3 แสนล. กุญแจไขประตูสู่การพัฒนาประเทศ

3 แสนล. กุญแจไขประตูสู่การพัฒนาประเทศ


นายอภิศักดิ์
ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงทิศทางของเม็ดเงินก้อนนี้ว่า
รัฐบาลไม่ได้คิดที่จะเอามาทั้งหมด 3 แสนล้านบาท ถ้ามีการนำมาใช้แค่ 30%
ถือว่าดีมากแล้ว ซึ่งการนำมาใช้นั้นต้องมีการแก้ระเบียบของกระทรวงมหาดไทย
เพราะมีระเบียบในการล็อกเงินจำนวนนี้ไว้เหตุกลัวจะนำเงินไปใช้สุรุ่ยสุร่าย ทั้งนี้การนำเงินดังกล่าวมาใช้นั้นให้ท้องถิ่นนำไปใช้ลงทุนในโครงการของท้องถิ่นเอง
เพราะตรงนี้เป็นเงินของท้องถิ่น ไม่ได้ดึงมาเป็นเงินของส่วนกลาง

แน่นอนว่าจุดเริ่มต้นในการปลดล็อกเพื่อใช้เม็ดเงินดังกล่าว
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าจะถูกนำลงไปพัฒนาท้องถิ่นนั้น ๆไม่ต่างจากจุดประสงค์เดิม
เพียงแต่ทำให้การนำเอาเม็ดเงินออกมาใช้เป็นไปอย่างมีประโยชน์
และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ส่วนประเด็นการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นจะกระตุ้นอย่างไร
เริ่มต้นจาก
โครงการประชารัฐที่รัฐบาลได้เดินหน้าไปก่อนหน้านี้
การมีเม็ดเงินจากท้องถิ่นจำนวนกว่า 3 แสนล้านจะเป็นกลจักรสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้การเดินหน้าของโครงการประชารัฐ
เป็นไปได้ง่ายและได้ผลรวดเร็วมากยิ่งขึ้นและส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้ผ่านกระทรวงหน่วยงานต่าง
ๆ เพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินหน้าสู่เป้าหมายได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

 

                อย่างไรก็ตาม “THAI
QUOTE” ได้รับข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยว กระทรวงอุตสาหกรรม
กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงไอซีที ที่เป็นข้อมูลในเชิงลึก โดยบ่งชี้ถึงปลายทางของเม็ดเงินกว่า
3 แสนล้านบาท ว่าจะถูกนำไปใช้ในส่วนใดบ้าง

โดยในส่วนของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ
มองภาพในเรื่องของการสร้างฐานการท่องเที่ยวชุมชน
เม็ดเงินดังกล่าวจะถูกนำไปใช้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน
ในกรอบการดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวในส่วนของกระทรวงฯ

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์
และกระทรวงอุตสาหกรรม ก็จะเน้นการสร้างรากฐานการค้าชุมชน สร้างผลผลิต ส่งเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจในชุมชน
โดยเฉพาะการพัฒนาส่งเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจ
SMEs ในพื้นที่เพื่อสร้างงานสร้างรายได้
กลายมาเป็นเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็ง เป็นไปในแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นนโยบายของรัฐบาลโดยตรง

ในส่วนกระทรวงวิทยาศาสตร์
และกระทรวงไอซีที กับการส่งเสริมสร้างนวัตกรรมด้านต่าง ๆ ให้กับชุมชน
ขณะที่กระทรวงไอซีที เร่งสร้างโครงข่ายระบบโทรคมนาคม อาทิ สัญญาณไวไฟ ในแต่ละตำบล
รวมถึงการเชื่อมโยงฐานข้อมูลแบบออนไลน์
เพื่อสร้างเสริมศักยภาพในการแข่งขันให้กับท้องถิ่นทั่วประเทศ

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าเม็ดเงินกว่า
3 แสนล้านจากท้องถิ่นที่กำลังจะถูกนำมาใช้ในภารกิจครั้งนี้เป็นไปตามแนวทางยุทธศาสตร์และนโยบายที่มีที่มาที่ไป
และมีเป้าหมายของใช้เงินอย่างเป็นระบบ หักกลบลบข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง
ถังแตกที่กลายเป็นเพียงการสร้างกระแสเกิดผลในทางลบ
และอาจเป็นการมองที่ไม่สร้างสรรค์
และไม่เป็นธรรมต่อแนวคิดการนำเอาเงินก้อนนี้มาใช้

ทางด้าน
นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
(อบจ.) เชียงใหม่ ในฐานะนายกสมาคมอบจ.แห่งประเทศไทย
กล่าวว่าสนับสนุนนโยบายดังกล่าวเพราะท้องถิ่นรู้ปัญหา ความต้องการชุมชน
โดยเฉพาะการส่งเสริมท่องเที่ยวระดับตำบล แต่ขอเป็นนโยบายที่เป็นไปได้
ปฏิบัติได้จริง มีระเบียบกระทรวงมหาดไทยรองรับ
และเบิกจ่ายเงินสะสมได้โดยไม่ผิดระเบียบ หรือผิดกฎหมายสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
(สตง.) เชื่อว่าทุกท้องถิ่นพร้อมอย่างเต็มที่

ทั้งนี้สมาคมอบจ.แห่งประเทศไทยได้นัดหมายรองนายกฯสมคิดเพื่อหารือเรื่องการกระจายอำนาจ
บทบาทหน้าที่ โครงสร้างท้องถิ่น การเงินการคลัง รวมทั้งการพัฒนาแหล่งเที่ยวของท้องถิ่นในสัปดาห์หน้า
เชื่อว่าจะมีข้อสรุปและทิศทางการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม

ผลสรุปปลายทางของเม็ดเงินเมื่อลงถึงท้องถิ่นทั่วประเทศ
จะกลายเป็นพลังในการขับเคลื่อนสร้างงาน สร้างรายได้ และพัฒนาชุมชนต่าง ๆทั่วประเทศได้อย่างทั่วถึงและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
 แต่สิ่งสำคัญที่จะลืมไม่ได้ก็คือการเข้าสู่
AEC
ในวันนี้ไม่เพียงแต่ส่วนกลาง ตลอดจนท้องถิ่นทั่วประเทศต้องมีความพร้อมในการเสริมสร้างศักยภาพต่าง
ๆ เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้เม็ดเงินกว่า 3 แสนล้านบาทที่ถูกนำออกมาใช้จะเป็นกุญแจสำคัญในการไขบานประตูสู่การพัฒนา
และการเติมเต็มศักยภาพของท้องถิ่นไทยในครั้งนี้