั้งเรื่องการร่วมทุน นักลงทุนของไทยอยู่ การขยายการซ่อมเครื่องบินไปทุกสายการบิน
2. กิจกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (Original Equipment Manufacturing: OEM)
3. การยกระดับท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 ของประเทศ นอกเหนือจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง ด้วยการใช้ประโยชน์สูงสุดตอบสนองต่อภารกิจ 2 ด้านอย่างสมดุล ภายใต้แนวคิด “One Airport Two Missions” ทั้งภารกิจด้านความมั่นคงและเชิงพาณิชย์
โดยมีแผนการดำเนินงาน 3 ระยะ 13 ปี ประกอบไปด้วย การพัฒนาโรงซ่อมอากาศยาน โรงงาน โรงซ่อมเครื่องยนต์ และการเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารเป็น 3 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2561 และ 5 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2563 เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก เชื่อมโยงกันไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเพื่อรองรับการใช้งานสนามบินที่มีการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศและในภูมิภาคนี้ที่มีแนวโน้มขยายตัวขึ้นทุกวัน
ขณะเดียวกันจะต้อง “คิดให้ครบวงจร และทำคู่ขานกันไป” กับอีก 2 เรื่อง ได้แก่ 1. การพัฒนาระบบรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าความเร็วปานกลาง – สูง ให้รองรับการสัญจรของประชาชน นักท่องเที่ยว และสินค้า ในอนาคตด้วย โดยได้พิจารณาให้เพิ่ม แอร์พอร์ต เรลลิ้งค์ เพื่อเชื่อมโยงทั้ง 3 สนามบินได้ ให้เกิดการเชื่อมต่อการเดินทางจากภาคตะวันออก ภาคกลาง และเชื่อมการเดินทางไปภาคใต้ ของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติในอนาคต และ 2. การพัฒนาหลักสูตรและศูนย์การฝึกอบรม เพื่อรองรับอุตสาหกรรมอากาศยาน
สำหรับการลงพื้นที่เพื่อตรวจราชการในจังหวัดระยองเพื่อติดตามการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก 3 จังหวัด ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามนโยบายรัฐบาล โดยการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจังหวัดระยองนั้นเป็นจังหวัดที่มีรายได้สูงสุดของประเทศ โดยมี GDP ต่อหัวเป็นอันดับ1 ประมาณ 1 ล้านบาทต่อคนต่อปี
รวมทั้งได้เดินทางไปพบปะกับประชาชนในพื้นที่ อ.บ้านฉาง เพื่อรับฟังความคิดเห็น และได้ชมนิทรรศการความร่วมมือของสมาคม บริษัท ห้างร้าน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหน่วยราชการ ตามแนวทาง “ประชารัฐ” ในการช่วยเหลือสังคมตามแนวคิด “วิสาหกิจชุมชน (Social Enterprise)” ในลักษณะ “สมาคมเพื่อนชุมชน” โดยตนได้แนะนำให้สร้างมูลค่าเพิ่ม ให้มีการออกแบบแพ็คเกจที่สวยงาม ทันสมัย น่าสนใจ มีรสชาติอร่อยเหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิม เพิ่มด้วยการสร้างเรื่องราวให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ ที่เรียกว่าการสร้าง “Story” เพี่อสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ร้านค้า วัตถุดิบในประเทศ ตลอดจนเสริมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
สำหรับอีกโครงการสำคัญ คือ โครงการปลูกปะการังเขากวาง บนแปลงท่อ PVC ซึ่งจะใช้เป็นฐานยึดกิ่งปะการัง เลียนแบบลักษณะธรรมชาติ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งรับรายงานว่ามีผลงานวิจัยอื่นๆ อย่างน้อย 2 ผลงานที่น่าสนใจ ได้แก่ การเพาะขยายพันธุ์ปะการัง แบบอาศัยเพศ ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และการขยายพันธุ์ปะการังเขากวางแบบย้ายปลูก ด้วยอุปกรณ์เรือนแหวน ซึ่งเป็นผลงานวิจัยรางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษา ในการประชุมวิชาการด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ปี 2558 โดย สสวท.ขอให้หน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องได้พิจารณานำไปขยายผล
สำหรับเรื่องสุดท้าย คือ เรื่องความสำเร็จของประเทศในการบรรลุตามเป้าหมายองค์การอนามัยโลกในเรื่องของการยุติการถ่ายทอดเชื้อ เอช ไอ วีและซิฟิลิส จากแม่สู่ลูกต่ำกว่าร้อยละ 2 เป็นประเทศแรกของเอเชียและเป็นประเทศที่ 2 ของโลก โดย 4 องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การอนามัยโลก โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ และศูนย์ความร่วมมือไทย – สหรัฐ ด้านสาธารณสุข ได้เข้าพบเพื่อแสดงความยินดีในโอกาสที่ประเทศไทยของเรา ได้รับมอบ “เกียรติบัตร” ดังกล่าวจากองค์การอนามัยโลก
สำหรับความสำเร็จดังกล่าวนั้นเป็นโครงการในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อแม่และเด็กที่ติดเชื้อ เอช ไอ วี เพื่อช่วยเหลือทั้งคนไทยและแรงงานต่างชาติ ในการแลกเปลี่ยนทักษะและประสบการณ์และการดำเนินงานด้านเอดส์ในมิติต่างๆ
นอกจากนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขยังได้ตั้งเป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ ภายในปี 2573 โดยไทยจะต้องเป็นประเทศต้นแบบในความสำเร็จในงานด้าน เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดการติดเชื้อเอดส์รายใหม่ ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคเอดส์ และลดการตีตรา และการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากสถานการณ์ติดเชื้อเอชไอวี
ทั้งนี้รัฐบาลไทยได้มุ่งมั่นและเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในกำหนดงานด้านสาธารสุข การอนามัยและการควบคุมโรค โดยได้บรรจุไว้ในกรอบแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายใต้แนวทางการแก้ปัญหาอย่างครอบคลุมและรอบด้าน