แน่นอนว่าคอนเซ็ปต์การทำงานของ
“รมช.กระทรวงพาณิชย์” นั้นให้ความสำคัญกับคนและ นวัตกรรมเป็นสำคัญ
ดังที่เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยที่สำคัญนั้น มีหัวใจอยู่
3 เรื่องสำคัญคือ เรื่องแรกการยกระดับและปฏิรูปการศึกษา
เรื่องที่สองวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
และเรื่องสุดท้ายการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า
นอกจากนี้ดร.สุวิทย์ยังชี้ให้เห็นว่าบริษัทใหญ่ระดับโลกในรอบ
10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 2
เท่าตัวจากเดิมมีอยู่ 40,000 บริษัทกลายเป็น 80,000
บริษัท ขณะที่แบรนด์ไทยในระดับโลกยังคงมีแค่ 2–3 รายเท่าเดิม พร้อมกันนี้ยังระบุถึงโมเดลการทำธุรกิจของเกาหลีใต้ที่ตอนนี้ก้าวไปสู่ธุรกิจยุค
3.0 ที่เน้นเรื่องของนวัตกรรมสีเขียว (green
innovation) และนวัตกรรมการสื่อสารแบบเชื่อมโยง (convergence
technology) แล้วผลิตออกมาเป็นสินค้า
ถ้าเมืองไทยยังคงเน้นการส่งเสริมการทำธุรกิจแบบเดิม ๆ
มูลค่าการลงทุนก็มีแต่จะหดหายไปเรื่อย ๆ
“เราต้องส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างนวัตกรรมใหม่
ๆและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมมีความคิดในระดับโลก”
รมช.กระทรวงพาณิชย์กล่าว
นโยบายส่งเสริมการลงของบีโอไอนับจากนี้จึงไม่ใช่การส่งเสริมให้ใครก็ได้เข้ามาลงทุน
หรือหอบกระเป๋าใบเดียวเข้ามาลงทุนได้เลย แต่ต้องเป็นอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรม
และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี
เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และมีการเติบโตอย่างยั่งยืน
ขณะที่มุมมองจากนักลงทุน
โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในเมืองไทย มีการลงทุนหลายหมื่นล้านบาทต่อปี
การขยับตัวของกลุ่มทุนญี่ปุ่นถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกับคำถามที่ดังออกมาอย่างต่อเนื่องว่าวันนี้กลุ่มทุนญี่ปุ่นเตรียมย้ายฐานการผลิตออกจากไทยจริงหรือ
เรื่องนี้ มร.ชิโระ ชะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยกล่าวว่า ญี่ปุ่นมีความคุ้นเคยกับระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจในเมืองไทยเป็นอย่างดี
จึงไม่มีความกังวลใด ๆ นักลงทุนญี่ปุ่นยังเชื่อมั่นและต้องการลงทุนในเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง
สอดคล้องกับ
เจน
นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวกับ ‘Thaiquote’ ว่าเรื่องการย้ายฐานการผลิตของญี่ปุ่นออกจากเมืองไทยไม่เป็นความจริง
โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญอย่างชิ้นส่วนยานยนต์และการผลิตรถยนต์ เนื่องจากไทยยังมีความได้เปรียบประเทศอื่นในอาเซียนหลายอย่าง
ทั้งแรงงานฝีมือ สาธารณูปโภคพื้นฐาน ความสะดวกสบายต่าง ๆ
ในขณะที่การย้ายฐานการลงทุนไปในประเทศอื่นเท่ากับว่าต้องไปเริ่มต้นใหม่
ซึ่งเป็นเรื่องที่ลำบากมาก
“ความแข็งแรงของระบบการลงทุนบ้านเรา ไม่ใช่มาจากการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเท่านั้นแต่เป็นเพราะซัพพอร์ตอินดัสตรีของเราแข็งแกร่ง
ผู้ประกอบการชิ้นส่วนอุตสาหกรรมรายย่อยที่ผลิตชิ้นส่วนให้กับโรงงานประกอบรถยนต์มีคุณภาพ
คุณจะไปหาโรงงานแบบนี้ในประเทศอื่นใช้เวลากี่ปี
เพราะฉะนั้นญี่ปุ่นจึงยังใช้คำว่าไทยแลนด์พลัสวัน คือมั่นใจฐานการผลิตในเมืองไทย
การย้ายฐานที่พูดกันจึงไม่เป็นเรื่องจริง อาจมีบ้างประปราย
หรือไม่ก็เป็นการขยายฐานการผลิตมากกว่า” รองประธาน ส.อ.ท. กล่าว