“สมคิด”กดปุ่ม “ยุทธศาสตร์ประชารัฐเคลื่อนศก.อีสาน”

“สมคิด”กดปุ่ม “ยุทธศาสตร์ประชารัฐเคลื่อนศก.อีสาน”


 “เราต้องใช้โอกาสที่หลายคนมองว่าเป็นวิกฤตให้เป็นโอกาสของประเทศ เพราะไม่มีช่วงจังหวะไหนจะเหมาะสมไปกว่าโอกาสนี้สำหรับการปฏิรูปประเทศ” ใจความสำคัญตอนหนึ่งที่ดร.สมคิดเคยกล่าวปาฐกถาเอาไว้ และจากจุดดังกล่าวนี่เองที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศ หลาย ๆ มาตรการที่ออกมาล้วนแล้วเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับเรื่องของเศรษฐกิจฐานรากกับแนวทางประชารัฐที่รัฐบาลมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการผลักดันสู่ทุกภาคส่วนของประเทศ ทั้งพื้นที่ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรืออีสาน ภาคตะวันออก

 สำหรับพื้นที่ในภาคอีสาน ถือเป็นพื้นที่สำคัญไม่ต่างจากพื้นที่อื่น ๆของประเทศ โดยเฉพาะกับเรื่องของการค้าการขายที่ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน และเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ขอยกกรณีการงานจัดสัมมนาที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ในหัวข้อการบูรณาการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคอีสานตอนบน เพื่อระดมความคิดเห็นในการบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจพัฒนา จังหวัดมุกดาหาร นครพนม หนองคาย

           ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า นับเป็นความโชคดีอีกอย่างที่ประเทศไทยได้ประกาศชัดเจน เกี่ยวกับการประกาศพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน จึงเป็นโอกาสทองนับแต่นี้ไปที่จะแปรจุดอ่อนของอีสานให้เป็นจุดแข็ง และแปรจุดแข็งเป็นอันดับหนึ่งของโลกให้ได้ เพราะมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว อยู่ทั้ง 3 จังหวัด คือจังหวัดมุกดาหาร นครพนม หนองคาย เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญจากโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกเชื่อมโยงไว้แล้ว

 ถึงบรรทัดนี้คงพอเห็นภาพแล้วว่า ทำใมรัฐบาลถึงให้ความสำคัญกับพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับงานสัมมนาครั้งสำคัญที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 9 พ.ค.นี้ ณ โรงแรมเซ็นทาราโฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จ.ขอนแก่น กับงานที่ชื่อว่า สัมมนา เปิดยุทธศาสตร์ประชารัฐกับการขับเคลื่อนอีสานทศวรรษใหม่” (ปฏิรูปภาคการเกษตร สร้างเศรษฐกิจฐานรากอีสาน) ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า โดยการสัมมนาจะมีตลอดทั้งวัน ภาคเช้าที่ถือเป็นไฮไลท์สำคัญนั่นคือ การขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในหัวข้อ อนาคตประเทศไทย อนาคตเศรษฐกิจอีสาน” นอกจากนี้ยังจะมีการจัดกลุ่มเสวนาในหัวข้อ การขับเคลื่อนประชารัฐกับการพัฒนาเศรษฐกิจอีสาน” ซึ่งจะมีตัวแทนหน่วยงานสำคัญ ๆที่เข้าร่วมวงเสาวนาอาทิ  นายธวัชชัย เฮงประเสริฐ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่จะมาพูดถึงเรื่องการจัดโซนนิ่งพื้นที่การเกษตร / การใช้นวัตกรรมจากงานวิจัยเพื่อการพัฒนาสินค้าเกษตร หรือจะเป็น รศ.ดร.กฤตพล สมมาตย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่จะมาพูดถึงเรื่อง ประชารัฐโคเนื้ออีสาน 3 พันล.สู่ AEC ฯลฯ 

 ขณะที่ในช่วงบ่ายเป็นการเสวนาที่น่าสนใจในหัวข้อเรื่อง ประชารัฐ / ปฏิรูปภาคการเกษตรสร้างเศรษฐกิจฐานรากอีสาน” ซึ่งจะมีวิทยากรที่น่าสนใจหลายท่านด้วยกันอาทิ นายลักษณ์ วจนานวัช กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร จะพูดในหัวข้อ หนึ่ง SMEs เกษตรหนึ่งตำบลและการปรับสร้างสร้างการผลิตการเกษตรนายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ จะพูดเรื่องการเร่งรัดจัดทำโครงการเพิ่มความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ฯลฯ  

ทางด้าน นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า เปิดเผยกับ สำนักข่าว Thai quote” ว่า งานสัมมนาเปิดยุทธศาสตร์ประชารัฐขับเคลื่อนอีสานทศวรรษใหม่ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ภาคอีสาน โดยมูลนิธิฯได้ดำเนินงานภาคสังคมมาตั้งแต่ 8 ปีก่อนในจังหวัดขอนแก่น มีโครงการหลัก ๆที่ประสบความสำเร็จ อาทิ การผลักดันให้เกิดปฏิญญาลดโลกร้อนในจังหวัดขอนแก่นเป็นแห่งแรกในภูมิภาค ฯลฯ การร่วมภาคีกับรัฐบาลในครั้งนี้ถือเป็นการขับเคลื่อนที่ครบวงจร ซึ่งประกอบด้วยรัฐ เอกชน ประชาชน สื่อมวลชน นักวิชาการ จึงอยากชักชวนให้คนอีสานมาวางอนาคตร่วมกันว่าจะเดินไปทางไหน อย่างไร

 โดยการจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก ซึ่งจะจัดทั้งหมด 7 ครั้งด้วยกัน สำหรับวันเปิดงานได้รับเกียรติจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์  รองนายกรัฐมนตรีมากล่าวปาฐกถาพิเศษ พูดถึงนโยบายการพัฒนาภาคอีสานปัญหาอุปสรรคแนวทางแก้ไขงบประมาณแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจพื้นฐานของแต่ละพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างพื้นฐานภาคเกษตร โดยมีหน่วยงานต่าง ๆเข้ามาร่วมคือ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน สถาบันพัฒนาชุมชน ธกส สภาเกษตรแห่งชาติ หอการค้า สภาอุตสาหกรรมภาคอีสาน ซึ่งทุกหน่วยงานจะมีคนของตัวเองประมาณ 100 คนมาร่วมเป็นกรรมการในการขับเคลื่อน

ท่านรองนายกฯสมคิดจะมาพูดถึงความชัดเจนในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของอีสาน เช่น โครงการ 1 เอสเอ็มอี 1 ตำบล มีอะไรติดขัดตรงไหนจะช่วยแก้ไขให้ในทันที การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว แม้กระทั่งการเข้าสู่เออีซีซึ่งจะเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว เวียดนาม กัมพูชา เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอีสานอย่างครบวงจร” นายเจริญลักษณ์กล่าว

และนี่คือเรื่องราวดี ๆที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคอีสาน ดินแดนที่กำลังก้าวสู่ความรุ่งโรจน์ และได้รับการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางประชารัฐโดยการขับเคลื่อนจากรองนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน