ลุ้นคลอดกม. !! เปิด‘เว็บไซต์’ต้องวางเงินประกันความเสี่ยง

ลุ้นคลอดกม. !! เปิด‘เว็บไซต์’ต้องวางเงินประกันความเสี่ยง


ผู้บริหารร้านอาหารชื่อดังที่ลงโฆษณาผ่าน Ensogo ยอมรับกับสำนักข่าว THAIQUOTE ว่าพยายามติดต่อเข้าไปยังออฟฟิศของเอ็นโซโก้เพื่อขอความชัดเจน
เนื่องจากมีลูกค้าหลายรายจ่ายเงินซื้อกิ๊ฟวอชเชอร์กับเอ็นโซโก้ไว้แล้ว และต้องการนำกิ๊ฟวอชเชอร์มาใช้บริการแต่ทางร้านยังไม่ได้รับเงินจากเอ็นโซโก้
จึงยังไม่สามารถให้บริการได้ เช่นเดียวกับผู้บริหารโรงแรมชื่อดังในพัทยาที่กล่าวว่าแม้กิ๊ฟวอชเชอร์ที่ขายผ่านเอ็นโซโก้จะมีเพียงแค่
4 ใบ แต่ก็ยังไม่สามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของเอ็นโซโก้ได้ จึงต้องระงับการให้บริการลูกค้าที่ซื้อบริการผ่านเอ็นโซโก้

ด้านสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์กรมหาชน)หรือ
สพธอ. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ชี้แจงว่า
การประกาศขายสินค้าหรือบริการผ่านเอ็นโซโก้เป็นธุรกรรมระหว่างเจ้าของสินค้าหรือบริการกับผู้บริโภคโดยตรง
เอ็นโซโก้ทำหน้าที่เป็นเพียงสื่อกลางหรือตัวแทนในการโฆษณาสินค้าและบริการเท่านั้น
ดังนั้นธุรกรรมที่เกิดขึ้นผ่านช่องทางของเอ็นโซโก้จึงถือว่า
สมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว เจ้าของสินค้าหรือบริการไม่สามารถอ้างการปิดตัวของเอ็นโซโก้เพื่อไม่ให้บริการหรือส่งมอบสินค้าแก่ผู้บริโภคได้
ส่วนเงินที่ยังค้างจ่ายเจ้าของสินค้าหรือบริการจะต้องไปเรียกเก็บจากเอ็นโซโก้โดยตรง
สรุปคือเจ้าของสินค้าหรือบริการไม่สามารถปฏิเสธการใช้คูปองหรือให้บริการแก่ผู้บริโภคที่ซื้อดีลนั้นๆ
ได้

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์
หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)
กล่าวว่าเอ็นโซโก้เป็นเว็บไซต์ขายตรงที่จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
(สคบ.) เพราะฉะนั้น สคบ.ต้องออกมาทำหน้าที่ดูแลคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค หากเอ็นโซโก้มีเจตนาหลอกลวงหรือฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา
343 ผู้บริโภคสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้
โดยผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายสามารถรวมตัวกันและร้องเรียนโดยตรงได้ที่สคบ.
หรือส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อให้ทำหน้าที่ฟ้องร้องแทน โดยควรเตรียมเอกสาร
หลักฐานการซื้อขายมาประกอบการร้องเรียนด้วย

เช่นเดียวกับ นายไพโรจน์ คนึงทรัพย์
รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า สคบ.
มีแนวทางในการดำเนินการคือ 1.ออกหนังสือเรียกกรรมการผู้จัดการบริษัทมาสอบถามถึงกรณีดังกล่าวและการเยียวยาลูกค้า
หากไม่มาพบจะทำหนังสือยกเลิกการจดทะเบียนพาณิชย์ของบริษัท  
2. พิจารณาการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฉ้อโกงหรือไม่เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
3. ทำหนังสือไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
(ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางธุรกิจตามกฎหมายฟอกเงิน
4. หากผู้บริโภคถูกปฏิเสธการให้บริการขอให้ติดต่อสคบ.เพื่อสคบ.จะรวบรวมจำนวนผู้เสียหาย
และมูลค่าความเสียหายทั้งหมด ดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทต่อไป

ด้านนายณัชภัทร ขาวแก้ว นิติกรชำนาญการ
กองคุ้มครองผู้บริโภคธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง  สคบ. กล่าวกับสำนักข่าว
THAIQUOTE ว่า ถ้าผู้บริหารของเอ็นโซโก้ยินยอมรับผิดชอบย้อนหลังก็ไม่มีปัญหา
แต่ถ้าไม่รับผิดชอบและส่อเจตนาไปในทางฉ้อโกงจะเข้าข่ายความผิดตามพรบ.ขายตรงและตลาดแบบตรง
พ.ศ.2545 ซึ่งระบุโทษความผิดจำคุก 3-5 ปี อย่างไรก็ตาม
ต้องพิจารณาประกอบกับกฎหมายฉบับอื่นๆด้วย

ส่วนกรณีที่มีผู้เสนอให้ผู้ที่จะทำการเปิดเว็บไซต์ลักษณะนี้ในอนาคตควรมีการวางเงินค้ำประกันความเสี่ยงหรือตัดเปอร์เซ็นต์การขายเข้าเป็นเงินกองทุนสำหรับชดใช้ให้กับผู้เสียหายหากเกิดปัญหาทางธุรกิจ
เราได้มีการนำเสนอแนวคิดดังกล่าวแล้ว โดยกำหนดว่าผู้ที่จะให้บริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ควรมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำเท่าไหร่
เช่น 5-10 ล้านบาท และควรมีเงินประกันส่วนหนึ่งสำหรับชดเชยความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตมีการเลิกกิจการโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายก็คืนเงินจำนวนดังกล่าวไป
ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา                 คำถามคือมาตรการติดตามกลุ่มเอ็นโซโก้มารับผิดชอบจะสัมฤทธิ์ผลแค่ไหน
เพราะรายงานข่าวว่าเอ็นโซโก้ประเทศต่าง ๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ปิดตัวลงพร้อมกัน
คงถึงเวลาต้องสังคายนากฎหมายอีคอมเมิร์ซครั้งใหญ่เสียแล้ว

ที่มา :  thaiquote